อริยทรัพย์

อริยทรัพย์ คือที่พึ่งทั้งในชาตินี้และชาติหน้า บทความธรรมะโดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

อริยทรัพย์ คือที่พึ่งทั้งในชาตินี้และชาติหน้า – ชีวิตของปุถุชนต่างดิ้นรนไขว่คว้า  แสวงหาแต่สิ่งที่เอาไปไม่ได้

เราต่างถูกแรงจูงใจทางโลกให้แสวงหาทรัพย์สมบัติ  ไม่ว่าจะเป็นเงิน  บ้าน  ที่ดิน  รถ  ตลอดจนเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อการอุปโภคบริโภค  ไม่เพียงแต่   ใช้ในการยังชีพขั้นพื้นฐานเท่านั้น  ยังรวมถึงการหามาเพื่อเป็นเครื่องส่งเสริมความเป็นอยู่ให้สะดวกสบายและอวดฐานะให้เด่นกว่าผู้อื่นอีกด้วย

ในการนี้เราต่างตั้งหน้าตั้งตาศึกษาหาความรู้เพื่อนำมาประกอบอาชีพ   ทุ่มเทเวลาศักยภาพอย่างเต็มที่ แม้จะเหน็ดเหนื่อยลำบากตรากตรำกับการงานก็ไม่ท้อ   เพื่อเงิน  ตำแหน่งหน้าที่อันจะเป็นช่องทางให้ได้มาซึ่งสมบัติวัตถุ  ยิ่งได้มากเพียงใดก็ยิ่งคิดว่าตนเองมีความสามารถ  มีความสำเร็จในชีวิตมากเพียงนั้น

ทรัพย์สินเงินทอง  ใคร ๆ ต่างปรารถนาเพื่อใช้ในการเลี้ยงดูชีวิต  จะได้ไม่อดอยากยากไร้  และเลี้ยงดูบุคคลที่เกี่ยวข้อง  แต่การหาทรัพย์นั้นต้องแลกด้วยความทุกข์ กว่าจะได้มาก็ต้องเหนื่อยยาก  ได้มาแล็วก็เป็นภาระในการดูแลรักษา  ไม่ให้เสื่อมสลายไปก่อนเวลาอันควร    ครั้นเสียหายสูญสิ้นไปไม่สมดังคาดหวังก็ยิ่งทุกข์ใจ

อย่างไรก็ตาม  สมบัติวัตถุตลอดจนสิ่งที่เราได้  มี  เป็น    โดยธรรมชาติแล้วต้องวิบัติพลัดพรากจากเราไปในที่สุด  ไม่เราจากไปกอ่ น  สิ่งนั้นก็จากเราไปก่อน  โดยเฉพาะในวาระสุดท้ายของชีวิตเมื่อตายไป  เราเอาสิ่งดังกล่าวไปไม่ได้เลย

เราจึงหาเพื่อทิ้ง หากจะได้ประโยชน์จากการใช้สอย ก็เฉพาะในช่วงที่เรามีชีวิตอยู่เท่านั้นเอง

ยังมีทรัพย์ที่ประเสริฐกว่าทรัพย์สมบัติ นั่นคือ อริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ที่อยู่ภายในตัวเรา  อยู่คู่กับเราและมีผลเกื้อกูลต่อชีวิตของเราทั้งในชาตินี้และชาติหน้า    เป็นทรัพย์ที่เอาไปได้

อริยทรัพย์มี 7 อย่าง  ได้แก่    ศรัทธา  ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ และปัญญา

1. ศรัทธา  คือความเชื่อ    หมายถึงเชื่อในเรื่องของกรรม    โดยเชื่อว่า

1) ทำดีย่อมได้ดี  ทำชั่วย่อมได้ชั่ว   ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น    เหมือนอ้อยย่อมให้รสหวาน    บอระเพ็ดย่อมให้รสขม

2) เชื่อในผลของกรรมที่ตนทำไว้  หากเป็นกรรมดีจะตอบสนองในทางที่เป็นคุณ  ส่วนกรรมชั่วจะตอบสนองในทางที่เป็นโทษ

3) เชื่อว่าสัตว์โลกมีกรรมเป็นของตน  ที่ได้  มี  เป็นกันอยู่ในปัจจุบัน  ล้วนเป็นผลมาจากกรรมที่ตนทำไว้ทั้งสิ้น

4) เชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่าเป็นทางที่จะนำสัตว์โลกไปสู่ความพ้นทุกข์ได้จริง

ความเชื่อดังกล่าวจะช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง    ไม่ทำกรรมชั่ว  และมีกำลังใจที่จะทำความดี  รวมทั้งมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า  เพื่อเป็นทางนำพาชีวิตไปสู่ความพ้นทุกข์

2. ศีล  ได้แก่  การประพฤติสุจริตทางกาย  ทางวาจา    และทางใจ  ทางกายนั้น  คือ  ไม่มีเจตนาฆ่าสัตว์  ลักทรัพย์    ประพฤติผิดในกาม  ทางวาจา  คือ  ไม่มีเจตนาพูดโกหก    พูดส่อเสียด  พูดคำหยาบ  พูดเพ้อเจ้อ  ทางใจ  คือ  ไม่มีเจตนาเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน (ความโลภ)  ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น (ความโกรธ)  ไม่เห็นผิดไปจากครรลองคลองธรรม    (ความหลง)

หากรักษาศีลได้ก็ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและไม่ต้องมีวิบากกรรมอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นมาเบียดเบียนตน  คนที่มีศีลย่อมเป็นที่ไว้วางใจของคนรอบข้าง  จะทำการสิ่งใดก็สำเร็จ ได้ง่ายเพราะมีคนรักเมตตาคอยสนับสนุน

3. หิริ คือความละอายต่อบาป สามารถควบคุมตนเองได้โดยไม่ต้องมีกฎระเบียบหรือผู้อื่นมาควบคุม  เพราะจิตได้ยกระดับขึ้นสูงแล้ว  ย่อมมีเมตตาที่จะไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น   ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

4. โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป  เพราะเชื่อเรื่องผลของกรรม  โดยเชื่อว่าหากตนทำบาปอกุศล  โดยไปทำร้ายทำลายผู้อื่นแล้ว  จะต้องได้รับผลแห่งการกระทำตอบสนองในภายหลัง  ซึ่งอาจรุนแรงยิ่งกว่าทำกับผู้อื่นด้วย  เช่น    ต้องไปตกนรก  เป็นต้น

5. พาหุสัจจะ ได้แก่การเป็นผู้ได้ยินได้ฟังศึกษามามาก    มีความอ่อนน้อมถ่อมตนที่จะเข้าไปศึกษาหาความรู้จากผู้รู้    (สัตบุรุษ)  เปิดใจรับความรู้ต่าง ๆ มาพิจารณา  เกิดเป็นปัญญาชั้นต้น  เรียกว่า  สุตมยปัญญา  จากนั้นนำความรู้ที่ได้รับมาวิเคราะห์  จัดระบบความรู้จนสามารถต่อยอดเป็นความรู้ของตนได้  เรียกว่า  จินตามยปัญญา  ความรู้ทำให้คนเราเฉลียวฉลาดอาจอง  ไม่ถูกชักจูงไปในทางที่ผิด

6. จาคะ ได้แก่  การมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  เสียสละ    แบ่งปันทรัพย์ของตนให้กับผู้อื่น  ไม่เห็นแก่ตัว  ไม่คิดเอาเปรียบผู้อื่น  เป็นจิตที่มีเมตตาปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจาก ความทุกข์เดือดร้อน  เป็นที่พึ่งของผู้ที่มีทุกข์มีภัย  บุคคลดังกล่าวย่อมเป็นที่รักของผู้ที่สัมพันธ์ด้วย

7. ปัญญา ได้แก่  เป็นผู้รู้ที่สามารถแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ รู้ว่าสิ่งใดดีมีสาระ  เป็นบุญกุศล  เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์เกื้อกูลต่อผู้อื่น  ก็จะทำสิ่งนั้นโดยไม่ท้อถอย    เช่นเดียวกับที่รู้ว่าสิ่งใดไม่มีสาระ  เป็นบาปอกุศล  เป็นการ เบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่น  ก็จะหักห้ามใจไม่ทำสิ่งนั้น

นอกจากนี้ยังมีปัญญาที่จะฝึกหัดขัดเกลาตน  เอาชนะความชั่ว  ทำแต่ความดี  เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตและสิ่งทั้งหลายว่าเกิดขึ้น  ตั้งอยู่  และดับไปตามเหตุปัจจัย  ซึ่งจะช่วยให้คลายจากความยึดมั่นสำคัญผิด  อันเป็นเหตุแห่งทุกข์  ทำให้ทุกข์เบาบางลงได้

เราต่างแสวงหาทรัพย์สมบัติกันมามาก  บางครั้งก็ใช้วิธีการฉ้อฉลผิดกฎหมายและศีลธรรมเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์   และบางคราวทรัพย์นั้นกลับย้อนมาทำร้ายทำลายตนจนถึงแก่ชีวิตก็มี  อย่างไรก็ตาม  ทรัพย์ที่หามาได้ก็เพื่อใช้ยังชีพเฉพาะในชาตินี้เท่านั้น  บางส่วนก็มีผู้อื่นมาใช้  มาแย่งชิง  มาโกงเอาไป

ที่เหลือจากการใช้ไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใด เมื่อตายไปก็ต้องทิ้งทรัพย์เหล่านั้นไว้ เอาไปไม่ได้เลย

ถึงเวลาหรือยังที่เราควรแสวงหาอริยทรัพย์เพื่อเป็นที่พึ่งทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เป็นทรัพย์ที่ไม่มีใครมาแย่งชิงจากเราไปได้ เป็นทรัพย์อันประเสริฐที่จะนำพาชีวิตของเราไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างแท้จริง

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

photo by geralt on pixabay

Secret Magazine (Thailand)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.