พระเรวตเถระ

พระเรวตเถระ ผู้หนีพิธีวิวาห์เพื่อบรรลุอรหัตตผล

พระเรวตเถระ ผู้หนีพิธีวิวาห์เพื่อบรรลุอรหัตตผล – ในสมัยพุทธกาลมีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระสารีบุตรออกบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว น้องทั้งหญิงและชายของท่าน อันได้แก่ น้องสาว 3 คน ชื่อจาลา, อุปจาลา, สีสุปจาลา และน้องชาย 2 คน ชื่อจุนทะ, อุปเสนะ ต่างก็มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และได้ออกบวชตามท่านจนเกือบหมดทุกคน เหลือก็แต่พระเรวตเถระ ซึ่งเป็นน้องชายคนสุดท้องเท่านั้น

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ มารดาของท่านก็เกรงว่าพระสารีบุตรจะชวนน้องชายคนเล็กบวชอีกคน จึงคิดจะผูกเรวตกุมารไว้ให้มั่นด้วยเครื่องผูกคือการครองเรือน จึงจัดแจงให้แต่งงานตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ครั้นถึงวันแต่งงาน ญาติๆ ต่างพากันมาอวยพรให้คู่บ่าวสาว ญาติทางฝ่ายหญิงได้กล่าวกับเจ้าสาวว่า

“ขอเจ้าจงเห็นธรรมที่ยายของเจ้าเห็นแล้ว จงมีอายุยืนนานเหมือนยายของเจ้า”

พอได้ยินเช่นนั้น เรวตกุมารก็เกิดความสงสัยว่าอะไรคือ ธรรมที่ยายของเด็กหญิงผู้ได้ชื่อว่าภรรยาเห็นแล้ว เขาจึงสอบถามญาติทางฝ่ายหญิงว่าใครคือยายของเด็กหญิง พวกญาติจึงแนะนำให้เขารู้จักผู้เป็นยายซึ่งมีอายุ 120 ปีแล้ว สภาพร่างกายของยายที่เห็นคือ ฟันหลุด ผมหงอก หนังเหี่ยว ผิวตกกระ และหลังโกง

เมื่อเห็นเช่นนั้น เรวตกุมารจึงถามต่อว่าหญิงที่เขาแต่งงานด้วย ต่อไปจะต้องเป็นอย่างนั้นเหมือนกันหรือ ได้คำตอบว่า ถ้าอยู่นานไปก็ต้องเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน

เมื่อได้ยินเช่นนั้น เรวตกุมารเกิดความรู้สึกสลดใจว่า “สรีระนี้แม้ดูงาม แต่ไม่นานนักความชราก็จะมากลืนความงามเหล่านั้นเสียหมดสิ้น อุปติสสะพี่ของเราคงเห็นเหตุนี้แล้ว จึงออกบวช เราเองก็ควรจะหนีออกบวชเสียในวันนี้”

ในวันนั้น เมื่อพิธีแต่งงานเสร็จแล้ว พวกญาติได้อุ้มเขาขึ้นสู่พาหนะพร้อมกับเจ้าสาวเพื่อพากลับบ้าน พอนั่งไปได้หน่อยหนึ่ง เขาก็บอกกับญาติว่าปวดอุจจาระ ขอลงถ่ายอุจจาระ พวกญาติก็หยุดคอย

เขาทำดังนี้หลายครั้ง พวกญาติเห็นว่าเขาทำบ่อยๆ จึงมิได้ระวังรักษาเข้มแข็ง ครั้งสุดท้ายเขาบอกว่าให้ญาติเดินทางนำหน้าไปเรื่อยๆ ก่อน เสร็จธุระแล้วจะเดินตามไป พอได้โอกาสเขาก็หนีไปยังสำนักของพระภิกษุ

พระภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า

“ผู้มีอายุ ท่านประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อม พวกข้าพเจ้าไม่ทราบว่าท่านเป็นพระราชโอรสหรือบุตรของอำมาตย์ จักให้ท่านบวชได้อย่างไร”

“กระผมเป็นน้องชายของอุปติสสะ” เรวตกุมารตอบ

“ก็ใครเล่าคืออปุตสิสะ” พระภิกษุเกิดความสงสัย

“ท่านผู้เจริญ! ท่านเรียกพี่ชายกระผมว่าสารีบุตร เมื่อกระผมเรียกชื่อเดิมว่าอุปติสสะ พวกท่านจึงไม่รู้จัก”

เมื่อได้ยินเช่นนั้นภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวว่า

“ถ้ากระนั้นมาเถิด พี่ชายของท่านสั่งไว้แล้วเหมือนกันว่า ถ้าท่านมาขอบวชก็ให้บวชให้”

เมื่อบวชแล้ว ภิกษุทั้งหลายก็ส่งข่าวไปบอกพระสารีบุตร ซึ่งได้ทูลลาพระศาสดาว่าจะไปเยี่ยมน้องชาย แต่พระศาสดาทรงขอร้องว่าอย่าเพิ่งไปเลย ให้รออยู่ก่อน

ล่วงไปอีก 2 – 3 วัน พระสารีบุตรทูลลาอีกครั้ง แต่พระศาสดาก็ทรงขอร้องอย่างเดิม และตรัสว่าพระองค์ก็จะเสด็จไปเหมือนกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะพระศาสดาทรงเห็นด้วยพระญาณว่า หากพระสารีบุตรเดินทางไปหาน้องชายในตอนนี้ จะเป็นการขัดขวางพระเรวตะในการบรรลุอรหัตตผล

ส่วนสามเณรเรวตะก็คิดว่า “ถ้าเราอยู่ที่นี่ พวกญาติอาจตามมาพบได้” จึงถือบาตรและจีวรเข้าไปในป่าไม้สะแกลึกเข้าไปอีก แล้วทำกรรมฐานจนได้บรรลุอรหัตตผลในพรรษานั้นเอง

เมื่อออกพรรษาแล้ว พระสารีบุตรก็ทูลลาพระศาสดา เพื่อจะไปเยี่ยมน้องชายอีกครั้ง ครั้งนี้พระศาสดาตรัสว่าพระองค์จะเสด็จไปเหมือนกัน โดยได้เสด็จไปพร้อมด้วยภิกษุสาวกเป็นอันมาก ครั้นเมื่อเดินทางไปได้หน่อยหนึ่ง ถึงทางสองแพร่ง พระอานนท์ก็ทูลถามพระศาสดาว่า

“มีทางอยู่สองทาง ทางหนึ่งอ้อมประมาณ 60 โยชน์ มีมนุษย์อยู่ตลอดทาง อีกทางหนึ่งตรงประมาณ 30 โยชน์ เป็นที่อยู่ของพวกอมนุษย์ จะเสด็จไปทางใดพระเจ้าข้า”

“สีวลี* มากับพวกเราด้วยมิใช่หรือ อานนท์”

“มาด้วย พระเจ้าข้า” พระอานนท์ตอบ

“ถ้าสีวลีมาด้วย พวกเราคงไปทางตรงนั่นแหละ”

ตำนานเล่าว่า ครั้งนั้นพวกเทพเจ้าได้ช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก เพราะเทพเหล่านั้นคิดว่า “เราจักทำสักการะแก่พระสีวลีเถระพระผู้เป็นเจ้าของเรา”

ปรากฏว่าตลอดระยะทางกันดาร 30 โยชน์นั้น พระศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ได้อาศัยบุญของพระสีวลีโดยตลอด

ฝ่าย พระเรวตเถระ (ความจริงยังเป็นสามเณร แต่ที่เรียกว่าพระเถระเพราะท่านได้เป็นพระอรหันต์แล้ว) เมื่อทราบการเสด็จมาของพระศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ จึงได้เนรมิตที่อยู่สำหรับพระภิกษุสงฆ์และที่ประทับของพระศาสดาด้วยฤทธิ์ของตน พระศาสดาประทับอยู่ที่นั่นเดือนหนึ่ง และได้ทรงอาศัยบุญของพระสีวลีในเรื่องอาหารบิณฑบาต

อยู่มาวันหนึ่ง บรรดาภิกษุทั้งหลายที่มาพักอยู่ที่นั่น มีภิกษุชรา 2 รูปคิดติเตียนพระเรวตะว่า “ภิกษุนี้รูปเดียวทำการก่อสร้างเสนาสนะมากมายอย่างนี้ จะมีเวลาบำเพ็ญสมณธรรมได้อย่างไร”

วันนั้นพระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงทราบความคิดของภิกษุสองรูปนั้น เมื่อประทับอยู่ได้เดือนหนึ่งแล้ว วันที่เสด็จออกจึงทรงอธิษฐานให้ภิกษุ 2 รูปนั้น ลืมบริขารบางอย่างไว้ เมื่อเสด็จไปได้ระยะหนึ่งก็ทรงคลายฤทธิ์

เมื่อพระภิกษุทั้งสองรูปรู้สึกตัวว่าลืมของไว้จึงรีบกลับไป จนถูกหนามไม้สะแกตำเท้า และพบห่อสิ่งของแขวนอยู่ที่ต้นสะแก ประจวบกับเวลานั้นพระเรวตเถระคลายฤทธิ์แล้วเช่นกัน เสนาสนะที่สร้างขึ้นด้วยฤทธิ์จึงพลอยหายไปด้วย

เช้าวันใหม่ เมื่อพระศาสดาเสด็จกลับมายังบุพพารามแล้ว ภิกษุชรา 2 รูปก็ตื่นขึ้นมาล้างหน้าแต่เช้า แล้วไปฉันข้าวต้ม ในเรือนของนางวิสาขาผู้ถวายอาคันตุกภัตร นางวิสาขาถามถึงที่อยู่ของพระเรวตะว่ารื่นรมย์น่าอยู่หรือไม่ ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า รกไปด้วยไม้สะแก มีหนามมากเหมือนที่อยู่ของพวกเปรต

ต่อมาอีกครู่หนึ่งมีภิกษุหนุ่ม 2 รูปมา นางวิสาขาถวายข้าวต้มแล้วจึงถามถึงเรื่องที่อยู่ของพระเรวตะอีก ภิกษุหนุ่ม 2 รูปตอบว่า น่ารื่นรมย์ประดุจเทวสภาที่เนรมิตขึ้นด้วยฤทธิ์

เมื่อได้ยินเช่นนั้น ด้วยความที่นางวิสาขาเป็นโสดาบัน จึงเข้าใจในความเห็นที่แตกต่างของภิกษุ 2 พวกนั้นทันทีว่า พวกหนึ่งคงเห็นสถานที่เมื่อพระเรวตเถระยังไม่คลายฤทธิ์ ส่วนอีกพวกหนึ่งคงเห็นเมื่อคลายฤทธิ์แล้ว นางคิดว่าจะทูลถามพระศาสดาเมื่อเสด็จมาให้แน่ใจว่าที่ภิกษุ 2 พวกมีความเห็นแตกต่างกัน ไม่ทราบว่าอย่างไหนถูกต้อง ซึ่งพระศาสดาตรัสตอบว่า

“อุบาสิกา…จะเป็นบ้านหรือเป็นป่าก็ตาม พระอรหันต์อยู่ที่ใด ที่นั้นก็น่ารื่นรมย์”

 

*พระสีวลีได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศในทางมีลาภมาก ด้วยอำนาจบุญบารมีที่ท่านได้สั่งสมมา พระพุทธองค์และหมู่ภิกษุมักจะอาศัยบุญพระสีวลียามเดินทางไกลเสมอ

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  เก็บมาเล่าโดย ขวัญ เพียงหทัย

photo by brenkee on pixabay

Secret Magazine (Thailand)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.