เนลสัน มันเดลา

การเดินทางอันยาวไกลของ เนลสัน มันเดลา

การเดินทางอันยาวไกลของ เนลสัน มันเดลา

หากเราเกิดเป็นคนผิวดำในประเทศแอฟริกาใต้ในช่วงปี ค.ศ 1948 – 1992 ต่อไปนี้คือสิ่งที่เราจะได้พบ

เราจะไม่สามารถใช้บริการในร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ชายหาด ห้องน้ำ หรือแม้แต่ม้านั่งในสวนสาธารณะ ฯลฯ ในเขตเมือง เพราะจะมีป้ายของทางราชการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “สถานที่และสาธารณูปโภคเหล่านี้สงวนไว้สำหรับคนขาวเท่านั้น”

เราไม่อาจอยู่ในบ้านหลังเดิมของเราได้ หากทางราชการประกาศว่าบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในเขตที่พักอาศัยของคนผิวขาว

หากเป็นเด็ก ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า เราจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใช้แรงงาน เพราะมีเด็กผิวดำเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่จะเรียนจบการศึกษาภาคบังคับ

คนผิวดำ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศแอฟริกาใต้ต้องจำใจยอมรับสภาพอันแสนกดขี่เช่นนี้ เนื่องจากรัฐบาลที่นำโดยพรรค National Party ได้นำนโยบายแบ่งแยกสีผิว (Apartheid) มาเป็นนโยบายหลักในการบริหารประเทศ เพื่อปกป้องสิทธิทางการเมืองของพลเมืองผิวขาวที่มีจำนวนน้อยกว่า จนนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบและการทำร้ายจิตใจพลเมืองผิวดำอย่างไร้ซึ่งความยุติธรรมและน่าประหวั่นพรั่นพรึงเป็นที่สุด ที่สำคัญ การกระทำดังกล่าวมีกฎหมายรองรับอย่างถูกต้องเสียด้วย!

เนลสัน มันเดลา (Nelson Mandela) คือผู้ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านกับความอยุติธรรมเหล่านี้ และสามารถทำได้สำเร็จ แม้จะต้องสละความสุขส่วนตัวเกือบทั้งชีวิต ปัจจุบันชาวแอฟริกันจึงเรียกขานมันเดลาอย่างให้เกียรติว่า มาดิบา (Madiba)

เนลสัน มันเดลา

เนลสัน มันเดลา มีชื่อจริงว่า โรลีห์ลาห์ลา มันเดลา (Rolihlahla Mandela) ชื่อ เนลสัน เป็นชื่อที่ครูคนหนึ่งตั้งให้ เพราะรู้สึกว่าชื่อจริงเรียกยากเกินไป มาดิบาสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เทมบู (Thembu) ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ปกครองแคว้นทรานส์คีย์ (Transkei) ทางภาคตะวันออกของแอฟริกาใต้ แต่ได้ถูกลิดรอนอำนาจลงในช่วงจักรวรรดินิยม เขาเกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1918 ในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อว่า ควูนู (Qunu)

มาดิบาได้เข้าร่วมการรณรงค์เพื่อต่อต้านนโยบายแบ่งแยกสีผิวอย่างเต็มตัวตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เขาเคยร่วมประท้วงนโยบายที่ไม่เป็นธรรมของมหาวิทยาลัยจนถูกไล่ออก ต่อมาในปี ค.ศ. 1941 มาดิบาได้เดินทางไปยังเมืองโจฮันเนสเบิร์ก เพราะต้องการหลบหนีการแต่งงานแบบคลุมถุงชน ที่นี่เขาได้พบกับ วอลเตอร์ ซิซูลู (Walter Sisulu) และได้ทำงานในบริษัทกฎหมายของซิซูลูพร้อมๆ กับเรียนหนังสือหลักสูตรทางไกลไปด้วย กระทั่งสามารถเรียนจบปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ จาก University of South Africa

เนลสัน มันเดลา

ในปี ค.ศ. 1944 มาดิบาและเพื่อนรวม 60 คนได้ก่อตั้งกลุ่ม African National Congress Youth League หรือ ANCYL เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของสมัชชาแอฟริกันแห่งชาติ (African National Congress – ANC) ที่ทำงานคัดง้างกับรัฐบาลมาตลอด

ในปี ค.ศ. 1952 มาดิบาและ โอลิเวอร์ แทมโบ (Oliver Tambo) ผู้เป็นทั้งเพื่อนรักและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ได้ก่อตั้งสำนักงานทนายความขึ้นเพื่อรับว่าความให้คนผิวดำในราคาต่ำหรือไม่คิดเงิน ในปีเดียวกันนั้นเอง ด้วยความเฉลียวฉลาดและความโดดเด่นเฉพาะตัว มาดิบาได้รับเลือกให้เป็น หัวหน้าโครงการรณรงค์เพื่อต่อต้านนโยบายแบ่งแยกสีผิว ที่ ANC จัดขึ้น ซึ่งกระแสที่เกิดขึ้นจากการรณรงค์ครั้งนี้ทำให้มาดิบากลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

เนลสัน มันเดลา

ตลอดช่วงทศวรรษ 1950 มาดิบาและเพื่อนถูกจับกุม สอบสวนและจำคุกหลายครั้ง แต่เมื่อคดีขึ้นสู่ชั้นศาล เขาจะพ้นผิดทุกครั้ง อาจเป็นเพราะศาลพิจารณาว่าไม่มีการใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาลได้ทำการกวาดล้างประชาชนผิวดำที่มาชุมนุมประท้วงการขับไล่ที่ที่เมืองชาร์ปวิลล์ (Sharpeville) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1961 มีผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 69 คน มาดิบาก็ได้สร้างกองกำลังใต้ดิน ชื่อว่า Umkhonto we Sizwe หรือ MK ขึ้น โดยจะลอบวางระเบิดสถานที่สำคัญๆ เพื่อกดดันรัฐบาล

การทำงานของ MK ทำให้ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องเสียชีวิต มาดิบาในฐานะผู้นำสูงสุดของ MK ถูกนานาชาติประณามว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งเขาได้ยอมรับสารภาพต่อข้อหานี้ในการไต่สวนในปี ค.ศ. 1964 โดยให้เหตุผลว่า “จากการปราบปรามที่ทวีความรุนแรงขึ้นของรัฐบาล หากเอเอ็นซีไม่ใช้วิธีนี้ก็เท่ากับการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข”

ศาลพิพากษาให้มาดิบาและเพื่อนรับโทษจำคุกตลอดชีวิต และแม้ว่าเขาจะเคยพูดอย่างติดตลกว่า “ในประเทศของผม เราต้องเข้าคุกก่อน แล้วจึงค่อยมาเป็นประธานาธิบดี” แต่ชีวิตนักโทษของเขากลับไม่ได้มีสิ่งใดน่าขำแม้แต่น้อย ทั้งนี้เพราะนโยบายเหยียดสีผิวได้ติดตามมาดิบามาถึงในเรือนจำด้วย นักโทษทางการเมืองซึ่งเป็นคนผิวดำจะได้รับการปฏิบัติที่เลวร้ายกว่านักโทษผิวสีหรือนักโทษชาวอินเดียมาก เช่น ไม่ได้รับอนุญาตให้รับประทานขนมปัง ด้วยเหตุผลที่ว่า ขนมปังเป็นอาหารแบบยุโรป มาดิบาต้องทำงานสกัดหินอยู่กลางแจ้งวันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่สูงวัยมากแล้ว

เนลสัน มันเดลา

อย่างไรก็ตาม ยังมีช่วงเวลาที่มาดิบาชอบมากขณะอยู่ที่นี่ นั่นคือเวลาเช้า ซึ่งพัศดีจะปล่อยให้นักโทษทำความสะอาดกระโถนของตัวเอง เพราะมาดิบาจะมีโอกาสสอบถามข่าวคราวจากนักโทษคนอื่นๆ ส่วนสถานที่ที่มาดิบาชอบเป็นพิเศษก็คือ บริเวณใกล้กับที่ทิ้งขยะ เพราะมักจะได้รู้ข่าวสารจากหนังสือพิมพ์เก่า ๆ ที่นี่ นอกจากนี้ ANC จะส่ง คนแฝงตัวเข้ามาในเรือนจำเสมอ ทำให้มาดิบายังสามารถสั่งการ ANC ได้เป็นระยะๆ

วันเวลาอันทุกข์ยากเช่นนี้ดำเนินไปราวกับจะไม่มีวันสิ้นสุด อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป นานาชาติก็หันมากดดันรัฐบาลแอฟริกาใต้ให้เลิกล้มนโยบายแบ่งแยกสีผิว นอกจากนี้ยังมีชาวแอฟริกันผิวขาวราวร้อยละ 20 ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งนับวันคนกลุ่มนี้จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หลังจากการเจรจาระหว่างมาดิบาและรัฐบาลหลายต่อหลายครั้ง ในที่สุดมาดิบาก็ได้รับการปล่อยตัวอย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1990 หลังจากนั้นจึงได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ให้สิทธิคนผิวดำในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

เนลสัน มันเดลา

มาดิบาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของแอฟริกาใต้ ระหว่างปี 1994 – 1999 เขาได้สะสางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมหลายฉบับ และเดินสายเยือนประเทศต่างๆ เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ แต่การกระชับความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดก็คือ การรวมใจชาวแอฟริกันทั้งผิวดำและผิวขาวให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยในปี ค.ศ. 1995 ซึ่งเป็นปีแรกของการดำรงตำแหน่ง มาดิบาได้สนับสนุนให้ชาวแอฟริกันผิวดำเชียร์ทีม สปริงบ็อก (Springbok) ทีมรักบี้ทีมชาติซึ่งมีผู้เล่นทั้งหมดเป็นคนผิวขาว ภาพที่มาดิบามอบถ้วยชนะเลิศแก่กัปตันทีมกลายเป็นสัญลักษณ์ของจุดเริ่มต้นในการรวมประเทศ ซึ่งยังคงอยู่ในใจของชาวแอฟริกันมาจนทุกวันนี้

เนลสัน มันเดลา

อาจมีคุณสมบัติหลายๆ ข้อที่ทำให้มาดิบากลายเป็นแบบอย่างของผู้นำประเทศยุคใหม่ แต่สิ่งที่เขาใช้ในการผูกใจคนได้อย่างทรงประสิทธิภาพที่สุดคือ รอยยิ้มอันกระจ่างสดใส เพราะแม้ว่ามาดิบาจะต้องเผชิญกับความสูญเสียมากมาย แต่เมื่อมาดิบายิ้ม เพื่อนร่วมชาติชาวแอฟริกันผิวขาวจะรู้ว่าเขาไม่มีความเคียดแค้นหลงเหลืออยู่ ส่วนเพื่อนร่วมชาติชาวแอฟริกันผิวดำก็จะรู้ว่า

“แม้ว่าเราจะต้องดิ้นรนในการใช้ชีวิต แต่เราก็เป็นนักสู้ที่มีความสุข”

 

Secret Box
If there are dreams about a beautiful South Africa, there are also roads that lead to their goal. Two of these roads could be named Goodness and Forgiveness.
หากเราฝันที่จะสร้างประเทศแอฟริกาใต้ให้สวยงาม มีถนนอยู่สองสายที่จะนำพาเราไปสู่ฝันนั้น ถนนสองสายที่ว่ามีชื่อว่า “ความดีงาม” และ “การให้อภัย”
– เนลสัน มันเดลา

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  Violet

ภาพ  nytimes.com, southbankcentre.co.uk, Nelson Mandela Foundation

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.