เลคเช โทโม

เสียงที่เปี่ยมด้วยพลังของ ภิกษุณีคาร์มา เลคเช โทโม

เสียงที่เปี่ยมด้วยพลังของ ภิกษุณีคาร์มา เลคเช โทโม – เสียงของคนเรามีพลังมหาศาล เสียงหนึ่งเสียงอาจเปลี่ยน “คำถาม” ให้Œเป็šน “คำตอบ” และเปลี่ยน “ความไม่รู้”Œ ให้เŒป็นš “ความรู้”Œ ขึ้นมาได้

ท่านคาร์มา เลคเช โทโม (Karma Lekshe Tsomo) ภิกษุณีในพระพุทธศาสนานิกายวัชรญาณแบบทิเบตเข้าใจความจริงข้อนี้เป็นอย่างดีตั้งแต่ท่านยังเล็ก

สมัยเป็นเด็ก ท่านเลคเช หรือ “เด็กหญิงแพทริเชีย ฌอง เซนน์” (Patricia Jean Zenn) อยากรู้เหลือเกินว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหลังความตาย แม้จะเป็นเพียงเด็กเล็กๆ แต่แพทริเชียก็ไม่ได้เก็บความสงสัยไว้ในใจ เธอรบเร้าถามคำถามนี้กับพ่อแม่และผู้ใหญ่รอบตัว ซึ่งทุกๆ คนต่างตอบเธอว่า “คนดีจะได้ไปสวรรค์ ส่วนคนชั่วต้องตกนรก”

ได้ยินอย่างนี้แพทริเชียก็ได้แต่รู้สึกวิตกกังวล เพราะเธอเป็นเด็กที่ทั้งดื้อและซนมาก จึงกลัวว่าจะต้องตกนรก นอกจากนั้นเธอก็คิดว่า คำตอบของคำถามที่ยิ่งใหญ่ (สำหรับเธอ) ไม่น่าจะมีทางเลือกแค่สองทางเท่านั้น

เลคเช โทโม

อย่างไรก็ดี ในปี 1965 แพทริเชียได้เดินทางไปเรียนพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดีย และมีโอกาสได้ถามคำถามนี้อีกครั้ง ทว่าคราวนี้ “ลามะ” หรือพระชั้นสูงของทิเบต ซึ่งเป็นอาจารย์ในวันนั้นสามารถให้คำตอบที่เธอพอใจได้

พระอาจารย์อธิบายอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่า คนเราต้องเจออะไรบ้างหลังความตาย อธิบายถึงเรื่อง “กรรม” หรือการกระทำ ซึ่งเป็นตัวกำหนดให้คนเราต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิด แพทริเชียดีใจที่ได้รู้ว่าคนเรานั้นไม่ใช่ว่า อยู่ดีๆ ก็เกิด และเมื่อตาย ถึงแม้ร่างกายเน่าเปื่อย แต่จิตใจไม่ได้สาบสูญไปด้วย

แพทริเชียในวัย 19 ปีรู้สึกว่าคำตอบนี้เป็นคำตอบที่มีเหตุผล เธอเกิดความเลื่อมใสในพุทธศาสนาและปรารถนาที่จะออกบวชตั้งแต่นั้น แต่เนื่องจากที่อินเดียในสมัยนั้นไม่มีวัดสำหรับนักบวชสตรี เธอจึงกลับมาเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา กระทั่งจบปริญญาตรี ด้านภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีน จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และปริญญาโท สาขาเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยฮาวาย จากนั้นเธอจึงเดินทางกลับมาที่อินเดียอีกครั้ง

การกลับมาครั้งนี้ แพทริเชียได้เรียนธรรมะที่ธรรมศาลาขององค์ทะไลลามะ ซึ่งนอกจากธรรมศาลาจะเป็นสถานที่หลบภัยของชาวทิเบตแล้ว ยังเป็นสถานที่เผยแผ่ธรรมะที่สำคัญ และมีชั้นเรียนสอนพุทธศาสนาสำหรับชาวตะวันตกซึ่งสอนด้วยภาษาอังกฤษหลายชั้นเรียน

เลคเช โทโม
เครดิตภาพ @buddhistdoor.net

ท่านเลคเชใช้ชีวิตในชื่อแพทริเชียจนถึงปี 1977 จากนั้นท่านได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุณี และยังคงศึกษาธรรมะในธรรมศาลาต่อมานานกว่าสิบปี ท่านต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย เริ่มตั้งแต่ความยากลำบากในการบิณฑบาต เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศยากจน คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดท่านเลคเชซึ่งเป็นชาวอเมริกัน มาจากประเทศร่ำรวย จึงไม่ทำงานอย่างคนทั่วไป และต้องเลี้ยงชีพด้วยการขออาหารจากพวกเขา

ช่วงปีแรกของการบวช ท่านเลคเชต้องใช้เงินส่วนตัวซื้ออาหารฉัน ปีต่อมาจึงได้ความอนุเคราะห์จากชาวอเมริกันครอบครัวหนึ่งซึ่งถวายอาหารให้ท่านวันละหนึ่งมื้อเล็กๆ ล่วงมาถึงปีที่สี่ เมื่อเงินส่วนตัวหมด ท่านก็ต้องอดบ้างอิ่มบ้าง…แล้วแต่วัน สมัยนั้นท่านล้มป่วยบ่อยมาก จนผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอย่างน่าตกใจ

อย่างไรก็ดี ท่านเลคเชได้กำลังใจจากพระอาจารย์ของท่านมาโดยตลอด และตระหนักอยู่ทุกลมหายใจว่า การออกบวชคือทางชีวิตที่ถูกต้องสำหรับท่าน จึงไม่เคยท้อแท้หรือสิ้นหวัง

ท่านเลคเชกล่าวว่า ไม่ว่าคนเราจะเจอปัญหาหรืออุปสรรคที่หนักหนาสาหัสแค่ไหนก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ชีวิตเต็มไปด้วยความผิดหวัง” อย่างไรก็ดี แม้แต่ความทุกข์ก็ยังตั้งหนีไม่พ้น กฎอนัตตา คือ ต้องเปลี่ยนแปลงและเสื่อมไปในวันหนึ่ง

ดังนั้นเมื่อต้องเผชิญกับความทุกข์ ชาวพุทธที่แท้ต้องกล้าบอกกับตัวเองว่า “ฉันรู้ว่าชีวิตคือความไม่แน่นอน แต่ฉันจะเลือกใช้ชีวิตอย่างมีความสุข” จากนั้นต้องพยายามมีสติอยู่กับปัจจุบัน…อยู่กับความจริงและมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ การทำเช่นนี้จะทำให้เรามีความสุขจาก ณ ขณะหนึ่งสู่อีก ณ ขณะหนึ่งต่อเนื่องเช่นนี้เรื่อยไป

ท่านเลคเชตระหนักดีว่า กว่าที่ผู้หญิงจะบวชได้ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย อย่างที่ธรรมศาลา ท่านเลคเชเล็งเห็นว่า ปัญหาสำคัญของการศึกษาธรรมะคือเรื่อง “ภาษา” เพราะหากไม่รู้ภาษาทิเบตหรือภาษาอังกฤษก็ยากที่จะเรียนรู้ธรรมะจากพระคัมภีร์ได้

เลคเช โทโม
เครดิตภาพ @dakinipower.com

ในปี 1988 ท่านเลคเชจึงได้ก่อตั้งบ้านสำหรับภิกษุณีขึ้นที่ธรรมศาลา จัดให้มีการสอนภาษาอังกฤษ ภาษาทิเบต สอนธรรมะและปฏิบัติธรรมร่วมกันทุกวัน นอกจากนี้ยังจัดให้มีการประชุมในสังฆะเป็นประจำเพื่อให้นักบวชหญิงมีโอกาสพูดและแสดงความคิดเห็น อันเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความกล้าหาญและสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างดียิ่ง แม้ว่าสถานที่แห่งนี้จะสามารถรองรับพุทธสาวิกาได้เพียง 20 รูปเท่านั้น

ในปี 1989 ขณะที่กำลังสำรวจที่ดินเพื่อสร้างบ้านพักแห่งใหม่ ท่านเลคเชก็ถูกงูกัดที่แขนขวา ท่านสลบไปสองสัปดาห์ แต่กลับรอดตายได้อย่างปาฏิหาริย์ จากนั้นท่านถูกส่งตัวไปรักษาที่สหรัฐอเมริกา เวลานั้นท่านไม่สามารถขยับแขนได้เลย และต้องใช้เวลาทำกายภาพบำบัดนานถึงหนึ่งปีจึงสามารถกลับมาใช้แขนขวาได้อีกครั้ง โอกาสนี้ท่านเลคเชได้กลับไปเรียนต่อจนจบปริญญาโทด้านศาสนาในเอเชีย และปริญญาเอก สาขาปรัชญาเปรียบเทียบ จากมหาวิทยาลัยฮาวาย หลังจากนั้นท่านเริ่มทำงานสอนหนังสือ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเทววิทยาและการศึกษาเกี่ยวกับศาสนาแห่งมหาวิทยาลัยแซนดีเอโก

เลคเช โทโม
เครดิตภาพ @Awakin.org

ทุกวันนี้ ด้วยวัย 74 ปี ท่านเลคเชยังต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งสอนหนังสือ เผยแผ่ธรรมะ และแสดงปาฐกถาในที่ต่างๆ เพื่อเป็นกระบอกเสียงของผู้หญิงที่ต้องการเรียนรู้ธรรมะ ท่านก่อตั้งมูลนิธิจัมยัง (Jamyang Foundation) เพื่อสร้างวัดสำหรับนักบวชสตรีและหาทุนสนับสนุนการศึกษาของแม่ชีรุ่นเยาว์ในประเทศที่ยากจนแถบหลังคาโลกอย่างอินเดียและบังคลาเทศ ท่านเป็นประธานองค์กรศากยธิดา (แปลว่า ธิดาของพระพุทธเจ้า) ซึ่งเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นของพุทธสาวิกากว่า 300 ล้านคนทั่วโลก เพื่อจุดประกายให้ผู้ร่วมงานมีแรงบันดาลใจในการทำความดี และสร้างแรงผลักดันให้เกิดสันติภาพและความเสมอภาคขึ้นในโลก

นั่นเพราะท่านเลคเชรู้ว่า เสียงหนึ่งเสียงมีความสำคัญ และหากสามารถรวมพลังจากหลายเสียงหลายความเห็น ถ้อยคำนั้นก็จะมีพลังมากขึ้น

และคงจะดีไม่น้อยถ้าผู้หญิงพูด…แล้วมีคนฟัง

 

ที่มา : นิตยสาร Secret

เรื่อง : Violet

ภาพ : วรวุฒิ วิชาธร

Secret Magazine (Thailand)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.