ชัค ฟีนีย์

ชาร์ลส์ ชัค ฟีนีย์ มหาเศรษฐีแห่งความกรุณา

ครั้งหนึ่งในช่วงของการรณรงค์เพื่อยุติสงครามเวียดนาม หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เคยตั้งคำถามชวนคิดไว้ว่า “ถ้าคุณมีความกรุณา คุณจะร่ำรวยได้อย่างไร”

พร้อมกันนั้น ท่านได้ให้คำตอบไว้ว่า

“ความเมตตากรุณาเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งทั้งในพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนา คุณจะร่ำรวยได้ต่อเมื่อคุณสามารถทนดูเพื่อนมนุษย์ทุกข์ทรมาน แต่ถ้าคุณทนไม่ได้ คุณก็ต้องแบ่งทรัพย์สินของคุณไปช่วยเขา”

แม้ว่าโลกทุกวันนี้ นับวันคนรวยก็ยิ่งรวยมากขึ้นจนยากจะหาตัวอย่างมาสนับสนุนคำพูดของหลวงปู่ได้ แต่ทว่าสิ่งที่ ชาร์ลส์ “ชัค” ฟีนีย์ (Charles “Chuck” Feeney) มหาเศรษฐีใจบุญชาวอเมริกันเป็น และทำมาโดยตลอด ช่างตรงกับคำกล่าวของหลวงปู่อย่างเหลือเกิน

ชัค ฟีนีย์
เครดิตภาพ @The Irish Times

ชัคเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งร้าน “ดิวตี้ฟรี” ร้านค้าปลอดภาษีชื่อดังที่มีสาขามากมายทั่วโลก นิตยสาร ฟอร์บส์ ประเมินไว้ว่า ชัคสร้างรายได้ให้ตัวเองมาแล้วกว่า 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ปัจจุบันเงินในบัญชีส่วนตัวของชัคมีอยู่ราว 2 – 3 ล้านดอลลาร์เท่านั้น เพราะตลอดมาเงินส่วนใหญ่ของชัคจะถูกโอนไปให้กับมูลนิธิ The Atlantic Philanthropies ที่เขาก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982

ชัคบริจาคเงินเป็นจำนวนมหาศาล แต่ทำอย่างเงียบ ๆ และปิดเป็นความลับมานานถึง 15 ปี จนสื่อมวลชนถึงกับขนานนามเขาว่า “เจมส์บอนด์ในโลกแห่งการกุศล”

ชัค ฟีนีย์ เกิดเมื่อวันที่ 23 เมษายน ปี ค.ศ. 1931 ที่เมืองเอลิซาเบท รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ในครอบครัวชนชั้นกลางที่ปลูกฝังให้เขา “เชิดชูการทำงานหนัก ไม่ใช่การหาเงินให้มาก ๆ ”

ตอนอายุ 16 ปี ชัคสมัครเป็นทหารในกองทัพอากาศสหรัฐฯ เขาเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ราว 5 ปีจึงปลดประจำการ และไปสมัครเรียนต่อด้านการจัดการโรงแรมที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ โดยได้รับทุนจากกองทัพ

อย่างไรก็ตาม ทุนการศึกษาที่ได้นั้นไม่พอกับค่าใช้จ่าย ชัคจึงเริ่มทำธุรกิจขายแซนด์วิชให้กับเพื่อนนักศึกษาที่หิวโหยยามดึก ชัคเรียนจบได้ในที่สุดด้วยเงินจากการขายแซนด์วิชนี่เอง

หลังเรียนจบในปี ค.ศ. 1956 ชัคเดินทางไปยุโรป และลงทะเบียนไว้ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส เพื่อซื้อเวลาระหว่างที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิต เขาใช้เวลาว่างไปกับการเป็นอาสาสมัครทำค่ายสำหรับเด็ก หนึ่งในกิจกรรมที่ต้องทำคือ การพาเด็ก ๆ ไปทัศนศึกษาเรือรบสหรัฐฯ และงานพิเศษที่ดูเหมือนไม่สำคัญนี้เองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชัคกลายเป็นมหาเศรษฐี!

ชัคชักชวน โรเบิร์ต มิลเลอร์ (Robert Miller) เพื่อนเก่าสมัยเรียนที่คอร์เนลล์ให้มาทำธุรกิจด้วยกัน โดยพวกเขารับออร์เดอร์จากทหารเรืออเมริกันที่ประจำการอยู่ในฝรั่งเศส ในการจัดหาสินค้าประเภทเหล้าและบุหรี่ไปขายถึงบนเรือ ทั้งหมดนี้เป็นสินค้าปลอดภาษี และแน่นอนว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

ชัค ฟีนีย์
เครดิตภาพ @news.stanford.edu

ในปี ค.ศ. 1960 ชัคและโรเบิร์ตจึงร่วมกันเปิดร้านดิวตี้ฟรีสาขาแรกที่โฮโนลูลูและฮ่องกง ภายในเวลาเพียงแค่ 4 ปี ดิวตี้ฟรีก็ขยายสาขาออกไปถึง 27 ประเทศทั่วโลก มีพนักงานหลายร้อยคน…ชัคและหุ้นส่วนทุกคนกลายเป็นมหาเศรษฐีภายในพริบตา

ชัคมีความเชื่อเหมือนกับ แอนดรูว์ คาร์เนกี้ ต้นแบบมหาเศรษฐีใจบุญ ที่ว่าความมั่งคั่งของเขามาจากโชค และเขามีหน้าที่ในการแบ่งปันโชคที่ได้มาให้คนอื่น ๆ ต่อไป

ชัคชอบบริจาคเงินคราวละมาก ๆ เพื่อช่วยงานสาธารณกุศล เขาไม่ชอบความหรูหราฟุ่มเฟือย และมักจะสอนลูก ๆ ทั้ง 5 คนให้ใช้ชีวิตแบบคนชั้นกลางทั่วไป ลูก ๆ ของชัคจะทำงานพิเศษช่วงปิดเทอมฤดูร้อน เพื่อน ๆ ส่วนใหญ่ของลูกไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขามีเพื่อนเป็นถึงลูกมหาเศรษฐี

ในปี ค.ศ. 1982 ชัคได้ก่อตั้งมูลนิธิ The Atlantic Philanthropies ขึ้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กำไรร้อยละ 38.75 ของส่วนที่ชัคได้จากร้านดิวตี้ฟรีจะโอนเข้าบัญชีของมูลนิธิโดยตรง เรียกว่าไม่มีหุ้นส่วนแม้แต่คนเดียวที่รู้เรื่องนี้ ขณะที่ผู้บริหารมูลนิธิก็ช่วยกันปกปิด ส่วนชัคก็ไม่เคยใช้ชื่อมูลนิธิในการลดหย่อนภาษีของตัวเองเลย

ในช่วงแรกมูลนิธิให้เงินสนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ที่ชัคเป็นศิษย์เก่า เพราะเขาเชื่อว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์

นอกจากนี้ เนื่องจากชัคมีเชื้อสายไอริช เขาจึงสนใจปัญหาของประเทศไอร์แลนด์เป็นพิเศษ เมื่อครั้งที่มีปัญหาเกี่ยวกับขบวนการ IRA ในปี ค.ศ. 1986 ชัคก็เป็นผู้ผลักดันให้นักธุรกิจชาวอเมริกันเชื้อสายไอริชช่วยกันหาวิธีแก้ปัญหานี้ร่วมกับรัฐบาลของทั้งสองประเทศ และสิ่งที่ชัคออกแรงหนุนมากที่สุดก็คือการให้ทุนมหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งในไอร์แลนด์ เพื่อยกระดับการเรียนการสอนให้ทันสมัย และด้วยอำนาจของเงินตรามหาวิทยาลัยหลายแห่งในไอร์แลนด์ก็เติบโตเป็นเสาหลักของประเทศอย่างที่ชัคปรารถนาจริง ๆ และเมื่อปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยลิเมอริกในไอร์แลนด์เหนือก็ได้จับมือกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ อีก 8 แห่ง เพื่อมอบปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้แก่ชัค ฟีนีย์ ซึ่งพิธีประสาทปริญญาบัตรในลักษณะนี้ไม่เคยมีในไอร์แลนด์มาก่อน

ชัคเคยอธิบายไว้ว่า เขาพยายามปกปิดการบริจาค เพราะเชื่อว่าการให้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลจริง ๆ แต่แล้วในปี ค.ศ. 1996 ความลับก็ถูกเปิดเผย ในปีนั้นชัคตัดสินใจขายธุรกิจดิวตี้ฟรีให้กับกลุ่มบริษัทหลุยส์วิตตองของฝรั่งเศส แต่โรเบิร์ตไม่เห็นด้วยและเตรียมยื่นฟ้องต่อศาล ชัครู้ว่าถ้าเหตุการณ์ดำเนินไปถึงขั้นนั้นเขาก็คงหลีกเลี่ยงการเปิดเผยเรื่องราวของมูลนิธิไม่ได้ จึงรีบเปิดเผยเรื่องนี้ต่อนักข่าวเสียก่อน

ชัค ฟีนีย์
เครดิตภาพ @echoinggreen.org

ทุกวันนี้ชัคไม่มีบ้านหรือรถเป็นของตัวเอง (เขายกบ้านและทรัพย์สินส่วนตัวให้อดีตภรรยา) เขาพักอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ที่มูลนิธิเช่าให้ ไม่มีข้าวของเครื่องใช้หรูหราใด ๆ มีเพียงนาฬิกาข้อมือพลาสติกราคา 15 เหรียญ และเดินทางไปไหนต่อไหนด้วยรถโดยสารสาธารณะ เวลาไปต่างประเทศเพื่อตรวจเยี่ยมโครงการหรือให้กำลังใจทีมงาน ชัคจะนั่งเครื่องบินชั้นประหยัด จนกระทั่งถึงวันเกิดปีที่ 76 เขาจึงยอมเปลี่ยนมานั่งชั้นธุรกิจตามคำขอร้องของผู้บริหารมูลนิธิ ซึ่งปัจจุบันเป็นมูลนิธิที่มีเงินทุนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเน้นให้ความช่วยเหลือเด็กและคนชรา

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ชัค ฟีนีย์ มีเป้าหมายจะแจกจ่ายเงินทั้งหมดของเขาให้กับการกุศลก่อนที่เขาจะสิ้นชีวิต เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “คนรวยต้องใช้ความมั่งคั่งเพื่อช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก…อย่ารอที่จะให้ตอนที่คุณแก่ หรือร้ายกว่านั้นคือให้ตอนที่คุณตายไปแล้ว ตรงกันข้าม จงให้ในขณะที่คุณยังมีเรี่ยวแรง มีเส้นสาย และมีอิทธิพลที่จะก่อคลื่นแห่งการให้ขยายวงกว้างออกไป…การให้เป็นสิ่งที่สนุกและจรรโลงใจคนเรามากที่สุด…แต่หลายคนไม่รู้ ผมจึงต้องออกมาเปิดเผยตัว”

“ถ้ามีความกรุณา คุณจะร่ำรวยได้อย่างไร”…ในวันนี้ ชัค ฟีนีย์ ทำให้เราเข้าใจความหมายของคำพูดนี้ได้อย่างชัดเจน

 

ที่มา : นิตยสาร Secret

เรียบเรียง : Violet

ภาพ : zemavek.sk

Secret Magazine (Thailand)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.