ลี กาชิง

คุณค่าของการอ่านจาก ลี กาชิง “ซูเปอร์แมนแห่งฮ่องกง”

คุณค่าของการอ่านจาก ลี กาชิง – สุภาษิตจีนบทหนึ่งกล่าวว่า “หนังสือเปรียบเหมือนสวนทั้งสวนที่เราพกใส่กระเป๋าได้”

เลดี้ แมรี เวิร์ทลีย์ มอนตากู นักเขียนสตรีผู้โด่งดังในสมัยศตวรรษที่ 18 ก็กล่าวไว้ว่า “ไม่มีความบันเทิงใดที่มีราคาถูกและให้ความสำราญที่เนิ่นนานได้เท่ากับการอ่าน”

ส่วนมาร์ก ทเวน นักเขียนชื่อดัง ก็มีคติชีวิตที่แสนเรียบง่ายว่า “มีเพื่อนดี ได้อ่านหนังสือดี และนอนหลับสนิท คือชีวิตในอุดมคติของผม”

โลกเรามีคำคม สุภาษิต ตลอดจนคำบอกเล่าที่สะท้อนให้เห็นคุณค่าของการอ่านหนังสือมากมาย ซึ่งคงไม่มีใครที่จะเข้าอกเข้าใจถ้อยคำเหล่านี้ได้เท่ากับหนอนหนังสือด้วยกันเอง สำหรับนักอ่านหนังสือมีคุณค่ามหาศาล เป็นทั้งเพื่อนที่ส่งเราเข้านอนและเป็นครูที่สอนเรื่องเดิมซ้ำๆ ได้ไม่มีเบื่อ และสำหรับลี กาชิง (Li Ka-shing) มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดของเอเชีย อาจกล่าวได้ว่า การอ่านคือสิ่งที่สร้างชีวิตของเขา

ลี กาชิง
เครดิตภาพ @lksf.org

ลี กาชิงเกิดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1928 ที่เฉาโจว จังหวัดกว่างตง ประเทศจีน พ่อเป็นครู ส่วนแม่เป็นแม่บ้านธรรมดา ตอนอายุ 12 ลี กาชิงและครอบครัวต้องลี้ภัยสงครามไปอยู่ที่ฮ่องกง ไม่นานหลังจากนั้น พ่อของเขาก็เสียชีวิตลงด้วยโรคตับอักเสบ เวลานั้นเขาติดเชื้อไวรัสตับอักเสบด้วย และยังต้องลาออกจากโรงเรียนเพื่อทำงานหารายได้มาจุนเจือในครอบครัว ลี กาชิงบอกว่า การตายของพ่อคือประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในวัยเด็ก มันทำให้เขาได้รู้จักรสชาติของความยากจนอย่างถึงแก่น ซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันในชีวิตช่วงต่อมาของเขา

หลังจากพ่อเสียชีวิต ลี กาชิงไปอาศัยอยู่กับลุงซึ่งมีฐานะร่ำรวย แต่เขายังคงต้องทำงานหนัก ตอนอายุ 14 เขาเริ่มทำงานเต็มเวลาด้วยการรับจ้างเป็นลูกมือในร้านทำสายนาฬิกา ตอนอายุ 15 เขาทำงานเป็นลูกจ้างเต็มเวลาในโรงงานผลิตพลาสติกแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องทำงานนานถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน และตั้งแต่ลาออกจากโรงเรียนตอนอายุ 12 ลีก็ไม่เคยเรียนหนังสือในโรงเรียนอีกเลย แต่เขาชอบอ่านหนังสือมาก ไม่ว่าอยากรู้เรื่องอะไรก็ตาม ลี กาชิงจะหาอ่านจากหนังสือเสมอ

ช่วงทศวรรษ 1950 หลังจากที่เขาเรียนรู้ขั้นตอนการผลิตในโรงงานพลาสติกอย่างหมดไส้หมดพุงแล้ว เขาได้ความรู้จากข่าวและหนังสือแนวเศรษฐกิจว่า ในอนาคตพลาสติกสีจะเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงมากในตลาด เขาจึงตั้งใจว่าจะสร้างโรงงานพลาสติกที่มีการพัฒนาด้านการย้อมสี เพื่อให้สามารถผลิตของเล่นและดอกไม้พลาสติกที่เลียนแบบของจริงได้เหมือนมากที่สุด และมีราคาที่สามารถแข่งขันในตลาดได้

ลี กาชิง
เครดิตภาพ @straitstimes.com

ด้วยเงินทุนประมาณ 8,700 ดอลลาร์สหรัฐที่ขอยืมมาจากครอบครัวและเพื่อนๆ ลี กาชิงก็ได้ก่อตั้งบริษัท Cheung Kong Industries ของตนเองขึ้น เงินจำนวนนี้เป็นเงินจำนวนเพียงเล็กน้อย พอแค่ซื้อรถหรูๆ ได้สักคันเท่านั้น แต่เขาก็ทุ่มเงินจ้างนักวิจัยที่ดีที่สุดมาทำงานกับบริษัท หลังจากนั้นลี กาชิงก็ดิ้นรนหาทางติดต่อผู้ซื้อชาวต่างประเทศให้มาเยี่ยมโรงงานเล็ก ๆ ของเขา ไม่นานนักโรงงานก็ได้ออร์เดอร์จากผู้ซื้อรายใหญ่ และอีกเพียงสองสามปีต่อมา บริษัทของเขาก็เป็นผู้ผลิตและส่งออกดอกไม้พลาสติกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย หลังจากนั้นเขาก็ขยายงานไปจับธุรกิจด้านพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์

จุดเปลี่ยนที่สำคัญมาถึงในช่วงปลายทศวรรษ 1960 เนื่องจากขณะนั้นฮ่องกงประสบปัญหาด้านการเมืองอย่างรุนแรง มีการประท้วงและการวางระเบิดไม่เว้นแต่ละวัน ชาวฮ่องกงจำนวนมากขอเปลี่ยนสัญชาติและอพยพไปอาศัยในประเทศอื่น ทำให้ราคาบ้านและที่ดินในฮ่องกงตกต่ำอย่างหนัก ทว่าตลอดระยะเวลานั้น ลี กาชิงเชื่อว่าปัญหานี้เป็นปัญหาชั่วคราวและยังมีความเชื่อมั่นในบ้านเมืองของตัวเอง เขาจึงกว้านซื้อที่ดินหลายต่อหลายผืนซึ่งมีราคาถูกกว่าปกติหลายเท่า ต่อมาเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ราคาที่ดินก็ตีกลับ ทำให้ลี กาชิง มั่งคั่งขึ้นอย่างมาก จนติดทำเนียบมหาเศรษฐีของฮ่องกง

ลี กาชิงเป็นพ่อค้าที่มีความสามารถอย่างหาตัวจับยาก ไม่ว่าจะทำธุรกิจด้านใดก็เจริญไปหมด จนได้รับฉายาว่า “ซูเปอร์แมนแห่งฮ่องกง” ในปี ค.ศ. 1979 เขาเข้าซื้อหุ้นใหญ่ของ ฮัทชิสัน วัมเปา (Hutchison Whampoa) บริษัทสัญชาติอังกฤษซึ่งทำธุรกิจหลายประเภท เช่น การค้าปลีก ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ต่อมาบริษัทนี้ก็สยายปีกครอบคลุมธุรกิจสื่อสารของฮ่องกงเกือบทั้งหมด

นอกจากนี้ คุณสมบัติสำคัญอีกอย่างของนักธุรกิจผู้นี้ก็คือ ทัศนวิสัยที่กว้างไกลและการตัดสินใจที่เฉียบขาด ซึ่งได้มาจากการอ่านอีกเช่นกัน เช่น ในปี 2007 ลี กาชิงใช้เวลาตัดสินใจแค่ 5 นาทีเท่านั้นในการให้ทุนมูลค่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่บริษัทเฟซบุ๊ก ซึ่งขณะนั้นเพิ่งจะก่อตั้งและยังไม่มีวี่แววว่าจะประสบความสำเร็จมีมูลค่าหลายหมื่นล้านอย่างในปัจจุบัน

ลี กาชิง
เครดิตภาพ @theglobeandmail.com

เวลานี้เขามีธุรกิจครอบคลุมทั้งโลจิสติกส์ ไฟฟ้า โทรคมนาคม ก่อสร้าง การค้าปลีก (รวมทั้งร้านวัตสัน) สินค้าอุปโภคบริโภค ธนาคาร พลังงาน เทคโนโลยี ห้องวิจัยและการคิดค้นนวัตกรรม อีกทั้งยังลงทุนในประเทศอื่นๆ อีกมากมาย ไม่เฉพาะในเอเชียเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องการทำธุรกิจ ไม่มีอะไรจะสำคัญไปกว่าการทำงานหนัก ลี กาชิงเคยให้สัมภาษณ์กับ ฟอร์บส์ ไว้ว่า “สำหรับนักธุรกิจหนุ่มสาวสมัยนี้ การทำงานหนักสำคัญกว่าโอกาสมาก ถ้าคุณไม่ทำงานหนัก โอกาสก็จะหลุดลอยไป”

นอกจากตำนานความสำเร็จด้านธุรกิจแล้ว อีกเรื่องที่คนจดจำเขาได้ดีไม่แพ้กันก็คือ วิถีชีวิตอันเรียบง่าย เพราะ ลี กาชิง ค่อนข้างต่างจากมหาเศรษฐีส่วนใหญ่ตรงที่ไม่มีรสนิยมหรูหรา ไม่ใช้ของแบรนด์เนม ไม่ใส่เสื้อผ้า สูท นาฬิกา รองเท้า ราคาแพง และชอบทำการกุศลมาก

ลี กาชิง ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2006 ว่า เขาจะมอบสมบัติ 1 ใน 3 ให้กับองค์กรการกุศลทั่วโลก จนถึงปัจจุบันเขาบริจาคเงินไปแล้วมากกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นมหาเศรษฐีคนหนึ่งในโครงการ The Giving Pledge ที่ปฏิญาณว่า จะบริจาคเงินอย่างน้อยร้อยละ 50 เพื่อการกุศลทั้งตอนที่มีชีวิตอยู่และเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว

ด้านชีวิตส่วนตัวนั้น เขาแต่งงานกับลูกสาวของลุงที่เป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุยี่สิบกว่าๆ หลังจากที่ภรรยาเสียชีวิตไปเมื่อ 28 ปีที่แล้ว เขาก็ไม่เคยแต่งงานใหม่ ลี กาชิง มีลูกชายสองคน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้สืบทอดอาณาจักรธุรกิจที่เขาไว้วางใจ และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเขาได้ประกาศวางมือจากธุรกิจโดยมอบหมายให้นายวิกเตอร์ ลี บุตรชายคนโตเข้ามาบริหารแทน

ลี กาชิง
ลี กาชิง กับลูกชายคนโต วิกเตอร์ ลี – เครดิตภาพ @scmp.com

ทุกวันนี้ ลี กาชิง ในวัย 90 ปียังคงมีสุขภาพดีกว่าคนวัยเดียวกันมาก เขาเล่าว่า ไม่ว่าจะทำงานหนักขนาดไหน แต่ก็จะตื่นก่อน 6 โมงเช้าทุกวัน เขาจะเริ่มต้นวันด้วยการตีกอล์ฟหนึ่งรอบกับเพื่อนสนิท นอกจากนี้เขายังชอบกินผักกินอาหารสุขภาพ และนอนหลับสนิทเป็นเวลา 8 ชั่วโมง

และแน่นอนว่า เขายังคงมีหนังสือเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด ไม่มีวันไหนที่เขาไม่อ่านหนังสือ ลี กาชิงบอกว่า “ผมรู้ว่าจะหาความสงบในหัวใจและจิตวิญญาณได้จากที่ไหน…ถ้าไม่ค่อยมีเวลาไปพักผ่อนตากอากาศ ผมก็จะอ่านหนังสือ”

ดังนั้น ถ้าอ่านเป็นและไม่หยุดอ่าน เราก็อาจเป็นเหมือนเขาหรืออาจจะยิ่งกว่าเขาก็เป็นได้

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  Violet

ภาพ  thenational.ae

Secret Magazine (Thailand)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.