ญาณ ๑๖

ญาณ ๑๖ บันไดแห่งการบรรลุธรรม

ญาณ ๑๖ บันไดแห่งการบรรลุธรรม – การจะก้าวข้ามห้วงสังสารวัฏไปสู่พระนิพพาน มีเพียงการเจริญวิปัสสนาตามแนวทางของสติปัฏฐานทางเดียวเท่านั้น ต้องเริ่มจากการชำระศีลให้บริสุทธิ์เพื่อเป็นฐานของการเจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การมีปัญญา คือบรรลุพระนิพพานในที่สุด

การเจริญกรรมฐานเพื่อให้ถึงพระนิพพานต้องเจริญสติผ่านลำดับวิปัสสนาญาณ ดังนี้

๑. นามรูปปริจเฉทญาณ หมายถึง ญาณกำหนดแยกนามรูป คือรู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เพราะรู้แจ้งชัดซึ่งรูปนาม

๒. นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ หมายถึง ญาณรู้ว่ารูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัย และเป็นปัจจัยแก่กันและกัน

๓. สัมมสนญาณ หมายถึง ญาณที่เห็นสังขตลักษณะ คือ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของนามรูป และเริ่มเห็นไตรลักษณ์ เห็นตรุณอุทยัพพยญาณหรืออุทยัพพยญาณอย่างอ่อน วิปัสสนูปกิเลสจะเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้ ผู้เจริญกรรมฐานถึงขั้นนี้จะกำหนดยกรูปนามขึ้นพิจารณาให้เห็นเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน

๔. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณที่ตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนาม เห็นสันตติขาดจนเป็นเหตุทราบชัดว่า สิ่งทั้งปวงมีความเกิดขึ้นแล้วก็ล้วนแต่ต้องดับไปเป็นธรรมดา

๕. ภังคานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณที่ตามเห็นเฉพาะความดับเด่นขึ้นมาอย่างเดียว อุปาทะคือความเกิดขึ้น และฐิติคือความตั้งอยู่ ก็ยังมีอยู่ แต่ปรากฏไม่ชัดเจน เพราะวิปัสสนาญาณมีกำลังกล้าขึ้น รูปนามปรากฏเร็วขึ้น จึงเป็นเหตุให้พิจารณาเห็นชัดลงไปเฉพาะในส่วนแห่งความดับ อันเป็นจุดจบสิ้น ว่าสังขารทั้งปวงล้วนดับสลายไปสิ้น

๖. ภยตูปัฏฐานญาณ หมายถึง ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว ไม่แน่นอน ดุจกลัวต่อมรณะที่จะเกิดเพราะล้วนแต่ต้องแตกสลายไปทั้งสิ้น

๗. อาทีนวานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณคำนึงเห็นโทษภัยของสิ่งทั้งปวง ผันผวนปรวนแปร พึ่งพามิได้ คือเมื่อเห็นรูปนามล้วนแต่ดับสลายเป็นของน่ากลัวมาตามลำดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นว่า รูปนามทั้งปวงล้วนแต่เป็นทุกข์ เป็นโทษ

๘. นิพพิทานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณคำนึงเห็นด้วยความเบื่อหน่าย คือเมื่อเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามแล้ว ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ไม่รื่นเริง เพลิดเพลิน หลงใหลในรูปนาม

๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้อันใคร่จะพ้นไปเสีย เพราะพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษ และเกิดความเบื่อหน่ายในรูปนามที่ผ่านมา

๑๐. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทางหนี คือตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ไม่ย่อท้อ ใจหนักแน่นมั่นคง เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยวสู้ตาย

๑๑. สังขารุเปกขาญาณ หมายถึง ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางวางเฉยต่อสังขาร คือทราบชัดตามความเป็นจริงในรูปนามแล้วจึงเป็นผู้มีใจเป็นกลางวางเฉยได้

๑๒. สัจจานุโลมิกญาณ หมายถึง ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยัั่งรู้อริยสัจ สามารถเห็นไตรลักษณ์ด้วยภาวนามยปัญญาได้ (พิจารณาวิปัสสนาญาณทั้ง ๘ ที่ผ่านมาว่าเป็นทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์ก็เห็น สมุทัย นิโรธ มรรค โดยแต่ละญาณเป็นเหตุเกิดมรรคทั้ง ๘ ตามลำดับ)

๑๓. โคตรภูญาณ หมายถึง ญาณครอบโคตร คือหัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน (ถ้าเป็นอริยบุคคลแล้วจะเรียกว่า วิทานะญาณ) เห็นความทุกข์จนไม่กลัวต่อความว่าง ดุจบุคคลกล้าโดดจากหน้าผาสู่ความว่างเพราะรังเกียจในหน้าผานั้นอย่างสุดจิตสุดใจ

๑๔. มัคคญาณ หมายถึง ญาณในอริยมรรค

๑๕. ผลญาณ หมายถึง ญาณอริยผล

๑๖. ปัจจเวกขณญาณ หมายถึง ญาณที่พิจารณาทบทวน (ว่ากิเลสใดดับไป กิเลสใดยังเหลืออยู่ กิจที่ต้องทำยังมีอยู่หรือไม่ พิจารณาสัจจานุโลมิกญาณอีก)

 

ที่มา  ชุดสุดยอดสงฆ์ 1 : หลวงปู่ขาว สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.