น่ากลัวยิ่งกว่าขุมนรก

การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ แท้จริงแล้วเร่าร้อนและ น่ากลัวยิ่งกว่าขุมนรก

การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ แท้จริงแล้วเร่าร้อนและ น่ากลัวยิ่งกว่าขุมนรก

นรกเป็นสถานที่มีความเร่าร้อน เป็นสถานที่ลงโทษดวงวิญญาณผู้กระทำบาป แต่พระพุทธเจ้ากลับตรัสว่า สิ่งที่ น่ากลัวยิ่งกว่าขุมนรก คือการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ทำไมเป็นเช่นนี้ หาคำตอบไปด้วยกันจากพระสูตรที่มีชื่อว่า ปริฬาหสูตร  กันเถอะ

พระพุทธเจ้าตรัสขึ้นว่า “เดี๋ยวก่อนภิกษุทั้งหลายนรกเป็นสถานที่มีความเร่าร้อน สัตว์นรกย่อมทนทุกข์ทรมานจากรูปที่ไม่น่าอภิรมย์ที่ตนต้องเห็นด้วยดวงตา รูปที่อยากชมก็หาไม่ได้ในนรกนี้ ถึงจะได้ยินเสียง ได้ลิ้มรส ได้สูดกลิ่น ได้สัมผัสด้วยกาย  หรือรู้เข้าใจด้วยการคิด แต่สิ่งที่รับรู้ล้วนเป็นการรับรู้ในสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์ทั้งสิ้น”

พระภิกษุรูปหนึ่งทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีความเร่าร้อนใดที่มากและน่ากลัวกว่าความเร่าร้อนในนรกอีกหรือไม่”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ ความเร่าร้อนที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความเร่าร้อนในนรกที่เธอถามนั้นมีอยู่จริง”

พระภิกษุทูลถามต่อว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเร่าร้อนอื่นที่มากกว่า และน่ากลัวกว่าความเร่าร้อนในนรกเป็นเช่นไร”

พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันสมณะและพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ตาม หากไม่รู้แจ้งในอริยสัจ 4  แล้วสมณะและพราหมณ์เหล่านั้นต่างยินดีในสังขาร (การปรุงแต่ง) ซึ่งทำให้พวกเขาเกิดความเร่าร้อนใน การเกิด การแก่ การตาย การเศร้าโศก การร่ำไห้ และการคับแค้นใจ  สมณะและพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่พ้นไปจากความทุกข์

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากสมณะและพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เข้าใจและรู้แจ้งในอริยสัจ 4 ผู้นั้นย่อมไม่ยินดีในสังขาร (การปรุงแต่ง) เมื่อสังขารไม่ทำงาน การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏย่อมไม่มี ความเร่าร้อนจากการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย การเศร้าโศก การร่ำไห้ และการคับแค้นใจ ย่อมไม่เกิดขึ้น สมณะและพราหมณ์เหล่านั้นย่อมพ้นไปจากความทุกข์ เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริง (อริยสัจ 4)”

พระสูตรเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่น่ากลัวและมีความเร่าร้อนยิ่งกว่าขุมนรกคือการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ พระพุทธศาสนามองว่าการเวียนว่ายเป็นทุกข์ หากปล่อยให้จิตปรุงแต่ง (สังขาร) คิดว่าเราเป็นเรา สิ่งนี้สิ่งนั้นเป็นของ ๆ เรา ใครทำให้เราเจ็บปวด ก็ถือโกรธเคืองจดจำเป็นความแค้น แต่ตามจริงแล้ว ไม่มีเราและของ ๆ เรา การเข้าถึงนิโรธ การดับแห่งทุกข์ที่คัมภีร์นิยมเรียกว่า “ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” คือการเข้าใจในไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา อนัตตาหมายถึงการไม่มีตัวตน เป็นความว่างเปล่าที่ไม่มีอะไร (สุญญตา) เป็นอัมพยากตะ หรืออัมพยากฤต (ความเป็นอุเบกขา ไม่โน้นไปข้างหนึ่งข้างใดที่เป็นกุศลและอกุศล)

หากไม่ต้องการจะประสบพบกับสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าขุมนรก (สังสารวัฏ) การเข้าใจถึงอริยสัจ 4 เน้นนิโรธ การดับทุกข์ด้วยไตรลักษณ์ เข้าใจว่าเราไม่มีตัวตน เข้าใจว่าไม่มีสิ่งใดที่เราสามารถบ่งการหรือควบคุมให้เป็นไปได้ดั่งใจ เข้าใจว่าการไร้ซึ่งการปรุงแต่ง (คิด) ช่วยให้ยุติภพ-ชาติ หรือสังสารวัฏได้ ความเร่าร้อนและความน่ากลัวที่ยิ่งกว่าขุมนรกก็จะไม่มาเยือนอย่างแน่นอน

 

ที่มา : ปริฬาหสูตร


บทความน่าสนใจ

พระเนมิราช พระราชาผู้ท่องนรก-สวรรค์

ชีวิตต่างแดน ที่ เพื่อนสนิท ชวนว่าดี แต่แท้ที่จริงคือ ขุมนรก !

พระอรหันต์ฉุดช่วยให้พ้นจากการตกนรก

ทำไมพุทธทาสภิกขุถึงปฏิเสธนรก-สวรรค์และการเวียนว่ายตายเกิด

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : เราจะรู้ได้อย่างไรว่า นรก – สวรรค์ มีจริงหรือไม่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.