ดุลยภาพ

หลักแห่งดุลยภาพในทางพระพุทธศาสนา

หลักแห่งดุลยภาพในทางพระพุทธศาสนา

ดุลยภาพ ไม่ใช่มีเพียงสองส่วนและมาทำให้ ได้ สมดุลกันแต่บางที มันมีมากมาย เพราะว่าสิ่งทั้งหลายที่เราเรียกว่าเป็นองค์รวมหรือเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิด ที่มองเห็นกันในโลกนี้ เมื่อมองดูตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งก็เป็นหลักความจริง โดยทั่วไป เราจะเห็นว่าเป็นการประชุมกันเข้าของส่วนประกอบ ต่าง ๆ มากมาย เรียกว่ามีองค์ประกอบเยอะแยะมารวมกันเข้ามา ชุมนุมกันเข้ามา ประกอบกันเข้าเป็นสิ่งนั้น ๆ ส่วนประกอบนั้น อาจจะมีมากมายเป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพันอย่างก็ได้ เมื่อมี หลายอย่างมากเข้าก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ส่วนประกอบต่างๆ ที่มาอยู่ร่วมกันนั้นก็ต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน อันนี้เป็นหลักธรรมดามันสัมพันธ์กัน เช่น โดยการทำหน้าที่มาประกอบ มาเสริมกัน ซึ่งแต่ละอย่างจะต้อง ทำหน้าที่ของตน โดยสัมพันธ์กันอย่างพอเหมาะพอดี ได้สัดได้ส่วน ถ้าทำหน้าที่ไม่พอเหมาะพอดีขึ้นมาเมื่อไร ก็เกิดเรื่องเกิดปัญหาเมื่อนั้น นี่ก็คือเรื่องที่เราเรียกว่าหลักแห่งดุลยภาพ หลักแห่งดุลยภาพในทางพระพุทธศาสนามีอะไรบ้าง มาดูกัน

 

 

ดุลยภาพทางร่างกายทำให้มีสุขภาพดี

ชีวิตของเรานี้ก็เป็นตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดเจน ชีวิตมนุษย์นี่ ทางพระท่านเรียกว่า เป็นรูปนามหรือเป็นขันธ์ 5 ก็เกิดจาก องค์ประกอบต่างๆ มากมาย ทั้งรูปธรรมและนามธรรมมา ประกอบกันขึ้น และส่วนประกอบต่างๆ เหล่านั้น เมื่อมันทำงาน ได้สัดได้ส่วนพอเหมาะพอดีกัน ชีวิตของเราก็ดำเนินไปด้วยดี แต่ถ้ามันไม่พอเหมาะพอดีกันขึ้นมาเมื่อไรก็เกิดปัญหาเมื่อนั้น

ดุลยภาพที่มองเห็นได้ง่ายๆ ในชีวิตคนเราก็คือ ด้านร่างกาย ร่างกายนี่แหละเป็นส่วนที่มองเห็นได้ง่าย คนเรานี้ถ้าส่วนประกอบ ทางร่างกายขาดดุลยภาพขึ้นเมื่อไร มีส่วนใดบกพร่อง ทำงาน สัมพันธ์กันไม่ดี ไม่ได้สัดส่วน ไม่พอเหมาะพอดี ก็เกิดปัญหา นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่า โรคภัยไข้เจ็บ

ทีนี้ถ้าปรับให้เกิดความพอเหมาะพอดี มีสมดุลขึ้น ได้สัด ได้ส่วนแล้ว ชีวิตนั้นเรียกว่ามีองคาพยพอันสมบูรณ์ ก็เป็นอยู่ ดำรงอยู่ได้ด้วยดี อันนี้คือหลักที่สำคัญมาก และนี่แหละคือ หลักที่เรียกว่าดุลยภาพ

ดังนั้นดุลยภาพจึงมาสัมพันธ์กับสุขภาพ หมายความว่า ถ้าไม่มีดุลยภาพ สุขภาพก็ไม่มี

 

 

ดุลยภาพทางเศรษฐกิจทำให้ชีวิตมีความมั่นคง

เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การทำมาหาเลี้ยงชีพ ความเป็นอยู่ หรือเรื่องเศรษฐกิจ อันนี้ก็ต้องมีดุลยภาพเหมือนกัน ดุลยภาพ อย่างง่ายที่สุดก็คือดุลยภาพ ระหว่างการใช้จ่ายกับรายรับ รายได้ กับรายจ่ายจะต้องได้ดุลกัน ถ้ารายได้น้อย แต่จ่ายมาก ก็ต้อง เกิดปัญหา เกิดความบกพร่อง ชีวิตในด้านเศรษฐกิจก็เป็นโรค คือจะเป็นปัญหานั่นเอง

โรคแปลว่า สิ่งที่เสียดแทง สิ่งที่ทำให้ไม่สบาย เพราะฉะนั้นถ้าชีวิตในด้านเศรษฐกิจของเราไม่มีสมดุลหรือไม่มีดุลยภาพ ชีวิตด้านเศรษฐกิจของเราก็จะต้องไม่สบาย มีความขัดข้อง เพราะฉะนั้นอย่างน้อยก็ต้องให้มีดุลยภาพระหว่างรายได้กับรายจ่าย

แต่ดุลยภาพระหว่างรายได้กับรายจ่ายนั้น ไม่ใช่แค่เพียง รายได้รายจ่ายเฉพาะที่มองเห็นว่าได้มาเท่าไร จ่ายไปเท่าไร แต่ ดุลยภาพนั้นจะต้องมองไปถึงภาวะสมดุลอื่น ๆ ด้วย เช่น การ วางแผนเพื่ออนาคตเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงของชีวิต

ในทางพระศาสนา ท่านจึงพูดถึงดุลยภาพใน เรื่องรายได้รายจ่าย ดังจะเห็นได้ชัด เช่นในหลักธรรมหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสอุปมาว่า การใช้จ่ายเงินของคนเรานี้ต้องให้มี ภาวะที่เรียกว่ารายได้เหนือรายจ่ายหรือให้ได้ดุลกันในแง่ที่ว่าไม่ลบ คือไม่ให้ติดลบ แต่ถ้าบวกไม่เป็นไร อย่างน้อยไม่ให้ลบ

ท่านบอกว่า เปรียบเหมือนอย่างอ่างเก็บน้ำอ่างหนึ่ง ที่มี ช่องน้ำเข้าสี่ช่องและมีช่องน้ำออกสี่ช่อง เหมือนกับมีรายได้รายจ่าย พอเท่ากัน ก็พอเป็นไปได้ แต่ถ้าหากว่าช่องทางน้ำเข้าน้อย แต่มี ช่องทางน้ำไหลออกมาก ก็จะเกิดปัญหาน้ำไม่พอใช้

ช่องทางน้ำออกก็คือพวกอบายมุข อบายมุขนี้มิใช่แค่เป็น ทางน้ำออกในการใช้จ่ายเท่านั้น แต่เป็นทางน้ำรั่วเลยทีเดียว คือเป็นทางรั่วไหลหมด รายได้ไปเปล่า ถ้ามีทางรั่วคืออบายมุข มากมาย เช่น หมกมุ่นในเรื่องสุรา การพนัน หรือในเรื่องการ เอาแต่เที่ยว เป็นต้น อย่างนี้แหละคือทางรั่วไหลของรายได้

 

 

ดุลยภาพทางสังคมทำให้ประชาชนสันติสุข

เราอยู่ในสังคมก็ต้องรักษาดุลยภาพเหมือนกัน ในการที่จะมีความ สัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นไม่ให้เกิดผลเสีย ไม่ให้เกิดความบกพร่อง ถ้าเกิดผลเสียก็คือ ความสัมพันธ์ในทางสังคมของเราเอียงหรือ ทรุดไป เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีก็เกิดผลเสียแก่การดำเนินชีวิต ทำให้ไม่มีความก้าวหน้า ดุลยภาพในทางสังคมนี้มิใช่เฉพาะการ ที่เราอยู่ร่วมกับผู้อื่นโดยไม่เบียดเบียนกันและอยู่ร่วมกันด้วยดี เท่านั้น แต่หมายถึงว่า ในสังคมวงกว้าง มนุษย์จะอยู่ร่วมกัน ด้วยดีอย่างไร ก็ต้องอยู่ด้วยดุลยภาพทั้งนั้น

แม้แต่การที่เราจะจัดการศึกษาออกมา ก็ต้องมีเรื่องของ ดุลยภาพ เช่นว่า สังคมนี้ในแง่เศรษฐกิจต้องการกำลังคนในอาชีพ นี้หรือในวงงานนี้เท่าไรสำหรับปีต่อไป ก็จะต้องมีการวางแผนกัน เสร็จแล้วทางฝ่ายการศึกษาก็มาจัดว่าจะต้องผลิตบัณฑิตที่สำเร็จ การศึกษาในด้านนั้นออกมาให้พอ หรือถ้าวางแผนว่าจะให้ประเทศ เจริญในด้านอุตสาหกรรม

ก็ต้องเตรียมการศึกษาในด้านวิศวกรรมด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการ พัฒนาอุตสาหกรรม โดยวางแผนผลิตบัณฑิตในด้านนั้นให้ ได้สัดได้ส่วนได้จำนวนที่เพียงพอ อย่างนี้ก็เป็นเรื่องของการสร้าง ดุลยภาพ ซึ่งต้องมีการจัดการอะไรต่ออะไรให้ปรับให้พอดีทั้งนั้น

 

 

ดุลยภาพทางธรรมชาติทำให้สิ่งแวดล้อมดี

ธรรมชาตินี้จะอยู่ได้ต้องมีดุลยภาพ ถ้าขาดดุลยภาพเมื่อไร ก็เกิดปัญหาทันที อย่างในปัจจุบันนี้ถือว่าเกิดความบกพร่อง เกิด การเสียดุลยภาพหรือว่าไม่สมดุลขึ้นแล้วในธรรมชาติแวดล้อม หรือในระบบนิเวศน์ตอนนี้กำลังมีปัญหามาก ไม่ว่าจะปัญหามลภาวะ เช่น น้ำเสีย ดินเสีย อากาศเสีย อะไรต่าง ๆ จนกระทั่งว่าไฟเสีย ถ้าพูดภาษาโบราณเรียกว่า ดิน น้ำ ไฟ ลมเสีย

ไฟเสียในที่นี้ไม่ใช่หมายความว่าไฟดับ แต่หมายความว่าไฟ มันไม่สมดุล คือว่าความร้อนหรืออุณหภูมินั่นเองไม่พอดี ดังที่ กำลังเกิดปัญหาว่าอุณหภูมิในโลกนี้ชักจะร้อนขึ้น ชักจะสูงขึ้น นี่ก็เรียกว่าเป็นการเสียดุลยภาพในด้านไฟ

ด้านลม ที่ว่าลมเสียก็คือ อากาศเป็นพิษ มีมลภาวะมากมายดังที่ขณะนี้คนเป็นโรคเพราะอากาศเป็นพิษกันมากมาย แล้วก็ดินเสีย ดินเดี๋ยวนี้ก็มีความเสียหาย หน้าดินถูกทำลาย และทรุดโทรมสูญเสียไป เป็นปัญหาใหญ่ในทางเกษตรกรรม

ส่วนน้ำเสียก็ชัดเจน โรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายพากัน ปล่อยของเสียลงไป น้ำเสียจนกระทั่งว่าปลาก็หมดไป บางที หมดไปเป็นแม่น้ำๆ เป็นทะเลสาบๆ ไปเลย ในประเทศที่พัฒนา แล้ว ทะเลสาบหลายแห่งไม่มีสัตว์มีชีวิตเหลืออยู่

นี่ก็เป็นเรื่องของการเสียดุลยภาพ ในโลกมนุษย์ นี้ถ้าธรรมชาติ แวดล้อมเสียดุลยภาพไป ต่อไปมนุษย์เองก็จะอยู่ไม่ได้ ที่ว่ามานี้ ก็เรื่องดุลยภาพในสภาพแวดล้อมหรือธรรมชาติ ซึ่งเราจะต้องดูแล รักษา เป็นเรื่องของดุลยภาพอีกด้านหนึ่ง

 

 

ดุลยภาพของจิตใจทำให้สุขภาพจิตดี

จะเห็นว่าคนจำนวนมากเกิดปัญหาที่เรียกว่า เป็นโรคจิต เขาเสียดุลยภาพทางจิตใจ ดุลยภาพไม่มี เขารักษาความทรงตัวไม่ได้แล้ว จิตของเขาทรุดลงไป มันเอียงลงไป ตะแคงลงไป มันดิ่งลงไปข้างใดข้างหนึ่ง

อย่างเช่น บางคนดีใจเกินไป ควบคุมไม่อยู่ ก็เสียดุลยภาพถึงกับเสียจริตไปก็มี แต่ อันนี้มีน้อย ที่เป็นมากก็คือ เสียใจเกินไป ควบคุมตัวเองไว้ไม่อยู่ ก็เลยเสียจริต อย่างที่เรียกว่าเป็นบ้า

แต่การเสียดุลทางจิตใจนั้นไม่ใช่แค่นี้เท่านั้น เสียจิตถือเป็น ขั้นที่รุนแรงมากแล้ว ทีนี้คนที่เสียดุลยภาพถึงขั้นนั้นอาจจะมี ไม่มากนัก แต่การเสียดุลยภาพทางจิตใจที่เป็นกันมากและหาได้ ทั่วไปก็คือ ภาวะขาดดุลยภาพในยามดีใจหรือเสียใจ แล้วปล่อยตัว ให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เป็นผลดีต่อชีวิตและสังคม เช่นในยามที่ ดีใจเกินไป เมื่อได้โลกธรรมสมปรารถนาแล้วรักษาตัวไม่อยู่ ไม่มี ดุลยภาพ ก็จะทำให้เกิดมีพฤติกรรมไม่ดีตามมา

การวางตัวถูกต้องก็คือ การรักษาดุลยภาพทางด้านจิตใจไว้ ถ้าไม่รักษาดุลยภาพของจิตใจไว้ให้ได้ ไม่ว่าทางดีหรือทางเสีย ก็เสียทั้งคู่ ท่านเรียกว่าฟูกับยุบ คือถ้าทางดีก็ฟู ถ้าทางเสียก็ยุบ พอได้ลาภก็ฟู พอเสียหรือเสื่อมลาภก็ยุบ พอได้ยศก็ฟู พอเสื่อมยศก็ยุบ คนทั่วไปมักจะเป็นอย่างนี้

 

 

ข้อมูลจากหนังสือ กายหายไข้ ใจหายทุกข์

สั่งซื้อออนไลน์ คลิก


บทความน่าสนใจ

วันนี้คุณทำดีพอหรือยัง ประสบการณ์เฉียดตายที่ช่วยเปลี่ยนมุมมองในการดำเนินชีวิต

ชีวิตนี้ไม่เสียชาติเกิด ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์

6 สิ่งที่ควรเลิกก่อนกลายเป็น คนคิดมาก จนไม่มีความสุขในชีวิต

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ เพราะชีวิตข้างหน้าต้องดีกว่าตอนนี้

แพท วงเคลียร์ ชีวิตที่มี ธรรมะของคุณพ่อเป็นเครื่องเตือนสติ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.