มารดาของพระกุมารกัสสปะ

มารดาของพระกุมารกัสสปะ

มารดาของพระกุมารกัสสปะ – ในกรุงราชคฤห์ เศรษฐีใหญ่ท่านหนึ่งมีธิดาซึ่งมีรูปร่างหน้าตางดงามและมีกิริยาวาจาดี ใครๆ ต่างพากันชื่นชมว่าเธอเป็นผู้มีบุญมาก เพราะเพียบพร้อมไปด้วยทุกสิ่งที่ชีวิตต้องการ

แต่กระนั้นธิดาของเศรษฐีก็ไม่ได้หลงใหลไปกับคำชมทั้งหลาย เพราะคิดว่าคำชมและคำตินั้นเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คนดีเขาก็ติได้ถ้าเขาไม่ชอบ ส่วนคนเลวเขาก็ชมได้ถ้าเขาชอบ เธอคิดว่าทางที่ดีที่สุดคือเขาจะติก็ช่าง จะชมก็ช่าง เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดดีกว่า บุญเราทำ กรรมเราไม่สร้าง เราก็มีความสุขใจของเราเอง เพราะความสุขใจและทุกข์ใจนั้น ใครทำแทนเราไม่ได้

เมื่อโตเป็นสาว เศรษฐีอยากให้ธิดาของท่านได้แต่งงาน แต่แม้จะมีชายหนุ่มมาสู่ขอมากมาย เธอก็ไม่สนใจ เพราะจิตใจของเธอมีแต่ความต้องการจะบวชเพื่อบำเพ็ญธรรมอย่างสงบ

ตัวเศรษฐีเองแม้ว่าเศรษฐีจะเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แต่ไม่อยากให้ลูกบวช อยากให้แต่งงาน มีบุตรธิดาสืบสกุลต่อไปมากกว่า

ธิดารู้ว่าคงจะหาทางออกไม่ได้แน่ จึงคิดว่าจะยอมแต่งงานกับใครสักคนหนึ่งที่จะสามารถเข้าใจเธอได้ และจะพยายามปรนนิบัติให้เขาเห็นใจ แล้วจึงค่อยขออนุญาตออกบวช เธอคิดว่าคงจะสำเร็จ ดังนั้นเธอจึงบอกบิดาว่าจะยอมแต่งงาน แต่ขอโอกาสเลือกและศึกษานิสัยใจคอชายผู้จะมาเป็นสามีสัก 3 เดือน

เมื่อข่าวแพร่ออกไป ปรากฏว่ามีชายมาสมัครให้คัดเลือก 7 คน ลูกเศรษฐีบ้าง ลูกอำมาตย์บ้าง ลูกเสนาบดีบ้าง

ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจเลือกชายหนุ่มคนหนึ่ง เป็นคนสุขุม ใจเย็น มีเหตุผล เขาไม่ให้สัญญาใดๆ กับเธอเลย เพียงแต่พูดว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เขาเป็นพุทธศาสนิกชนและเป็นบุตรเศรษฐีมีทรัพย์พอๆ กับบิดาของเธอ

เมื่อแต่งงานไปได้ไม่นานนัก ในเมืองก็มีงานนักขัตฤกษ์อย่างมโหฬาร ธิดาเศรษฐีซึ่งเป็นที่รักใคร่ของสามีมากขึ้นทุกวันก็ไม่ได้แต่งองค์ทรงเครื่องพิเศษอันใดในวันนักขัตฤกษ์นั้น เธอคงดำเนินไปตามปกติเหมือนไม่มีงานอะไร ครั้นสามีซักถาม เธอก็อธิบายว่า

“ร่างกายเต็มไปด้วยซากศพ 32 ประการ (อาการ 32) จะไปตกแต่งมันทำไม ไม่มีประโยชน์อะไร ร่างกายนี้ไม่ใช่เทวดาเนรมิต ไม่ใช่แก้วมณี ไม่ใช่ดอกบัว แต่เต็มไปด้วยสิ่งไม่สะอาด อาศัยพ่อแม่ต้องอาบน้ำดูแลประคบประหงมไว้ มีแต่จะแตกทำลายไปเป็นธรรมดา ถูกตัณหาเข้ายึดมั่น เป็นเหตุของความเศร้าโศก เป็นรังของโรค สุดท้ายก็มีความตายเป็นธรรมดา

“คนเขลาปราศจากปัญญา ถูกอวิชชาครอบงำ สำคัญมั่นหมายว่ากายนี้เป็นของงามน่าชื่นชม ที่แท้ร่างกายมีแต่โทษ ผู้ได้สดับพระพุทธพจน์แล้วย่อมรู้แจ้งเห็นชัดตามความเป็นจริงว่า กายที่ยังมีวิญญาณครองอยู่นี้ฉันใด กายที่ตายแล้วก็ฉันนั้น ข้าพเจ้าเห็นดังกล่าวมานี้จึงหมดความชื่นชมในกายทั้งของตนและของผู้อื่น”

สามีจึงพูดว่า “ถ้าเห็นโทษของกาย เบื่อหน่ายในกายปานนี้แล้ว ทำไมไม่บวชเสียเล่า”

ธิดาเศรษฐีดีใจเป็นล้นพ้น รีบเอ่ยปากขอบวชกับสามี เขาก็จัดพิธีบวชให้อย่างเต็มใจ เขาบอกว่าเพราะเขารักเธอมาก สิ่งใดที่ทำให้เธอมีความสุข เขายินดีทำให้ทุกอย่าง

ด้วยเหตุนี้เธอจึงได้บวชอยู่ในสำนักของพระเทวทัต ต่อมาเมื่อได้ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ ภิกษุณีผู้อาวุโสจึงไปเรียนให้พระเทวทัตทราบ พระเทวทัตตัดสินใจให้ธิดาเศรษฐีออกจากสำนัก ด้วยเกรงว่าจะเสื่อมเสียชื่อเสียง ภิกษุณีจึงพาธิดาไปยังเชตวันวิหารของพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องโดยตลอด ทรงรับสั่งให้พระอุบาลีผู้เลิศทางวินัยเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่า “อุบาลี เธอไปทำเรื่องนี้ให้เรียบร้อยตามความเป็นจริงเถิด”

พระอุบาลีได้ขอให้นางวิสาขามาตรวจ นางวิสาขาเป็นผู้มีบุตรมากจึงทราบอาการของผู้ตั้งครรภ์ดี เมื่อได้ตรวจดูมือ ดูปลายเท้า สะดือและท้องของเธอ รวมทั้งตรวจนับวันเดือนปีที่บวช แล้วก็รู้ด้วยความชำนาญว่าเธอตั้งครรภ์ก่อนอุปสมบท

ดังนี้ธิดาเศรษฐีจึงได้เป็นภิกษุณีอยู่ในสำนักแห่งพระพุทธเจ้า และเมื่อคลอดบุตรแล้ว เหล่าภิกษุณีทั้งหลายก็ได้ช่วยกันเลี้ยงดูทารกน้อย

วันหนึ่งพระราชาปเสนทิโกศลเสด็จพระราชดำเนินมาทางข้างสำนักภิกษุณี ทรงสดับเสียงทารกร้องจึงตรัสถามอำมาตย์ เมื่อทราบความโดยตลอดแล้ว จึงตรัสว่า

“การที่ภิกษุณีต้องเลี้ยงเด็กเป็นความกังวล เราจะรับเลี้ยงทารกนั้นเอง”

ตรัสเสร็จก็รับสั่งให้ธิดาเศรษฐีเข้าเฝ้าและทรงขอทารกไปเลี้ยงอย่างราชกุมาร ให้นามว่า “กุมารกัสสปะ”

ครั้นพอกุมารกัสสปะโตขึ้น เมื่อไปวิ่งเล่น เด็กทั้งหลายพากันเรียกเขาว่าเด็กกำพร้า เขาจึงทูลถามพระราชาว่าใครคือบิดามารดา พระราชาจึงทรงเล่าประวัติให้ฟัง กุมารกัสสปะรู้สึกสลดใจจึงทูลขอบวช โดยบวชเป็นเณรก่อน เมื่ออายุครบอุปสมบทแล้ว จึงได้อุปสมบทภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์

เมื่อบวชแล้วไม่นาน พระกุมารกัสสปะได้เรียนกรรมฐานในสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว จากนั้นจึงเข้าสู่ป่าบำเพ็ญธรรม แต่ก็ไม่สามารถบรรลุคุณวิเศษได้ จึงเดินทางกลับมาหาพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง โดยได้พักอยู่ที่ป่าอันธวัน

คืนนั้นเทพที่เคยร่วมบำเพ็ญธรรมกันมาได้มาขอให้พระกุมารกัสสปะทูลถามพระพุทธเจ้า มีความโดยย่อดังนี้

มีจอมปลวกอยู่จอมหนึ่ง กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นเปลว พราหมณ์คนหนึ่งให้สุเมธเอาศัสตรามาขุดจอมปลวก พอขุดลงไปก็พบเขียง ขุดต่อไปพบอึ่งอ่าง ทางสองแพร่ง เปือกตม เต่า ดาบ ชิ้นเนื้อ นาค เมื่อพบนาค พราหมณ์ก็บอกให้บูชานาคให้ดี

ตอนเช้าพระกุมารกัสสปะจึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและทูลถามปัญหาดังกล่าว พระพุทธเจ้าทรงแก้ปัญหานั้นว่า

จอมปลวกคือกาย และกลางคืนเป็นควันเพราะคิด ส่วนกลางวันเป็นเปลวเพราะการทำงาน พราหมณ์คือพระตถาคตเจ้า สุเมธคือพระเสขะ ศัสตราคืออริยปัญญา การขุดคือความเพียรสม่ำเสมอ เขียงคืออวิชชา อึ่งอ่างคือความโกรธ ความคับแค้น ทางสองแพร่งคือสงสัย เปือกตมคือนิวรณ์ 5 เต่าคืออุปาทานขันธ์ 5 ดาบคือกามคุณ 5 ชิ้นเนื้อคือความเพลินในกาม และนาคคือพระขีณาสพ

เมื่อพระพุทธเจ้าตอบปัญหาจบ พระกุมารกัสสปะก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

วันหนึ่งขณะพระกุมารกัสสปะออกบิณฑบาต ท่านได้พบกับธิดาเศรษฐีผู้เป็นมารดาของท่านโดยบังเอิญ เธอเห็นพระลูกชายก็ดีใจจนน้ำตาไหล ร้องเรียกว่า “ลูกๆ”

ธิดาเศรษฐีหวังว่าจะได้รับการปลอบประโลมจากลูกชาย ซึ่งต้องห่างกันไปนานถึง 12 ปี ใจของเธอเต็มไปด้วยความรัก ความคิดถึงตามประสาคนเป็นแม่ จึงเดินเหมือนวิ่งเข้าไปหา ทำท่าจะจับพระกุมารกัสสปะ แต่ซวนล้มลงเสียก่อน เธอหวังว่าลูกชายจะช่วยประคองให้ลุกขึ้น และปลอบว่า “แม่เป็นอย่างไรบ้าง” แต่พระกุมารกัสสปะกลับมองมารดาด้วยสายตาว่างเปล่า พลางพูดขึ้นว่า

“เที่ยวทำอะไรอยู่ตั้ง 12 ปี คงไม่ได้ขัดเกลาจิตใจเลย เพียงแต่ความรักก็ตัดไม่ได้”

ความเฉยเมยนั้นทำให้เธอเสียใจอย่างมาก คิดว่านี่หรือคือการตอบแทนของลูก ทำไมหัวใจช่างกระด้างเสียนี่กระไร ประโยชน์อะไรที่เราจะอาลัยอาวรณ์คนอย่างนี้

เมื่อคิดดังนี้แล้ว เธอก็ตัดความเสน่หาอาลัยอย่างเด็ดขาดได้ในวันนั้น และผลอันสูงสุดแห่งการบำเพ็ญพรหมจรรย์ก็มาถึง เธอได้บรรลุอรหัตผลในเย็นวันนั้นเอง

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  เก็บมาเล่าโดย ขวัญ เพียงหทัย

photo by nyochi on pixabay

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.