สมเด็จโตเทศน์เรื่อง

สมเด็จโตเทศน์เรื่อง 12 นักษัตรและอริยสัจ 4

สมเด็จโตเทศน์เรื่อง 12 นักษัตรและอริยสัจ 4

แท้ที่จริงแล้วธรรมเนียมการนับวัน เดือน ปี นักปราชญ์โบราณตั้งแต่ครั้งชมพูทวีปต่างบัญญัติขึ้นไว้ หมายเอาชื่อดวงดาวในอากาศมาตั้งแต่ชื่อ ดังนี้

1. เอาชื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ รวม 7 ดวง มาตั้งแต่ชื่อวันทั้ง 7 วัน และให้วนไปวนมาทุกเดือนปี

2. เอาชื่อดวงดาวรูปสัตว์และดาวรูปสิ่งอื่น ๆ มาตั้งเป็นชื่อเดือนทั้ง 12 เดือน ดังนี้

เดือนเมษายน ดาวรูปเนื้อ

เดือนพฤษภาคม ดาวรูปวัวผู้

เดือนมิถุนายน ดาวรูปคนคู่หนึ่ง

เดือนกรกฎาคม ดาวรูปปูป่าหรือปูทะเล

เดือนสิงหาคม ดาวรูปราชสีห์

เดือนกันยายน ดาวรูปนางสาวที่น่ารักใคร่

เดือนตุลาคม ดาวรูปคันชั่ง

เดือนพฤศจิกายน ดาวรูปแมงป่อง

เดือนธันวาคม ดาวรูปธนู

เดือนมกราคม ดาวรูปมังกร

เดือนกุมภาพันธ์ ดาวรูปหม้อ (จระเข้)

เดือนมีนาคม ดาวรูปปลา (ตะเพียน)

3. เอาชื่อดาวรูปสัตว์ 12 ดาวที่ประทับอยู่บนท้องฟ้ามาตั้งเป็นชื่อปี 12 ปี ดังนี้

ปีชวด ดาวรูปหนู

ปีฉลู ดาวรูปวัวผู้

ปีขาล ดาวรูปเสือ

ปีเถาะ ดาวรูปกระต่าย

ปีมะโรง ดาวรูปงูใหญ่ คือ นาค

ปีมะเส็ง ดาวรูปงูเล็ก คือ งูธรรมดา

ปีมะเมีย ดาวรูปม้า

ปีมะแม ดาวรูปแพะ

ปีวอก ดาวรูปลิง

ปีระกา ดาวรูปไก่

ปีจอ ดาวรูปสุนัข

ปีกุน ดาวรูปสุกร

ทั้งวัน เดือน ปีนี้ ใช้เป็นธรรมเนียมในการกำหนดนับอายุแห่งโลกธาตุนี้ หากนับใหญ่ ๆ ก็นับเป็นอันตรกัป มหากัป เป็นต้น อีกทั้งยังนับอายุคนได้เป็นรอบ ๆ กล่าวคือ ผ่านไป 12 ปีก็นับเป็น 1 รอบ ครบ 12 รอบก็ 144 ปี

แต่อายุขัยของมนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้มีเพียง 100 ปี หรือทุกวันนีี้จริง ๆ มนุษย์ที่มีอายุน้อยกว่า 100 ปีก็มีมาก หรืออายุยืนยาวกว่า 100 ปีก็พอมี แต่ก็นับเป็นคนพิเศษ ส่วนใหญ่จะน้อยกว่า 100 ปีเสียมาก ตามคำบาลีจึงเรียกว่ากลียุค คือคราวที่ชั่วร้าย สัตว์ที่เกิดมาในกลียุคนี้ย่อมทำบาปอกุศลมาก จนกระทั่งอายุขัยของสัตว์ลดน้อยลง ตรงกันข้ามกับมนุษย์เมื่อครั้งต้นกัปที่มากไปด้วยเมตตากรุณาแก่กัน ชักชวนกันไปทำกุศล จึงมีอายุขัยยืนยาวหลายหมื่นหลายพันปี

และในกลียุคนั้น อายุขัยของมนุษย์จะลดลงจนถึง 10 ปี แลสัตว์ที่มีอายุเพียง 5 ปีจะแต่งงานมีสามีภรรยากันได้ พลันโลกจะกลายเป็นมิคสัญญี เกิดการฆ่าฟันกันเกลื่อนกลาดจนสัตว์ที่รอดชีวิตนั้นจะบ่ายหน้าเข้าหาธรรม จนอายุขัยค่อยเพิ่มขึ้นมาทีละน้อย จนถึงอสงไขยปี หรือจำนวนนับประมาณไม่ได้ และเมื่อสัตว์ทำบาปอีกก็อายุลดน้อยลงเป็นลำดับอีก เป็นธรรมดาของโลก

พระพุทธเจ้าของเรานั้นเป็นพระสัพพัญญู รู้แจ้งในธรรมทั้งปวง จึงทรงแสดงธรรมที่เป็นความจริงของโลก 4 ประการ นั่นคือ

1. ความทุกข์มีจริง

2. สิ่งให้เกิดทุกข์มีจริง

3. ธรรมเป็นที่ดับทุกข์มีจริง

4. ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมที่เป็นที่ดับทุกข์มีจริง

ทั้ง 4 ข้อนี้รวมกันเรียกว่า อริยสัจ 4

สัจ คือ ความจริง 4 ประการ รวมกับ อริย ที่แปลว่าพระผู้รู้ รวมกัน 2 คำ แปลได้ว่าความจริงของพระผู้รู้ 4 ประการ เป็นธรรมที่ต้องเป็นพระอริยเจ้าจึงจะเห็น คือ

• เห็นว่าความทุกข์มีจริง

• เห็นว่าตัณหาคือความอยากความดิ้นรนของสัตว์นั้น ทำให้เกิดความทุกข์จริง

• เห็นว่าพระอมตมหานิพพาน ไม่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นที่ดับทุกข์จริง และสุขจริง

พระอริยเจ้า มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมเห็นถึงความจริง แจ้งในธรรมทั้ง 4 ประการนี้ แต่ปุถุชนนั้นเห็นจริงบ้างเล็กน้อย ไม่เห็นความเป็นแจ้งประจักษ์เหมือนพระอริยะแต่อย่างใด กลับเห็นว่าเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดก็ดี ไม่ได้เป็นทุกข์อะไรนัก บ้างว่าเจ็บก็เจ็บ สนุกก็สนุก ทุกข์ก็ทุกข์ สุขก็สุข บ้างก็ว่าตายแล้วเกิดใหม่ได้เป็นเศรษฐีมีทรัพย์สมบัติมากมายก็ดี บ้างก็เห็นว่าตายไปได้เกิดเป็นเทวดาชั้นฟ้า มีนางฟ้าอัปสรบริวารมากมาย ก็ไม่ได้เป็นทุกข์ร้อนอะไร ตายบ่อย ๆ ก็ได้ไม่ทุกข์ร้อน

หรือบ้างก็ว่า ถ้าไปนิพพานจะไปนอนนิ่ง ๆ เป็นสุขอยู่คนเดียว จะมีคู่เรียงเคียงหมอนก็หาไม่ ไม่เหมือนไปเกิดเป็นเทวดาหรือเศรษฐีหรอก

พวกโลกียชนย่อมเห็นเป็นแบบนี้

ดังนั้น การฟังเทศน์อริยสัจนั้นก็เพื่อให้รู้ความจริง และเห็นธรรมที่ดับทุกข์ของพระอริยเจ้า ส่วนปุถุชนนั้นก็ควรฟังเทศน์เรื่อง 12 นักษัตรนี้เสียก่อน จะได้เห็นว่า วัน เดือน ปีนั้นย่อมล่วงไปทุกเวลา ประเดี๋ยวก็เกิด ประเดี๋ยวก็แก่ ประเดี๋ยวก็เจ็บ ประเดี๋ยวก็ตาย เราต่างวนเวียนอยู่ในทุกข์ด้วยความลำบากอยู่ในวัฏฏะอย่างนี้ไม่รู้จักสิ้นสุด เมื่อเราเกิดความเบื่อหน่ายต่อความเกิดแก่เจ็บตายในโลกนี้แล้ว ก็ควรเร่งสร้างบุญกุศลให้ได้บารมีแก่กล้าเพื่อให้ได้มาซึ่งพระนิพพาน ซึ่งไม่มีความเกิดแก่เจ็บตาย เป็นความสุขอย่างแท้จริง

เรื่อง 12 นักษัตรนี้ ทั้งดาวทั้ง 12 เดือน ดาวทั้ง 12 ปี และดาวทั้ง 7 วัน เป็นเพียงที่นับอายุของเราไม่ให้ประมาท และให้คิดพิจารณาถึงความจริงในอริยสัจทั้ง 4 ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้นั้นทีเดียว

 

ที่มา  ชุดสุดยอดสงฆ์ 1 : สมเด็จโต สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

ภาพจากนิตยสาร Secret โดย วรวุฒิ วิชาธร

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.