ความหมายที่แท้จริงของคำว่าภพ

ไขความกระจ่าง ความหมายที่แท้จริงของคำว่าภพ

ไขความกระจ่าง ความหมายที่แท้จริงของคำว่าภพ

คำว่า “ภพ” มักใช้คู่กับคำว่า “ภูมิ” ซึ่งตามจริงแล้วสองคำนี้มีความหมายเดียวกันหรือเปล่า และ ความหมายที่แท้จริงของคำว่าภพ คืออะไร เพื่อความกระจ่างจึงยกคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสถึงเรื่องของภพมาเพื่อให้ทราบถึงความหมายที่แท้จริงว่า “ภพ” คืออะไร และตรงตามที่เราเข้าใจหรือไม่

พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายเรื่องภพไว้ในวิภังคสูตรว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ภพ เป็นอย่างไร ภพมีด้วยกัน 3 อย่างคือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ภพมีขึ้นจากอุปาทาน (ความยึดติด) ”

พระอานนท์เคยทูลถามพระพุทธเจ้าถึงเรื่องการเกิดขึ้นของภพซึ่งปรากฎในปฐมภวสูตรว่า

พระอานนท์ทูลถามว่า : ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภพเกิดขึ้นได้อย่างไร

พระพุทธเจ้าตรัสว่า : ถ้ากรรมมีกามธาตุ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เป็นผล กามภพก็เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ กรรมจึงเปรียบเป็นเนื้อนาของ วิญญาณ (จิต) เป็นเมล็ดพืช ตัณหา (ความอยาก) เป็นยางช่วยหล่อเลี้ยงเชื้อของพืช

วิญญาณของสัตว์ทั้งหลายมีอวิชชาเป็นเครื่องกีดขวาง ตัณหาเป็นเครื่องผูกพันธนาการ ตั้งอยู่ด้วยธาตุชั้นทราม (ดิน น้ำ ลม และไฟ) เมื่อสิ้นแล้วย่อมเกิดใหม่ในภพต่อ ๆ ไปเพราะเช่นนี้

หากกรรมมีรูปธาตุ (ร่างกาย อวัยวะต่าง ๆ) เป็นผล รูปภพจึงมี กรรมจึงเปรียบเป็นเนื้อนาของ วิญญาณ (จิต) เป็นเมล็ดพืช ตัณหา (ความอยาก) เป็นยางช่วยหล่อเลี้ยงเชื้อของพืช

วิญญาณของสัตว์ทั้งหลายมีอวิชชาเป็นเครื่องกีดขวาง ตัณหาเป็นเครื่องผูกพันธนาการ ตั้งอยู่ด้วยธาตุชั้นกลาง (รูป หรือร่างกาย) เมื่อสิ้นแล้วย่อมเกิดใหม่ในภพต่อ ๆ ไปเพราะเช่นนี้

หากกรรมมีอรูปธาตุ (นามธรรม) เป็นผล อรูปภพจึงมี กรรมจึงเปรียบเป็นเนื้อนาของ วิญญาณ (จิต) เป็นเมล็ดพืช ตัณหา (ความอยาก) เป็นยางช่วยหล่อเลี้ยงเชื้อของพืช

วิญญาณของสัตว์ทั้งหลายมีอวิชชาเป็นเครื่องกีดขวาง ตัณหาเป็นเครื่องผูกพันธนาการ ตั้งอยู่ด้วยธาตุชั้นสูง (นามธรรม) เมื่อสิ้นแล้วย่อมเกิดใหม่ในภพต่อ ๆ ไปเพราะเช่นนี้

ในอีกนัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสต่อพระอานนท์ถึงสาเหตุของการเกิดภพว่า การเกิดขึ้นของภพทั้ง 3 ได้แก่ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ยังมีขึ้นจากมีเจตนา และความปรารถนาของสัตว์ด้วย

พระพุทธเจ้าทรงอธิบายเรื่องสิ่งที่นำพาสัตว์ไปสู่ภพแก่พระราธะไว้ในสัตตสูตรว่า

“ฉันทะ (ความพอใจ) ราคะ (ความกำหนัด) นันทิ (ความเพลิน) ตัณหา (ความอยาก) อุปายะ (กิเลสที่ทำให้เข้าสู่ภพ) และอุปาทาน (ความยึดติด) เป็นสิ่งที่นำพาสัตว์ให้เข้าไปอยู่ในภพ”

พระสูตรทั้ง 3 ที่ยกมานี้ พระพุทธเจ้าทรงอธิบายเรื่องภพไว้อย่างน่าสนใจ พระสูตรแรก (วิภังคสูตร) พระองค์ทรงแสดงว่า ภพในคติของพระพุทธศาสนามีด้วยกัน 3 อย่าง ได้แก่ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ หากยึดตามวรรณคดีพระพุทธศาสนาเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง จะเห็นว่า กามภพ หมายถึง สัตว์ที่มีรูปกายไม่ละเอียด (กายหยาบ) ซึ่งในพระสูตรนี้ เรียกว่า “ธาตุระดับทราม” เช่น สัตว์ในสุคติภูมิ ได้แก่ มนุษยและเทวดา ส่วนสัตว์ในทุคติภูมิ ได้แก่ เดรัจฉาน เปรตภ อสุรกาย และสัตว์นรก ส่วนรูปภพหมายถึงเป็นพรหมที่ยังมีรูป ซึ่งเป็นสัตว์ที่มี “ธาตุระดับกลาง” จึงเรียกว่า “รูปพรหม” ส่วนอรูปภพ เป็นสัตว์ที่มี “ธาตุระดับสูง” คือประณีตเหลือแต่จิต จึงเรียกว่า “อรูปพรหม”

ภพเกิดขึ้นจาก กรรม จิต (วิญญาณ) และตัณหา ซึ่งในพระสูตรปฐมภวสูตร อุปมาการเกิดขึ้นของภพคล้ายกับวิธีการปลูกต้นข้าว โดยผืนนาหรือพื้นดินคือกรรม วิญญาณคือเมล็ดที่ถูกหว่านลงไปบนผืนนาที่ไถไว้ การที่เมล็ดพืชจะเจริญเติบโตได้ต้องมียาง ซึ่งการที่วิญญาณจะเติบโตในภพ หรือเข้าสู่ภพได้คือต้องมีความอยาก หรือ ตัณหาเป็นตัวช่วย สิ่งที่ทำให้จิตหรือวิญญาณมาสู่ภพนอกจากตัณหาแล้ว ยังมี ฉันทะ ราคะ นันทิ อุปายะ และอุปาทาน แสดงว่าการเกิดขึ้นของภพคือจิตหรือวิญญาณมีความพอใจ ซึ่งนำไปสู่การมีกิเลส จนกระทั่งเกิดการยึดติดในภพ

ภพเป็นองค์ธรรมหนึ่งในวงจรปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเกิดมาจากอุปทาน (การยึดติด) แล้วภพก็ทำให้เกิดชาติ ชรา มรณะ และทุกข์ตามมา ซึ่งองค์ธรรมเริ่มในวงจรนี้คืออวิชชา หากมีวิชชาคือเข้าใจตามความเป็นจริงแล้ว ภพก็ไม่เกิดขึ้น

ในที่นี้ ภพ จึงตีความได้ว่า ปรากฏ หรือ ความเป็น ที่จริงแล้วภพไม่มีในภาษาบาลี มีแต่คำว่า “ภว” ซึ่งอ่านออกเสียงว่า “ภะ-วะ” ซึ่งมีในภาษาไทยว่า “ภาวะ” ถ้าเปลี่ยน ว เป็น พ ก็จะเป็น ภาพะ หรือที่นิยมใช้กันว่า “ภาพ” ดังนั้นคำว่าภพจึงมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ภาวะ ซึ่งแปลว่า ความมี, ความเป็น

ภพไม่ได้หมายถึงดินแดน หรืออาณาจักร แต่หมายถึงสภาพ หรือ ความเป็น ซึ่งครอบคลุมเพียงภพ 3 คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ไม่ครอบคลุมไปถึงพระนิพพาน เพราะเป็นสภาวะอีกอย่างหนึ่งที่ไร้ตัวตน (อนัตตา) ภพเป็นสภาวะที่ยังมีตัวตน (อัตตา) จำกัดได้แค่ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ หากพัฒนาจิตจนเข้าถึงสภาวะแห่งนิพพาน การมีตัวตน หรืออัตตาได้รับการขจัดอัตตา ภพก็จะสิ้นสุดลงไม่มีชาติ (เกิด) อีกต่อไป

 

ที่มา :

วิภังคสูตร

ปฐมภวสูตร

สัตตสูตร


บทความน่าสนใจ

ยุติ วงจรปฏิจจสมุปบาท เพื่อตัดภพให้สิ้นชาติ โดยพระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

เมื่อเจ้ากรรมนายเวร ตามทวงสัญญาข้ามภพข้ามชาติ

ภพภูมิหลังความตาย ที่สัตว์โลกทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิด

ตัดภพ สิ้นชาติ เพราะเข้าใจ ปฏิจจสมุปบาท

เพียงพบพาน เพื่อผ่านภพ ธรรมะโดย พระอาจารย์ นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.