บทกรวดน้ำ การกรวดน้ำแผ่เมตตามีประโยชน์อย่างไร

บทกรวดน้ำ การกรวดน้ำแผ่เมตตามีประโยชน์อย่างไร

บทกรวดน้ำ แผ่เมตตา จะเป็นการช่วยอุทิศบุญกุศลแก่ญาติมิตร และสัตว์ทั้งหลายอย่างเท่าเทียมทั่วกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติกับบุคคลใดเป็นพิเศษ โดยใช้น้ำสะอาด กรวดลงในภาชนะอันสมควรโดยไม่ต้องใช้มือรอง แต่ให้ใช้น้ำเป็นเครื่องรวมใจให้เป็นสมาธิในการอุทิศบุญเท่านั้น

 

 

ทำไมต้องกรวดน้ำ

เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งพุทธกาล เมื่อคราวที่พญาวสวัตดีมารเข้า ขัดขวางมิให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ โดยอ้าง ว่ารัตนบัลลังก์ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่นั้นเป็นของตน และถือเอา หมู่มารปีศาจทั้งหลายเป็นสักขีพยาน จากนั้นก็ถามหาสักขีพยาน ฝ่ายพระพุทธเจ้าบ้าง

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า รัตนบัลลังก์นี้เป็นของพระองค์ เพราะเกิดขึ้นด้วยผลแห่งพระโพธิญาณ หากไม่บำเพ็ญกุศลก็จะ ไม่เกิดมีขึ้น และทรงขออ้างแม่พระธรณีผู้ปราศจากเจตนาอันมี อคติขึ้นเป็นพยาน

แม่พระธรณีจึงอุบัติขึ้นจากพื้นพสุธา และกล่าวเป็นพยานว่า น้ำทักษิโณทกที่พระพุทธเจ้าทรงหลั่งเมื่อบำเพ็ญทานบารมีทุกชาติ รวมกันนั้นมีมากมายเหลือคณานับ พร้อมกับแสดงให้พญาวสวัตดี มารประจักษ์ด้วยการบิดมวยผมให้เกิดเป็นกระแสธารพัดพาเอา หมู่มารลอยหายไปสิ้น

จะเห็นได้ว่า แม้มหาบุรุษผู้ประเสริฐอย่างพระพุทธเจ้า การกระทำเล็กๆ น้อยๆ อย่างการกรวดน้ำก็ยังมีประโยชน์และมีนัยสำคัญ

 

 

ทำไมต้องใช้ “น้ำ”

เหตุที่ต้องใช้น้ำในการอุทิศส่วนกุศลนั้น ครูบาอาจารย์รุ่นหลัง อธิบายว่า น้ำเป็นสัญลักษณ์ของการรวมจิตให้เกิดสมาธิ แสดงถึงความตั้งใจที่จะอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่นและสรรพสัตว์นั่นเอง

การกรวดน้ำอย่างถูกวิธีนั้นควรใช้น้ำสะอาด กรวดลง ในภาชนะอันสมควรโดยไม่ต้องใช้มือรอง แต่ให้ใช้น้ำเป็นเครื่อง รวมใจให้เป็นสมาธิในการอุทิศบุญเท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่ได้ลงมือ กรวดน้ำด้วยตัวเองก็สามารถส่งใจไปร่วมกรวดน้ำได้ด้วยการรวมจิต ให้เป็นสมาธิ และอุทิศส่วนกุศลด้วยความตั้งใจ โดยไม่ต้องกังวล กับการ “แตะมือ” เพื่อให้บุญส่งถึงกันอย่างที่ชาวพุทธยุคนี้นิยม ปฏิบัติกันแต่อย่างใด

เมื่อกรวดน้ำแล้วเสร็จให้นำน้ำนั้นไปเทลงพื้นดินกลางแจ้ง เพื่อให้แม่พระธรณีได้รับรู้และเป็นพยานในการอุทิศส่วนกุศลใน ครั้งนั้นๆ หรือจะเทลงโคนต้นไม้ใหญ่เพื่อให้เทพยดาได้ร่วมรับรู้

 

คำอุทิศส่วนกุศล (คำกรวดน้ำอย่างสั้น)

 

อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหตุ มาตาปิตะโร

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่มารดาบิดาของข้าพเจ้า

ขอให้มารดาบิดาของข้าพเจ้าจงมีความสุข

อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า

ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงมีความสุข

อิทัง เม คุรูปัชฌายาจะริยานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ คุรูปัชฌา– ยาจะริยา

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ครูอุปัชฌายาจารย์ของข้าพเจ้า

ขอให้ครูอุปัชฌายาจารย์ของข้าพเจ้าจงมีความสุข

อิทัง สัพพะเทวะตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เทวา

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลายทั้งปวง

ขอให้เทวดาทั้งหลายทั้งปวงจงมีความสุข

อิทัง สัพพะเปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เปตา

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เปรตทั้งหลายทั้งปวง

ขอให้เปรตทั้งหลายทั้งปวงจงมีความสุข

อิทัง สัพพะเวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เวรี

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง

ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวงจงมีความสุข

อิทัง สัพพะสัตตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ สัตตา

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง

ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงมีความสุข

 

 

แผ่เมตตาคืออะไร

การแผ่เมตตา คือ การมอบความรัก ความปรารถนาดีไปให้ ผู้อื่นมีความสุข ให้ทำเมื่ออยากให้ผู้อื่นไม่มีเวรต่อเรา แต่จะเกิดผล ขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อเรามีเมตตาอยู่ในใจ คือ สามารถให้อภัยผู้ที่ ทำให้เราขัดใจได้อย่างแท้จริง โดยไม่โกรธแค้น ไม่เบื่อหน่าย และไม่ขุ่นข้องหมองใจกับสิ่งที่เขากระทำกับเรา แล้วจึงแผ่ความรู้สึก ที่ดีออกไป โดยอาจกล่าวคำว่า “ไม่มีเวรต่อกัน” สั้นๆ แค่นี้ด้วยก็ได้

 

ข้อมูลจากหนังสือ สวดเป็นเห็นผลทันตา สำนักพิมพ์ AMARIN DHAMMA

สั่งซื้อออนไลน์ คลิก


บทความน่าสนใจ

อานิสงส์กรวดน้ำ

Dhamma Daily: พักอยู่คอนโดสูง ควร กรวดน้ำ อย่างไรดี เพราะไม่มีต้นไม้ใหญ่

กรวดน้ำ หนทางแห่งกุศล ไม่มีประมาณ

คลายข้อสงสัย เริ่มกรวดน้ำตอนไหนกันแน่!?

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.