มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ

ปฏิวัติวิถีเกษตรแบบ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ

ปฏิวัติวิถีเกษตรแบบ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ

หลายทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อมนุษย์เริ่มนำปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช เครื่องจักรทางการเกษตร ฯลฯ มาใช้ใน การปฏิวัติเขียว (The Green Revolution) ผลลัพธ์ที่ได้ นอกจากจะเพิ่มจำนวนผลผลิตและเสริมสร้างคุณภาพได้มากกว่าระบบเกษตรแบบดั้งเดิมแล้ว ยังกลายเป็นกระแสหลักของการเกษตรในเกือบทุกประเทศอีกด้วย แต่ในอีกมุมหนึ่งการปฏิวัติเขียวได้ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในทางลบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้มาจนถึงปัจจุบัน

นั่นจึงเป็นสาเหตุว่า เหตุใดคนเอเชียอย่าง มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ จึงต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติโลก

 

มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ

 

มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ เกิดเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1914 ในหมู่บ้านเล็กๆ บนเกาะชิโกะกุทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เขาจบการศึกษาทางจุลชีววิทยา (Microbiology) และเชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านพยาธิวิทยาสภาพของพืช

เมื่อว่างเว้นจากการคลุกคลีในห้องทดลองของแผนกวิจัยพืช กรมศุลกากรเมืองโยะโกะฮะมะ ฟูกูโอกะใช้ชีวิตเหมือนคนหนุ่มทั่วไปที่เที่ยวเล่นเตร็ดเตร่ไปวันๆ จนวันหนึ่งฟูกูโอกะที่มีอายุเพียง 25 ปี เกิดล้มป่วยลงด้วยโรคปอดอักเสบ

การป่วยครั้งนั้นทำให้เขาย้อนคิดทบทวนถึงชีวิตที่ผ่านมา ชีวิตที่เป็นทาสของวัตถุเหมือนใครหลายๆ คน เสพทุกอย่างที่เข้ามาตามกระแสจนลืมเรื่องของร่างกายและความหมายของชีวิตที่แท้จริงซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติไป

ฟูกูโอกะเฝ้าคิดไตร่ตรองวันแล้ววันเล่า จนเช้าวันรุ่งขึ้นท่ามกลางสายลมที่พัดผ่าน ต้นหญ้าสีเขียวระบัดใบ ฟูกูโอกะได้ค้นพบกุญแจในการเข้าถึงความหมายนั้นด้วย การรู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นหรือเชื่อมั่นอย่างที่เคยเป็น เพราะโลกนี้แท้จริงไม่มีอะไรเป็นแก่นสารเลย ณ เวลานั้นเขาจึงตัดสินใจปฏิวัติวิถีชีวิตใหม่

 

มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ

 

หลังจากยื่นใบลาออก ฟูกูโอกะกลับมาเริ่มชีวิตใหม่ที่บ้านเกิดบนเกาะชิโกะกุ…ชีวิตที่เป็นอิสระ หลุดพ้นจากพันธนาการทางความคิดและการยึดติด เช่นที่เป็นมา ฟูกูโอกะปฏิเสธแนวคิดเกษตรกระแสหลัก ด้วยการปล่อยให้ต้นไม้เจริญเติบโตเองตามธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงไม่ว่าวิธีการใดๆ เพราะท้ายที่สุดแล้วเขาเชื่อว่า ผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ต่างกัน

แม้ในตอนเริ่มต้นที่เริ่มใช้วิธีการนี้ พืชพันธุ์จะพากันล้มตายกันยกไร่ แต่ฟูกูโอกะก็ยังเชื่อมั่นในพลังแห่งธรรมชาติอย่างเต็มเปี่ยม เพียงแต่ว่า เขาต้องเรียนรู้ธรรมชาติให้มากกว่านี้ เข้าใจวัฏจักรของพืชแต่ละชนิดอย่างแท้จริง ไม่มองข้ามรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในท้องทุ่งอย่างฟางข้าว ดังที่ฟูกูโอกะกล่าวไว้ว่า

“การปฏิวัติสามารถเริ่มต้นจากฟางข้าวเพียงเส้นเดียว ดูเผินๆ ฟางข้าวนี้อาจจะดูบอบบาง ไร้น้ำหนัก และไม่มีความสลักสำคัญอะไร จึงยากที่ใครจะเชื่อว่า มันสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติ”

ฟูกูโอกะใช้ฟางข้าวคลุมดินเพื่อเก็บความชุ่มชื้นและปกป้องเมล็ดพันธุ์จากสัตว์ วัชพืช เมื่อถึงเวลาต้นอ่อนของพืชจะแทงยอดฝ่าฟางข้าวอันอ่อนนุ่มขึ้นมาได้เอง ก่อนที่ฟางจะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดินต่อไป

วิถีเกษตรแบบ “ไม่กระทำ” ของฟูกูโอกะ ซึ่งประกอบด้วย ไม่ไถพรวนดิน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยหมัก ไม่กำจัดวัชพืช และ ไม่ใช้สารเคมี รวมทั้งการย้อนกลับมาใช้ประโยชน์จากฟางข้าว ก็ส่งผลลัพธ์อย่างน่าพึงพอใจ เมื่อนาข้าวและพืชผลของฟูกูโอกะให้ผลผลิตในปริมาณสูงไม่แพ้การเกษตรกระแสหลัก ซ้ำยังประหยัดแรงงาน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงยังรักษาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ได้อย่างดีอีกด้วย

 

มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ

 

ความสำเร็จนี้มีที่มาจากความเข้าใจในธรรมชาติและความอ่อนน้อมถ่อมตนของฟูกูโอกะอย่างแท้จริง แม้มนุษย์จะได้ชื่อว่าเป็นนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกจนสามารถเอาชนะธรรมชาติได้ แต่ที่สุดแล้วชัยชนะนั้นกลับย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเอง

จะดีกว่าไหม หากมนุษย์จะลด ละ เลิกความมักง่าย ความรุนแรงที่กระทำต่อธรรมชาติ หันมาใช้ความเข้าใจ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันแทน เพราะเมื่อวันสุดท้ายของชีวิตมาถึงมนุษย์ทุกคนก็ต้องคืนกลับสู่ธรรมชาติอยู่ดี สอดคล้องกับความคิดรวบยอดของฟูกูโอกะที่สรุปไว้อย่างน่าฟังว่า

“เป้าหมายสูงสุดของเกษตรกรรมไม่ใช่การเพาะปลูกพืชผล แต่คือการบ่มเพาะความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์”

ฟูกูโอกะใช้ชีวิตที่เป็นจริงในไร่นาเกษตรแบบธรรมชาติบนเกาะชิโกะกุเป็นเวลากว่า 50 ปี ก่อนจะพักผ่อนชั่วนิรันดร์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 2008 ด้วยวัย 94 ปี ทิ้งคมความคิดที่ดูแสนธรรมดาในผลงานชื่อ “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว” (The One-Straw Revolution) ให้คนรุ่นหลังได้ตื่นตัว หันมาให้ความสำคัญกับธรรมชาติและขัดเกลาจิตใจตนเองต่อไป

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  ปาปิรัส

ภาพ  vinyessonalegre.com, servicespace.org, expo2015.org, luxniseko.com

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

สตีเฟน วิลต์เชียร์ “มนุษย์กล้องถ่ายรูป” ศิลปินออทิสติกสุดยอดอัจฉริยะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.