เอลินอร์ ออสตรอม

เอลินอร์ ออสตรอม นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชิดชูการแบ่งปัน

ย้อนไปเมื่อปี 2012 ในวันที่ 12 มิถุนายน โลกได้สูญเสีย เอลินอร์ ออสตรอม (Elinor Ostrom) นักเศรษฐศาสตร์หญิงรางวัลโนเบลคนแรกของโลก ซึ่งในวันเดียวกันนี้ลูกศิษย์ของเธอต่างรู้สึกเสมือนได้สูญเสียแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ ในขณะที่เพื่อนๆ ของ “ลิน” (ชื่อเล่นของเอลินอร์) ก็รู้สึกว่าได้สูญเสียเพื่อนร่วมทางที่ล้ำค่า แต่ทว่าท่ามกลางความเศร้าโศก เราก็ยังมองเห็นความงดงามของชีวิตในช่วงวันเวลาที่ผ่านมาของผู้หญิงคนนี้

หลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งตับอ่อนอยู่ระยะหนึ่ง เอลินอร์ก็จากไปอย่างสงบ ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เธอได้ทำงานที่ตัวเองรัก และได้รับรู้ว่างานนั้นมีประโยชน์ต่อผู้คนมากมายมหาศาล

นับตั้งแต่มีการก่อตั้งรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 1901 ถึงปัจจุบันเอลินอร์เป็นผู้หญิงคนแรกและคนเดียวที่ได้รับรางวัลในสาขาเศรษฐศาสตร์ โดยรับรางวัลร่วมกับ โอลิเวอร์ อี. วิลเลียมสัน (Oliver E. Williamson) จากผลงานการวิเคราะห์นโยบายเศรษฐศาสตร์ภาครัฐ (Economic Governance) ที่เกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากร ตอนประกาศรางวัลนี้ในปี 2009 คนในวงการส่วนใหญ่รู้สึกแปลกใจ เพราะไม่เคยได้ยินชื่อของเอลินอร์มาก่อน แต่เมื่อมาศึกษางานของเธอ ก็จะเข้าใจว่าเหตุใดคณะกรรมการจึงมอบรางวัลนี้ให้กับเธอ

เอลินอร์ ออสตรอม
เครดิตภาพ @indianapublicmedia.org

 

เอลินอร์ ออสตรอม
เครดิตภาพ @asunow.asu.edu

เอลินอร์เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ทำการศึกษาด้านการจัดสรรทรัพยากรทั้งที่มาจากธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยให้ความสำคัญในแง่ที่ทรัพยากรเป็นของคนทั่วไปเพราะเกี่ยวข้องกับคนหลายกลุ่ม ซึ่งเธอเรียกว่า Common-pool Resources และเธอเชื่อว่า หากคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

เอลินอร์ทุ่มเททำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มานานหลายสิบปี โดยเธอทำการทดลองในพื้นที่ต่างๆ และมีการออกแบบวิธีการทดสอบและเก็บสถิติที่ชัดเจนมาก จนคนที่อยากคัดค้านเถียงไม่ออก เธอยืนยันว่า การให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับทรัพยากรเป็นผู้จัดสรรดูแลเองจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีกว่าให้รัฐบาลหรือบริษัทใหญ่ๆ มาจัดการให้ ความคิดที่ว่าเมื่อมีคนได้ก็ต้องมีคนเสีย (Zero-sum Game) ทำให้ต้องหาคนนอกมาจัดการนั้นเป็นมายาคติที่อยู่ในโลกมานานเต็มที ทั้งที่ในความเป็นจริง มนุษย์เราสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทรัพยากรได้ และจะได้มากที่สุดถ้าทุกฝ่ายรู้จักแบ่งปันกัน

เมื่อฟังแนวคิดนี้ในปัจจุบัน คงรู้สึกเหมือนๆ กันว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทว่าในตอนที่เอลินอร์เพิ่งเริ่มต้นทำงาน แนวคิดนี้นับว่าใหม่และแหวกแนวมาก แต่เธอก็ทำได้สำเร็จ เพราะไม่ว่าจะทำอะไร เธอก็จะได้พลังใจอันยิ่งใหญ่จากสามีเสมอ

เอลินอร์ ออสตรอม เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยิว เกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 1933 ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เอลินอร์เป็นเด็กที่เรียนหนังสือเก่ง กล้าแสดงออก และเป็นหนึ่งในนักโต้วาทีของโรงเรียนตั้งแต่สมัยมัธยม

เอลินอร์ ออสตรอม
เครดิตภาพ @rahuldeodhar.blogspot.com

อย่างไรก็ดี เนื่องจากสมัยเมื่อ 70 กว่าปีที่แล้ว ผู้หญิงไม่ได้รับการสนับสนุนให้เรียนสูงๆ แม้แต่แม่ของเธอก็ยังไม่อยากให้เธอเรียนต่อ เอลินอร์จึงต้องส่งเสียตัวเองเรียนมหาวิทยาลัยโดยเป็นครูสอนว่ายน้ำ เป็นบรรณารักษ์ในห้องสมุด ทำงานในร้านหนังสือ ฯลฯ ด้วยความขยันและพากเพียร ในที่สุดเธอก็เรียนจบจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) ภายใน 3 ปี หลังจากนั้นเธอก็เรียนต่อระดับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ หลังเรียนจบเธอก็มองหางานทำ และเป็นอีกครั้งที่ความเป็นผู้หญิงสร้างความลำบากให้กับเธอ

สมัยนั้นงานที่สังคมหยิบยื่นให้ผู้หญิงที่เรียนจบมหาวิทยาลัยทำมีแค่ไม่กี่อย่าง อย่างดีที่สุดคือการเป็นครูสอนในโรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยม ไม่ก็เป็นเลขานุการ ซึ่งเอลินอร์ไม่อยากทำงานเหล่านั้น เธออยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และรู้ตัวด้วยว่าเธอมีคุณสมบัติเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม ด้วยความจำเป็น เอลินอร์จึงไปเข้าคอร์สเรียนวิชาชวเลขเพื่อใช้สมัครงานในตำแหน่งเลขาฯ เธอได้งานเป็นเสมียนในบริษัทส่งออกแห่งหนึ่ง และใช้เวลาไม่นานก็ได้เลื่อนขั้นเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบุคคล ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญและมีผู้หญิงน้อยคนมากๆ ที่จะได้รับการยอมรับถึงขนาดนั้น

เอลินอร์เล่าว่า การได้เลื่อนตำแหน่งเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เธอเชื่อมั่นว่า แม้จะต้องเจออุปสรรคตั้งแต่แรก ก็ต้องไม่คิดว่าอุปสรรคนั้นจะคงอยู่ตลอดไป ตราบใดที่ไม่ท้อถอยเสียก่อน ทางออกย่อมมีอยู่เสมอ

ต่อมาเอลินอร์เลือกที่จะเรียนต่อระดับปริญญาเอกในคณะเศรษฐศาสตร์ที่ UCLA ซึ่งกว่าที่มหาวิทยาลัยจะรับเธอเข้าเรียนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากสมัยนั้นมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่รับนักศึกษาผู้หญิง แต่แล้วในที่สุดเอลินอร์ก็ต่อสู้จนได้ไปนั่งเรียนสมใจ และได้พบกับวินเซนต์ ออสตรอม ที่นั่น ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1963

เอลินอร์ ออสตรอม
เครดิตภาพ @inside.indiana.edu

ปี ค.ศ. 1965 วินเซนต์ได้รับการทาบทามจากมหาวิทยาลัยอินดีแอนาให้เป็นอาจารย์เต็มเวลา ทั้งคู่จึงย้ายไปอยู่ที่รัฐอินดีแอนา ส่วนเอลินอร์ก็ได้งานสอนครั้งแรกในคณะรัฐศาสตร์ เพราะทางคณะหาอาจารย์ที่จะมาสอนตอนเช้าตรู่ไม่ได้

หลายสิบปีต่อมาเอลินอร์ก็ยังทำงานสอนหนังสือไปพร้อมๆ กับการทำวิจัยร่วมกับสามี ความสนใจเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมเป็นครั้งแรกนั้นเกิดจากการติดตามผลงานการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา เอลินอร์พบว่าไม่มีสถานีตำรวจขนาดใหญ่แห่งไหนเลย (หมายถึงสถานีตำรวจที่มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 100 คน) ที่สามารถสร้างผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและน่าชื่นชมเท่ากับสถานีตำรวจขนาดเล็กที่มีเจ้าหน้าที่เพียงแค่ 25 – 30 คน

ต่อมาเอลินอร์และสามีได้ก่อตั้งศูนย์การวิจัยชื่อว่า Workshop in Political Theory and Policy Analysis ในมหาวิทยาลัยอินดีแอนา เพราะเชื่อว่า แม้แต่ข้อมูลการทำวิจัย ถ้ามีการเก็บรวบรวมและแบ่งปันกัน ก็จะทำให้ได้ผลที่ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ตรงกันข้าม การวิจัยที่ทำเพียงลำพัง (เช่นการดูข้อมูลเฉพาะในพื้นที่ที่ตัวเองทำวิจัยเท่านั้น) จะขาดความน่าเชื่อถือหรือมีประโยชน์น้อยมาก

เอลินอร์ ออสตรอม
เครดิตภาพ @pnas.org

เอลินอร์ทำงานของเธอไปเงียบๆ แต่ทว่าเข้มแข็งอย่างยิ่ง เธอเขียนบทความ เขียนหนังสือกว่า 30 เล่ม ได้รับเชิญให้ไปสอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายแห่ง และยังเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษาแม้ว่าจะเกษียณแล้วหลายปี แม้แต่ช่วงวันท้ายๆ ของชีวิต เธอก็ยังคงวุ่นวายกับเอกสารและงานวิจัยของเธอ

คงเป็นเพราะเอลินอร์เชื่อว่า งานที่เธอค้นคว้าก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทุกๆ คนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ และเธอก็รู้สึกสุขใจทุกครั้งเมื่อได้แบ่งปัน…

 

ที่มา : นิตยสาร Secret

เรื่อง Violet

ภาพ : entitleblog.org, commons.wikimedia.org

Secret Magazine (Thailand)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.