โพชฌงค์

โพชฌงค์ พุทธวิธีเสริมสุขภาพกายและสุขภาพใจ

โพชฌงค์ พุทธวิธีเสริมสุขภาพกายและสุขภาพใจ

โพชฌงค์ หรือ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของคนทั่วไปได้ เป็นธรรมดาว่ากายกับใจนั้นเป็นสิ่งที่อาศัยกันและกัน พอกาย เจ็บป่วยไม่สบาย คนทั่วไปก็มักจะพานจิตใจไม่สบาย เศร้าหมอง กระวนกระวาย กระสับกระส่ายไปด้วย และในทำนองเดียวกัน เมื่อจิตใจไม่สบาย ก็พลอยให้กายไม่สบายไปด้วย เริ่มต้นตั้งแต่ รับประทานอาหารไม่ได้ ร่างกายเศร้าหมอง ผิวพรรณซูบซีด เป็นสิ่งที่เนื่องอาศัยกัน

โพชฌงค์มาจากคำว่า โพชฺฌ กับ องฺค หรือ โพธิ กับองค์ จึงแปลว่า องค์แห่งผู้ตรัสรู้ หรือองค์แห่งการตรัสรู้ก็ได้ พูดตาม ศัพท์ก็คือองค์แห่งโพธิ หรือองค์แห่งโพธิญาณนั่นเอง หมายถึง องค์ประกอบหรือหลักธรรมที่เป็นเครื่องประกอบของการตรัสรู้ หรือองค์ประกอบแห่งโพธิญาณ แสดงว่าหลักธรรมนี้สำคัญมาก เพราะเป็นธรรมที่จะช่วยให้เกิดการตรัสรู้

 

โพชฌงค์ มี 7 ประการด้วยกัน ได้แก่

 

 

องค์ประกอบที่ 1 “สติ”

สติมีหน้าที่ดึงหรือตรึงจิตไว้กับสิ่งนั้น ๆ ถ้าเราจะทำอะไร ก็ให้จิตระลึกถึงสิ่งนั้น ดึงเอาไว้เหมือนกับเชือก จิตนั้นเหมือนกับลิง หลักที่ผูก ไว้นั้นเหมือนกับสิ่งที่เราเกี่ยวข้องต้องทำในขณะนั้น จะเป็นกิจที่ ต้องทำหรือเป็นธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็คือหลักนั้น เชือกที่ผูก ก็คือสติ สติเป็นตัวที่ผูกจิตไว้กับหลักหรือสิ่งนั้น ดึงไว้ คุมไว้ กำกับไว้ ไม่ให้หลุดหายไป

 

องค์ประกอบที่ 2 “ธัมมวิจยะ”

แปลว่า การวิจัยธรรม วิจัยนั้นแปลว่า การเฟ้นหรือเลือกเฟ้น คือการ ใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณา สอดส่อง ค้นคว้า ธรรม ก็คือ ความ จริง ความถูกต้อง สิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล หรือ คำสอนที่ให้ความรู้เกี่ยวกับความจริง ความถูกต้องดีงาม และสิ่งที่ เป็นประโยชน์เกื้อกูลนั้น

 

 

องค์ประกอบที่ 3 “วิริยะ”

วิริยะ หรือความแกล้วกล้านี้ หมายถึง พลังความเข้มแข็ง ของจิตใจที่จะเดิน ที่จะก้าวหน้าต่อไป ถึงจะเผชิญอุปสรรค ความยุ่งยาก ความลำบาก ถึงจะเป็นงานหนัก หรือมีภัย ก็ไม่ ครั่นคร้าม ไม่หวั่นหวาด ไม่กลัว ใจสู้ ไม่ย่อท้อ ไม่ท้อถอย และไม่ท้อแท้ มีกำลังประคับประคองใจของตัวเองไว้ไม่ให้ถอย อันนี้เรียกว่าวิริยะ ก็เป็นหลักสำคัญ เป็นตัวกำลังความเข้มแข็ง เป็นองค์ประกอบที่จะให้ทำได้สำเร็จ

 

องค์ประกอบที่ 4 “ปีติ”

ปีติ แปลว่า ความอิ่มใจ หรือ ความดื่มด่ำ ความซาบซึ้ง ปลาบปลื้ม จิตใจของเราก็ต้องการ อาหารหล่อเลี้ยงคล้ายกับร่างกายเหมือนกัน ปีตินี้เป็นอาหาร หล่อเลี้ยงสำคัญของจิตใจ

 

 

องค์ประกอบที่ 5 “ปัสสัทธิ”

ปัสสัทธิ แปลว่า ความ ผ่อนคลาย หรือสงบเย็น ไม่กระสับกระส่าย ไม่เครียด ท่าน แบ่งเป็นกายผ่อนคลายกับใจผ่อนคลาย หรือสงบเย็นกายกับสงบ เย็นใจ คือไม่กระสับกระส่าย ไม่เขม็งเครียด สงบเย็นกาย ท่านหมายเอาลึกซึ้งถึงการสงบผ่อนคลายของกองเจตสิก แต่เรา จะถือเอาการสงบผ่อนคลายของร่างกายธรรมดาก็ได้ง่าย ๆ

 

องค์ประกอบที่ 6 “สมาธิ”

สมาธิ แปลว่า ความตั้งจิตมั่น หรือแน่วแน่อยู่กับสิ่งนั้น ๆ ถ้าพิจารณาสิ่งใด ก็ให้จิตใจแน่วแน่ จับอยู่ที่สิ่งนั้น ถ้าทำกิจทำงานอะไร ก็ให้ใจของเราแน่วอยู่กับสิ่งนั้น อย่างที่เรียกว่า ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับงาน อันนี้เรียกว่าสมาธิ

 

 

องค์ประกอบที่ 7 “อุเบกขา”

อุเบกขา แปลกันง่าย ๆ ว่า ความวางเฉย ความวางเฉยในที่นี้หมายถึง ความเรียบสงบของจิตที่เป็น กลาง ๆ ไม่เอนเอียงไปข้างโน้นข้างนี้ และเป็นความเฉยรู้ คือรู้ทัน จึงเฉย ไม่ใช่เฉยไม่รู้ หรือเฉยเพราะไม่รู้ เป็นการเฉยดูอย่าง รู้ทัน และพร้อมที่จะทำการเมื่อถึงจังหวะ

 

ส่วนหนึ่งจากหนังสือ กายหายไข้ ใจหายทุกข์

 

สั่งซื้อออนไลน์ คลิก


บทความน่าสนใจ

อานิสงส์ของการเจริญ โพชฌงค์

บทสวดพร้อมคำแปล  โพชฌังคปริตร  ที่เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ มีพระดำรัสถึง

ความจริงเกี่ยวกับ โพชฌังคปริตร บทสวดที่ไม่เหมาะกับการสวด!

บทสวดโพชฌังคปริตร (แปล)

ท่านพุทธทาสภิกขุระงับ โรคหัวใจวาย และน้ำท่วมปอดด้วยธรรมโอสถของพระพุทธเจ้า

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.