พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องใดมากที่สุด

พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องใดมากที่สุด

เคยมีคนถามพระอานนท์ว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องใดมากที่สุด พระอานนท์ตอบว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเรื่องไตรสิกขามากที่สุด ไตรสิกขาประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องกว้าง ๆ เกี่ยวข้องกับการละเว้นความชั่ว การทำความดี การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ซึ่งเหมาะกับคนทุกระดับ และสามารถนำไปสู่การหลุดพ้นได้

พระธรรมอันทรงแสดงนั้นมีทั้งหมด 84,000 พระธรรมขันธ์ ซึ่งนับว่ามากมายมหาศาล จึงมีคนสงสัยมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลว่า ในจำนวน 84,000 พระธรรมขันธ์นั้น ถ้าจะรู้เพียงเรื่องเดียวควรรู้อะไร ซึ่งคำถามนี้ หลวงปู่ขาว อนาลโย เคยเทศน์สอนไว้ว่า

“โดยทำนองเดียวกันที่รอยเท้าของบรรดาสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ อาจจะรวมลงไปในรอยเท้าของช้าง พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์ก็อาจรวมลงได้ในธรรมข้อเดียวคือ สติ”

เพราะสติเป็นเครื่องกั้นความเศร้าหมอง กั้นกิเลส คนเราจะทำพลาดทำชั่วก็เริ่มที่การขาดสติ เพราะฉะนั้นจึงต้องหันมาฝึกสติให้มาก

อย่างไรก็ดี นอกจากชาวพุทธจะเข้าใจพุทธศาสนาจากพระธรรมคำสอนแล้ว หากดูพระพุทธองค์เป็นแบบอย่าง ก็สามารถเรียนรู้ธรรมได้เช่นกัน สิ่งหนึ่งที่เข้าใจได้ทันทีคือ ด้วยอัตภาพของความเป็นมนุษย์ ก็เพียงพอที่จะทำให้เราหลุดพ้นได้ เพราะพระพุทธองค์ก็ทรงแสวงหาในแบบที่มนุษย์ทั่วไปแสวงหา ทรงใช้วิธีที่มนุษย์คนใดก็ทำได้ และทรงประสบกับความทุกข์ความลำบากไม่ยิ่งหย่อนกว่าใครทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างเรื่องการทรงงาน เนื่องจากทรงรู้ด้วยญาณว่าพระองค์จะมีเวลาเผยแผ่พระธรรมเพียงแค่ 45 ปี จึงทรงงานอย่างหนัก พุทธกิจประจำวันของพระพุทธเจ้าตลอด 45 ปีมีดังนี้

เช้า             เสด็จออกบิณฑบาต (โปรดสัตว์)

เย็น            ทรงแสดงธรรม

ค่ำ              ประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย

เที่ยงคืน     แก้ปัญหาของเหล่าเทวดาทั้งหลาย

ใกล้รุ่ง        ทอดพระเนตรดูสัตว์ที่ควรโปรดและไม่ควรโปรด เช่น ตอนที่ทอดพระเนตรเห็นว่าองคุลิมาลเป็นผู้ที่สามารถฝึกได้ แต่ถ้าพลั้งมือสังหารมารดาของตนจะต้องรับกรรมหนัก ก็เสด็จไปโปรดองคุลิมาลทันที

พระพุทธเจ้าทรงงานหนักมาก และมีเวลาพักผ่อนเพียงน้อยนิด ซึ่งตลอดเวลา 45 ปีนั้น พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ทรงมีชีวิตที่ราบรื่นเสมอไป บางครั้งทรงบิณฑบาตไม่ได้ ต้องเสวยข้าวแดงนาน 3 เดือน บางเวลาต้องเสวยอาหารอย่างสุนัขกิน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในขณะที่พระพุทธองค์ยังไม่ตรัสรู้ แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนที่พระองค์สำเร็จอรหัตผลบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว นอกจากนี้ก็ยังทรงพระประชวร มีโรค “ปักขันทิกาพาธ” (โรคท้องร่วง) เป็นโรคประจำพระองค์ อันเป็นผลจากการบำเพ็ญทุกรกิริยาตั้งแต่วัยหนุ่ม

นอกจากเรื่องทางพระวรกายแล้ว พระพุทธเจ้ายังต้องทรงเผชิญกับความบีบคั้นทางใจหลายประการ เช่น การที่พระบิดา พระมเหสี พระญาติ อำมาตย์ และประชาชนไม่เห็นด้วยในการออกบวชช่วงแรก ๆ ทรงมีศัตรูผู้คอยจองล้างจองผลาญพระองค์ตลอดเวลา คือ พระเทวทัต ซึ่งที่จริงเป็นพระญาติที่ใกล้ชิดอย่างยิ่ง และทรงต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เหล่าพระญาติสังหารกันเองจนมีผู้ล้มตายจำนวนมหาศาล โดยที่ไม่อาจทัดทานได้ ซึ่งเหตุการณ์นั้นก็คือเรื่องของ เจ้าชายวิฑูฑภะ พระโอรสของ พระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งกรุงสาวัตถีกับ นางวาสภขัตติยา ธิดาของพระญาติฝ่ายศากยวงศ์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ที่เกิดจากมารดาซึ่งเป็นนางทาสี วันหนึ่งเจ้าชายวิฑูฑภะเสด็จไปเยี่ยมพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ และทรงทราบว่า หลังจากที่พระองค์เสด็จกลับมาแล้ว พระญาติเหล่านั้นได้สั่งให้นางทาสีใช้น้ำผสมน้ำนมมาล้างกระดานทุกแผ่นที่เจ้าชายประทับ ซึ่งเชื่อกันว่าน้ำชนิดนี้จะล้างความเป็นกาลกิณีได้ พระองค์กริ้วมาก ภายหลังจึงทรงยกทัพมาสังหารพระญาติเหล่านี้ แม้แต่เด็กทารกก็ไม่ทรงละเว้น แล้วรับสั่งให้เอาโลหิตจากพระศอของพระญาติมาล้างแผ่นกระดานที่พระองค์เคยประทับ เหตุการณ์นี้พระพุทธองค์เสด็จมาเตือนสติเจ้าชายถึง 3 ครั้ง แต่สุดท้ายก็ไม่อาจยับยั้งได้

หรือแม้แต่ในหมู่สงฆ์เอง ในพรรษาที่ 9 หลังจากตรัสรู้ ก็เกิดความแตกแยกในหมู่ภิกษุในเมืองโกสัมพีขึ้น ถึงขนาดที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทแล้วก็ยังดื้อดึงตกลงกันไม่ได้ ความขัดแย้งบานปลายจนถึงขั้นต้องแบ่งแยกกันทำอุโบสถ ฝ่ายหนึ่งทำอุโบสถสังฆกรรมภายในสีมา แต่อีกฝ่ายหนึ่งออกไปทำอุโบสถสังฆกรรมภายนอกสีมา การแตกแยกกันถึงขั้นนี้เรียกว่า “สังฆเภท” ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงปลีกพระองค์ไปประทับอยู่ที่ตำบลปาริเลยยกะ ซึ่งเป็นดินแดนที่เงียบสงบแต่เพียงองค์เดียว โดยมีพญาช้างปาริเลยยกะคอยอุปัฏฐาก

“การพ้นทุกข์” ของพระพุทธองค์จึงไม่ได้หมายความว่าจะไม่เจอทุกข์อีกเลย แต่หมายถึงการอยู่กับทุกข์โดยไม่ทุกข์ ดังที่ทรงกระทำให้เห็นมาตลอดพระชนมชีพของพระองค์

 

ที่มา : พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ – กองบรรณาธิการนิตยสาร Secret สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

photo by terimakasih0 on pixabay

Secret Magazine (Thailand)

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.