สภาวธรรมอันอัศจรรย์ที่เกิดแก่

สภาวธรรมอันอัศจรรย์ที่เกิดแก่ หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม

สภาวธรรมอันอัศจรรย์ที่เกิดแก่ หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม

ความก้าวหน้าในการภาวนาจิตของหลวงปู่สิงห์เกิดขึ้นในห้องเรียนซึ่งท่านทำหน้าที่ครูผู้สอน วันนั้นท่านเข้าสอนนักเรียนชั้นวิสามัญในโรงเรียนสร่างโศกเกษมศิลป์ตามปกติ ขณะที่ท่านกำลังอธิบายขยายความบทเรียนให้แก่ศิษย์ราว 38 คนอยู่นั้น จู่ ๆ ท่านกลับมองเห็นโครงกระดูกนั่งอยู่เต็มห้องไปหมด ศีรษะของเหล่าลูกศิษย์กลายเป็นเพียงกะโหลกเปลือยเปล่า ร่างกายก็ไม่มีเนื้อหนังหุ้มอยู่เลยแม้สักคนเดียว

แม้ท่านพยายามขยี้ตาเพื่อขับไล่อาการตาฝาด แต่ไม่ว่าขยี้ตาเพ่งพินิจอย่างไร ท่านก็เห็นร่างกายกลายเป็นโครงกระดูกอยู่เช่นนั้น ในที่สุดจิตจึงได้ตระหนักว่า สิ่งที่ตาได้มองเห็นนั้นเป็น “ความจริง” อย่างที่สุด สัจธรรมแห่งสังขารร่างกายกำลังแสดงธรรมแก่ท่าน หลวงปู่สิงห์จึงเกิดความสลดใจ เบื่อหน่ายต่อสังขารอย่างไม่มีความถือมั่นหลงเหลืออยู่แต่อย่างใด

สภาวธรรมที่เกิดแก่หลวงปู่สิงห์นับเป็นธรรมมหัศจรรย์ประการหนึ่ง ตามธรรมดาปฏิภาคนิมิตมักเกิดขณะผู้ปฏิบัติหลับตาอยู่ในฌาน แต่ในกรณีหลวงปู่สิงห์ท่านกลับเห็นนิมิตทั้งในขณะหลับตาและลืมตา  ท่านเห็นนิมิตเช่นนั้นอยู่เป็นเวลานาน จนเหล่าลูกศิษย์สงสัยว่าเหตุใดพระอาจารย์จึงนิ่งขึงไปเช่นนั้น เวลาผ่านไปพักใหญ่ จักษุประสาทของหลวงปู่สิงห์จึงได้กลับมารับรู้ภาพของเด็กนักเรียนที่มีเนื้อหนังห่อหุ้มโครงกระดูกเฉกเช่นคนปกติทั่วไปอีกครั้ง

ปฏิภาคนิมิตที่น่าอัศจรรย์ดังกล่าวบ่งบอกถึงความก้าวหน้าในการพิจารณาธรรมของหลวงปู่สิงห์ ท่านจึงตัดสินใจกล่าวอำลากับเด็กนักเรียนที่เป็นศิษย์ว่า

“นักเรียนทุกคน บัดนี้ครูจะได้ขอลาออกจากความเป็นครูตั้งแต่บัดนี้แล้ว เนื่องจากครูได้เกิดความรู้ในพระพุทธศาสนา ได้เห็นความจริงเสียแล้ว”

เมื่อตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งครู หลวงปู่สิงห์ปวารณาตนออกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยปณิธานอันมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว หลังจากที่ได้กราบถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นแล้ว หลวงปู่สิงห์ได้นำพระมหาปิ่น ปัญญาพโล ผู้เป็นน้องชายเข้ากราบมนัสการและฟังธรรมกับพระอาจารย์มั่นด้วย พระมหาปิ่นเกิดความศรัทธาถึงกับปฏิญาณว่า หลังจากไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯสัก 5 – 6 ปี แล้วท่านจะมาปฏิบัติธรรมด้วย


นิมิต 3 (เครื่องหมายสำหรับให้จิตกำหนดในการเจริญกรรมฐาน, ภาพที่เห็นในใจอันเป็นตัวแทนของสิ่งที่ใช้อารมณ์กรรมฐาน)

1. บริกรรมนิมิต (นิมิตแห่งบริกรรม, นิมิตตระเตรียมหรือนิมิตแรกเริ่ม ได้แก่สิ่งใดก็ตามที่กำหนดเป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน เช่น ดวงกสิณที่เพ่งดู หรือ พุทธคุณที่นึกเป็นอารมณ์ว่าอยู่ในใจเป็นต้น) ได้ในกรรมฐานทั้ง 40
2. อุคคหนิมิต (นิมิตที่ใจเรียน, นิมิตติดตา ได้แก่ บริกรรมนิมิตนั้นเพ่งหรือนึกกำหนดจนเห็นแม่นในใจ เช่น ดวงกสิณที่เพ่งจนติดตา หลับตามองเห็น เป็นต้น) ได้ในกรรมฐานทั้ง 40
3. ปฏิภาคนิมิต (นิมิตเสมือน, นิมิตเทียบเคียง ได้แก่ นิมิตที่เป็นภาพเหมือนของอุคคหนิมิตนั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากสัญญา เป็นเพียงอาการปรากฏแก่ผู้ได้สมาธิจึงบริสุทธิ์จนปราศจากสีเป็นต้น และไม่มีมลทินใดๆ ทั้งสามารถนึกขยายหรือย่อส่วนได้ตามปรารถนา) นิมิตนี้ได้เฉพาะในกรรมฐาน 22 คือ กสิณ 10 อสุภะ 10 กายคตาสติ1 และอานาปานสติ 1

เมื่อเกิดปฏิภาคนิมิตขึ้น จิตย่อมตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิ จึงชื่อว่าปฏิภาคนิมิตเกิดพร้อมกับอุปจารสมาธิ เมื่อเสพปฏิภาคนิมิตนั้นสม่ำเสมอด้วยอุปจารสมาธิก็จะสำเร็จเป็นอัปปนาสมาธิต่อไป ปฏิภาคนิมิตจึงชื่อว่าเป็นอารมณ์แก่อุปจารภาวนาและอัปปนาภาวนา

***อ้างอิงจาก  พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม – พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)***


ที่มา  ชุดสุดยอดสงฆ์ 2 : หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

ภาพ  dhammajak.net

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

อยากหมดทุกข์ต้องปฏิบัติทุกขณะ ธรรมะจากพระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรังสี)

สมาธิวิธี โดย พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม)

อานิสงส์ของการมีครู ธรรมะจาก หลวงปู่หลุย จันทสาโร

“รับความจริงได้ย่อมไร้ทุกข์” ธรรมะจาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปัญโญ

แก้กรรมด้วยตัวเอง ธรรมะจาก หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ


 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.