ธรรมะของรัชกาลที่ 5

ธรรมะของรัชกาลที่ 5 : กิจ 10 ประการที่ทำแล้วไม่เสียใจในภายหลัง

ธรรมะของรัชกาลที่ 5 : กิจ 10 ประการที่ทำแล้วไม่เสียใจในภายหลัง

เนื่องในวันเลิกทาส เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงอัญเชิญ ธรรมะของรัชกาลที่ 5 ที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง “โคลงสุภาษิตบางปะอิน” ในส่วนที่มีข้อความที่เป็นธรรมะ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

โคลงสุภาษิตบางปะอิน พระองค์ทรงนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2420 ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปประพาสที่พระราชวังบางปะอิน เนื้อหาของพระราชนิพนธ์เรื่องนี้โดยรวมแฝงไปด้วยข้อคิดในการดำเนินชีวิต ในหลายด้าน เช่น ความรัก ความเพียร ความพยายาม ความยุติธรรม ความโกรธ ความเขลา ฯลฯ จึงเป็นวรรณคดีคำสอนอีกเรื่องที่น่าสนใจ

พระราชนิพนธ์ในส่วนที่ยกมานี้ ประพันธ์ด้วยโคลง เป็นศัพท์และสำนวนในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงถอดความกำกับไว้ท้ายของแค่ละโคลง เพื่อให้เข้าใจถึงพระราโชวาทของพระองค์ยิ่งขึ้น

บัณทิตวินิจแล้ว          แถลงสาร สอนเอย

ทศฤทุมนาการ            ชื่อชี้

เหตุผู้ประพฤติปาน     ดังกล่าว นั้นนอ

โทมนัสเพราะกิจนี้      ห่อนได้เคยมี

ผู้มีความรู้มักคิดและสอนกิจ 10 ประการนี้ ถ้าปฏิบัติตามจะไม่พบกับความเสียใจในภายหลัง 

1. ทำความดีทั่วไป

ทำดีไป่เลือกเว้น            ผู้ใด ใดเฮย

แต่ผูกไมตรีไป               รอบข้าง

คำคุณอุดหนุนใน           การชอบ ธรรมนา

ไร้ศัตรูองมล้าง              กลับซ้องสรรเสริญ

ทำดี มีไมตรีจิต และพูดจาไพเราะต่อคนรอบข้าง จะไม่มีศัตรูและคนคิดร้าย แล้วได้รับการชื่นชมสรรเสริญ 

2. ไม่พูดร้ายต่อใคร

เหินห่างโมหะร้อน          ฤษยา

สละสิ่งเสียดมารษา        ใส่ร้าย

คำหยาบจาบจ้วงอา       ฆาฏขู่ เข็ญเฮย

ไป่หมิ่นนินทาป้าย         โทษให้ผู้ใด

ไม่มีอารมณ์โกรธ ดุเดือด ริษยา ใส่ร้าย กล่าวประทุษร้ายด้วยคำหยาบคาย ข่มขู่ นินทา และป้ายสีผู้อื่น

3. ควรถามฟังความก่อนตัดสินเชื่อ

ยินคดีมีเรื่องน้อย           ใหญ่ไฉน ก็ดี

ยังบ่ลงเห็นไป                เด็ดด้วน

ฟังตอบชอบคำไข         คิดใคร่ ครวญนา

ห่อนตัดสินห้วนห้วน       เหตุด้วยเบาความ

ได้ฟังเรื่องอะไรมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ไม่รีบด่วนตัดสินใจเชื่อทันที และคิดพิจารณาใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะเชื่อ  

4. คิดเสียก่อนพูด

พาทีมีสติรั้ง                     รอคิด

รอบคอบชอบแลผิด        ก่อนพร้อง

คำพูดำพ่างลิขิต              เขียนร่าง เรียงแฮ

ฟังเพราะเสนาะต้องโสต  ทั้งห่างภัย

ก่อนพูดมีสติคิดให้รอบคอบ เขียนร่างคำพูดก่อนที่จะพูด นอกจากไม่เกิดความประมาทแล้วยังได้คำพูดที่ดีและไม่เดือดร้อนเราในภายหลัง

5. อดทนไม่พูดในเวลาโกรธ

สามารถอาจห้ามงด         วาจา ตนเฮย

ปางเมื่อยังโกรธา             ขุ่นแค้น

หยุดคิดพิจารณา              แพ้ชนะ ก่อนนา

ชอบผิดคิดเห็นแม้น          ไม่ยั้งเสียความ

ตอนที่กำลังโกรธ ไม่ควรพูดและคิดว่าใครเป็นคนถูกคนผิด จะได้ไม่เสียกันทั้งสองฝ่าย 

6. กรุณาต่อคนที่อับจนกว่า

กรุณานรชาติผู้                    พ้องภัย พิบัติเฮย

ช่วยรอดปลอดความกษัย   สว่างร้อน

ผลจักเพิ่มพูนใน                  อนาคต กาลแฮ

ขนจักชูชื่อช้อน                   ป่างเบื้องประจุบัน

กรุณาต่อผู้ที่ลำบากกว่า ช่วยเหลือเขาให้พ้นจากความลำบาก ผลที่ตามมาจะส่งเสริมในภายหน้า และได้รับการชื่นชมจากผู้คนในตอนนี้  

7. ขอโทษคนที่เราทำผิดต่อเขา

ใดกิจผิดพลาดแล้ว             ไป่ละ ลืมเสีย

หย่อนทฤษฐิมานะ                อ่อนน้อม

ขอโทษเพื่อคารวะ                วายบาด หมางแฮ

ดีกว่าปดอ้อมค้อม                คิดแก้โดยโกง

ลืมความแค้นและลดทิฐิมานะที่มีต่อกัน และขอโทษเพื่อที่จะคลายความบาดหมาง 

8. อดกลั้นต่อผู้อื่น

ขันติมีมากหมั้น                  สันดาน

ใครเกะกะระราน                อดกลั้น

ไป่ฉุนเฉียวเฉกพาล          พาเดือด ร้อนพ่อ

ผู้ประพฤติดั่งนั้น                จักได้ใจเย็น

มีความอดทนเป็นนิสัย คนแบบนี้จะเป็นใจเย็นสามารถอดกลั้นได้ทุกสถานการณ์ ถ้าไปฉุนเฉียวตามอารมณ์จะกลายเป็นคนใจร้อน แล้วทำให้เราเดือดร้อนในภายหลัง 

9. ไม่ฟังคนอื่นพูดเรื่องไร้สาระ

ไป่ฟังคนพูดฟุ้ง                 ฟั่นเฝือ

เท็จและจริงจานเจือ          คละเคล้า

คือมีดเที่ยวกรีดเถือ           ท่านทั่ว ไปนา

ฟังจะพาพลอยเข้า             พวกเพ้อรังควาน

ไม่ฟังเรื่องไร้สาระ เพราะพิสูจน์ยากว่าเรื่องไหนเท็จหรือจริง เรื่องไร้สาระนี้เป็นเรื่องที่กุขึ้น ซ้ำยังสร้างความเดือดร้อนให้คนพูดถึง เมื่อฟังเรื่องนี้มากเข้าก็กลายเป็นคนชอบพูดเรื่องไร้สาระไปด้วย

10. ไม่หลงเชื่อข่าวลือ

อีกหนึ่งไป่เชื่อก้อย              คำคน ฤาแช

บอกเล่าข่าวเหตุผล             เรื่องร้าย

สืบสอบประกอบจน              แจ่มเท็จ จริงนา

ยังบ่ด่วนยักย้าย                   ตื่นเต้นก่อนกาล

ไม่เชื่อและตระหนกตามข่าวลือที่พูดกัน ต้องพิสูจน์ก่อนว่าเป็นเรื่องจริง 

โคลงสุภาษิตบางปะอิน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 ในตอนเรื่อง “กิจ 10 ประการที่ทำแล้วไม่เสียใจในภายหลัง” ที่ยกมานี้ เป็นการรวมคำสอน 10 เรื่องที่มนุษย์ต้องเจอในชีวิตจริง เรื่องที่พระองค์ทรงสอนบ่อยครั้งคือ เรื่องวจีกรรม (การพูด) เช่น การพูดจาไพเราะต่อคนรอบข้าง ไม่พูดใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ทำให้เห็นว่าพระองค์ทรงให้ความใส่พระทัยเรื่องวจีกรรมเป็นพิเศษ และอีกเรื่องที่รองลงมาคือ การคิดก่อนที่จะลงมือทำอะไร เช่น การที่จะเชื่อข่าวลือต้องมีหลักฐานเสียก่อน

 

ที่มา : โคลงสุภาษิตบางปะอิน พระราชนิพนธ์โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

www.sac.or.th


บทความน่าสนใจ

พระบรมราโชวาทเพื่อการทำงาน ของในหลวงรัชกาลที่ 9

Dhamma Daily : ธรรมะข้อใดช่วยให้ลูกหายจาก โรคสมาธิสั้น

วีเจตะแง้ว บุษบา มหัตถพงศ์ ธรรมะสอนให้ฉันรู้จักคำว่า พอ

ธรรมะในหัวใจของ โอปอล์ ปาณิสรา อารยะสกุล

เผยมุมธรรมะของดาราวัยรุ่น ต่อ ธนภพ ลีรัตนขจร

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.