ชีวิตมนุษย์

องค์ประกอบของ ชีวิตมนุษย์ ตามหลักพระพุทธศาสนา

องค์ประกอบของ ชีวิตมนุษย์ ตามหลักพระพุทธศาสนา

การทำงานขององค์ประกอบทั้งหลายใน ชีวิตมนุษย์ มีลักษณะพิเศษกว่าวัตถุต่างๆ เช่น รถยนต์ เครื่องจักร เพราะมีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ปัญญา เป็นต้น ทำให้มนุษย์มีการปรับตัว ปรับปรุงพัฒนาตัวเอง และจัดการกับสิ่งอื่นภายนอกได้ด้วย

ระบบการทำงานของชีวิตมนุษย์มีความพิเศษ ต่างออกไปจากระบบการทำงานของวัตถุต่างๆ เช่น รถยนต์ เป็นต้น แม้จะเคลื่อนไหวได้ แต่ก็ ไม่มีชีวิต ไม่มีเจตจำนงหรือเจตนา มันจะเคลื่อนไปไหนก็ต้อง มีคนมาขับขี่บังคับ ลำพังตัวมันองค์ประกอบทั้งหลายทั้งระบบ ก็ทำงานเคลื่อนไหวอยู่อย่างนั้นๆ เท่าเดิม

 

 

แต่ระบบการทำงานของชีวิตมนุษย์ไม่ได้วนอยู่ในวงจรเท่าเดิม อย่างนั้น มนุษย์มีเจตจำนงหรือมีเจตนา และมีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ปัญญา เป็นต้น ทำให้การเคลื่อนไหวของชีวิตมนุษย์มีการ ปรับตัว ปรับปรุงพัฒนาระบบการทำงานของตัวมันเอง และจัดการ กับสิ่งอื่นภายนอกได้ด้วย

 

ชีวิตมนุษย์ ที่เป็นอยู่หรือดำเนินไปทั้งระบบนี้แยกองค์ประกอบ ได้ 3 ส่วนใหญ่ คือ

 

1. พฤติสัมพันธ์

การเคลื่อนไหวติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกโดยใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และการแสดงออกต่าง ๆ ซึ่งปรากฏออกมา ทางกาย วาจา จะใช้คำตามภาษาสมัยใหม่ว่า “พฤติกรรม” ก็มี ความหมายแคบเกินไป ขอแต่งเป็นคำใหม่ว่า พฤติสัมพันธ์

 

 

  1. จิตใจ

เบื้องหลังการติดต่อสัมพันธ์และพฤติกรรมที่แสดงออก ก็มีกระบวนการทำงานของจิตใจ เริ่มตั้งแต่เจตจำนง (ความตั้งใจ) เพราะการติดต่อสัมพันธ์และพฤติกรรมที่แสดงออกมาทุกอย่าง ของมนุษย์เกิดจากเจตนา คือมีความตั้งใจ จงใจ

นอกจากนี้ยังมีแรงจูงใจเป็นตัวกำหนดอีกชั้นหนึ่งว่าจะตั้งใจ อย่างไร แรงจูงใจนี้มีทั้งฝ่ายชั่วและฝ่ายดี เช่น ความรัก ความ โกรธ ความอยากรู้ ความลุ่มหลง ความเคารพ ความริษยา เป็นต้น

แล้วก็มีความสุขหรือความทุกข์อยู่ในใจอีก ซึ่งเป็นตัวกำหนด หรือชักจูงความตั้งใจนั้น เช่นว่าเพราะอยากได้สุขจึงเคลื่อนไหว ทำพฤติกรรมแบบนี้เพราะอยากหนีทุกข์จึงเคลื่อนไหวทำพฤติกรรม แบบนี้

เพราะฉะนั้น การติดต่อสัมพันธ์และพฤติกรรมจึงไม่ได้ เกิดขึ้นมาลอย ๆ แต่มีปัจจัยขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง คือกระบวน- การของจิตใจ (หลายอย่างที่ปัจจุบันมักเรียกเพี้ยนไปว่า “อารมณ์”) เป็นด้านที่ 2 ในกระบวนการทำงานของชีวิต เรียกสั้นๆ ว่า จิตใจ

 

 

  1. ปัญญา

ในการเคลื่อนไหวติดต่อสัมพันธ์ทำพฤติกรรมนั้น คน ต้องมีความรู้ รู้เท่าไรก็ตั้งใจเคลื่อนไหวทำพฤติกรรมได้เท่านั้น ถ้าไม่รู้เลย ความตั้งใจทำพฤติกรรมก็ส่งเดชเรื่อยเปื่อย พอมี ความรู้บ้างก็ตั้งใจเคลื่อนไหวทำพฤติกรรมได้ผลขึ้นบ้าง ถ้ารู้มากขึ้น การตั้งใจเคลื่อนไหวทำพฤติกรรมก็จะซับซ้อนและจะได้ผลสำเร็จ มากยิ่งขึ้น

ฉะนั้นความรู้จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก ซึ่งทำให้เรา ตั้งเจตจำนงได้แค่ไหนว่าจะเอาอย่างไร แล้วก็เคลื่อนไหวทำ

พฤติกรรมออกไปตามนั้น เพราะฉะนั้นแดนรู้จึงเป็นแดนใหญ่ด้านหนึ่งของชีวิต ได้แก่ ปัญญา

 

ข้อมูลจากหนังสือ ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น สำนักพิมพ์ AMARIN DHAMMA

สั่งซื้อออนไลน์ คลิก


บทความน่าสนใจ

“รักแรก” ของ แอฟ ทักษอร กับผู้ชายที่เป็น “ทุกสิ่งในชีวิต”

กำเนิดมนุษย์ เรื่องน่าคิดจากพระไตรปิฎก

โลกมนุษย์ในระบบของ กฎธรรมชาติ

มารู้จักน้องหมา น้องแมว น้องโลมากับบทบาท ‘ฮีโร่’ ผู้ช่วยชีวิตมนุษย์  

อำนาจของกรรม ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สามารถเปลี่ยนให้เทวดากลายเป็นมนุษย์ จากมนุษย์กลายเป็นสัตว์

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.