หมอเทวดา

ซานดุ๊ก รูอิท หมอเทวดา แห่งเทือกเขาหิมาลัย พ่อพระของคนยาก

ซานดุ๊ก รูอิท หมอเทวดา แห่งเทือกเขาหิมาลัย – เนปาลรวมทั้งประเทศอื่นๆ แถบเทือกเขาหิมาลัยเป็นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยที่สูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อกระจกมากกว่าที่ใดในโลก คือประมาณปีละ 150,000 คน นักวิจัยสันนิษฐานว่าสาเหตุเกิดจากพันธุกรรม อาหาร และการได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตในระดับเข้มข้นอันเนื่องมาจากการใช้ชีวิตบนยอดเขาสูง
1
ในขณะเดียวกัน พื้นที่แถบนี้ก็มีผู้ป่วยที่หายจากโรคต้อกระจกถึงปีละกว่า 100,000 คน มากที่สุดในโลกด้วย และตัวเลขอันน่ามหัศจรรย์นี้ อาจเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีคุณหมอที่มีหัวใจงดงามที่ชื่อว่า ซานดุ๊ก รูอิท (Dr. Sanduk Ruit) จักษุแพทย์ชาวเนปาล ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ ปี ค.ศ. 2006 และรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลสาขาสาธารณสุขปี ค.ศ. 2007
2
กว่าสามสิบปีที่ผ่านมา กิจวัตรส่วนใหญ่ของหมอรูอิทคือ การออกหน่วยแพทย์อาสาเพื่อผ่าตัดต้อกระจกให้แก่ผู้ป่วยยากไร้ในแถบเทือกเขาหิมาลัย หมอรูอิทจะใช้กล้องขยายช่วยในการกรีดด้านข้างของดวงตาเพียงข้างหนึ่งก่อน และเมื่อกรีดลึกจนมีดผ่าตัดกระทบเข้ากับเลนส์ตาที่มีปัญหา เขาก็จะค่อยๆ แซะต้อออกและสอดเลนส์ตาเทียม (intraocular lens) เข้าไปตรงตําแหน่งเดิม จากนั้นเขาก็จะหันไปทําการผ่าตัดให้คนไข้อีกคนหนึ่ง และเมื่อผ่าตัดตาเสร็จหนึ่งข้าง เขาก็จะกลับไปผ่าตัดตาคนไข้คนแรกต่อจนเสร็จ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาสั้นๆ เพียง 5 – 7 นาทีเท่านั้น จากนั้นคนไข้รายใหม่จะถูกนําตัวเข้ามา ด้วยการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่ว นุ่มนวล และแม่นยํา เทียบได้กับการแกว่งของลูกตุ้มนาฬิกานี่เอง ทําให้หมอรูอิทสามารถผ่าตัดคนไข้ได้มากกว่าวันละ 100 ราย!
หมอเทวดา
ปัจจุบันวิธีการผ่าตัดต้อกระจกแบบไม่ต้องเย็บ (Sature-less Operation) ดังที่เล่ามาข้างต้นเป็นวิธีที่จักษุแพทย์ทั่วโลกนําไปใช้อย่างแพร่หลาย ส่วนหมอรูอิทซึ่งเป็นผู้คิดค้นก็ได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ
3
ทว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้…เขาก็ต้องผ่านอะไรมามิใช่น้อย
4
หมอรูอิทเกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1954 ที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อว่า Olangchungola ทางภาคตะวันออกของเนปาล พ่อของหมอรูอิทเป็นพ่อค้าเร่ที่เดินทางค้าขายระหว่างเมืองต่างๆ แถบเทือกเขาหิมาลัย แม้ว่าพ่อแม่ของเขาจะไม่เคยเข้าโรงเรียน แต่ทั้งคู่ก็อยากให้ลูกๆ ทุกคนได้เรียนหนังสือ หมอรูอิทและพี่น้องเริ่มเรียนเขียนอ่านทั้งภาษาเนปาลและอังกฤษที่บ้านตั้งแต่เล็กๆ โดยพ่อจ้างเจ้าหน้าที่ของทางการมาสอนให้
5
ตอนเด็กหมอรูอิทเคยใฝ่ฝันอยากเป็นกัปตันเครื่องบิน เพราะติดใจหนังสือแนวผจญภัยที่ตัวเอกได้เดินทางไปในที่ต่างๆ ทว่าภายหลัง เขาต้องสูญเสียพี่น้องถึงสามคนตั้งแต่อายุยังน้อยด้วยโรคที่ไม่มีทางรักษา เขาจึงตัดสินใจที่จะเป็นหมอ หมอรูอิทเรียนจบปริญญาตรีคณะแพทยศาสตร์ สาขาจักษุ จากมหาวิทยาลัย All India Institute of Medical Sciences ประเทศอินเดีย ในปี ค.ศ. 1980
6
หลังเรียนจบเขากลับมาใช้ทุนที่โรงพยาบาลในกรุงกาฐมาณฑุ และเมื่อมีเวลาว่างก็จะร่วมทีมไปกับหน่วยแพทย์อาสาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ทําให้หมอรู้ว่าโรคต้อกระจกเป็นสาเหตุกว่าร้อยละ 80 ของการตาบอดของชาวเนปาล ซึ่งถ้าผู้ป่วยที่เป็นต้อได้รับการผ่าตัดทันก่อนที่เยื่อขาวจะคลุมดวงตาจนมืดมิด แม้ว่าจะตาบอดมานานหลายปีก็สามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง หมอรูอิทจึงตั้งปณิธานที่จะช่วยผู้ป่วยให้มากที่สุด
7
อย่างไรก็ดี การผ่าตัดต้อกระจกสมัยเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ตามมาตรฐาน ปกติแพทย์จะต้องลงมีดกรีดถึง 5 จุดด้วยกัน อัตราการติดเชื้อหลังผ่าตัดจึงอยู่ในระดับสูงมาก นอกจากนั้นหลังผ่าตัดคนไข้จะต้องสวมแว่นตาที่หนาขนาดก้นขวดน้ําอัดลม และด้วยความที่ทนรําคาญเลนส์หนาๆ ไม่ไหว คนไข้ส่วนใหญ่จึงไม่ยอมสวมแว่น สายตาก็จะค่อยๆ เสื่อมลงและลงเอยด้วยการตาบอดในที่สุด
8
โชคดีที่การออกหน่วยแพทย์บ่อยๆ ทําให้หมอรูอิทรู้จักการผ่าตัดโดยใช้กล้องขยายภาพ (Microscopic Surgery) และรู้จักการปลูกถ่ายนัยน์ตาเทียมซึ่งเป็นเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยมากในยุคนั้น หมอรูอิทได้เดินทางไปเรียนต่อด้านการผ่าตัดโดยใช้กล้องขยายภาพที่ประเทศออสเตรเลีย และจบปริญญาโทในปี ค.ศ. 1984
หมอเทวดา
ปี ค.ศ. 1985 ขณะกําลังฝึกงานอยู่ที่โรงพยาบาลในออสเตรเลีย หมอรูอิทได้พบกับนายแพทย์เฟรด ฮอลโลวส์ (Fred Hollows) จักษุแพทย์ชาวออสเตรเลียเชื้อสายนิวซีแลนด์ ทั้งคู่มีโอกาสทํางานร่วมกัน และแม้จะต่างเชื้อชาติ ต่างฐานะ ต่างวัย แต่ก็กลายเป็นเพื่อนที่สนิทกันมาก หมอเฟรดและหมอรูอิทมีความคิดตรงกันว่า คนไข้ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็ควรได้รับการรักษาอย่างดีที่สุดโดยเท่าเทียมกัน
9
ภายหลังหมอเฟรดได้ก่อตั้งมูลนิธิเดอะเฟรด ฮอลโลวส์ ขึ้นเพื่อระดมทุนและสนับสนุนการทํางานของหมอรูอิทโดยเฉพาะ หมอเฟรดเชื่อมั่นในตัวหมอรูอิทมากถึงขนาดเคยพูดเปรยกับภรรยาว่า “ชีวิตนี้แม้ไม่ได้ทําอะไรเท่าไร แต่การได้เป็นกําลังให้หมอรูอิทก็นับว่าไม่มีเสียทีที่ได้เกิดมาแล้ว”
10
ในช่วงทศวรรษ 1990 วิธีการผ่าตัดของหมอรูอิทยังไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะมีความแตกต่างจากวิธีการผ่าตัดในสมัยนั้นมาก หมอรูอิทไม่มีห้องปลอดเชื้อเหมือนในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ห้องผ่าตัดของหมอรูอิทอาจเป็นแค่เต็นท์หลังเดียวหรือห้องเรียนสักห้องในโรงเรียนสักแห่ง หมอรูอิทไม่มียาล้างแผลราคาแพงสําหรับคนไข้ทุกคน เขาจึงใช้วิธีบอกให้คนไข้ล้างหน้าล้างตาให้สะอาดก่อนเข้าห้องผ่าตัดเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อในเบื้องต้น ฯลฯ ด้วยเหตุนี้หมอรูอิทจึงถูกต่อต้านจากเพื่อนหมอด้วยกันจนต้องลาออกจากโรงพยาบาลที่ทํางานอยู่
11
นอกจากนี้ ในเวลาต่อมาเมื่อหมอรูอิทสามารถตั้งโรงงานผลิตเลนส์ตาเทียมในกรุงกาฐมาณฑุได้สําเร็จ เลนส์ตาเทียมจากโรงงานของหมอรูอิทก็มีราคาแค่ 6 – 10 ดอลลาร์สหรัฐ ถูกกว่าเลนส์ที่ผลิตโดยบริษัทใหญ่ๆ ในโลกตะวันตกประมาณ 50 เท่า ทําให้การรักษามีราคาถูกลงมากและสามารถช่วยผู้ป่วยได้มากขึ้นกว่าเดิมหลายสิบเท่า แต่หมอรูอิทกลับถูกโจมตีว่าเป็นผู้ทําลายตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลจนสูญสิ้น
12
อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1994 หลังการเสียชีวิตของหมอเฟรดหนึ่งปี ด้วยการสนับสนุนจากหลายๆ ภาคส่วน หมอรูอิทก็สามารถเปิดศูนย์จักษุทิลกานกา (Tilganga Eye Center) ในกรุงกาฐมาณฑุได้เป็นผลสําเร็จ ปัจจุบันศูนย์จักษุทิลกานกาเป็นโรงพยาบาลรักษาตาที่ทันสมัยที่สุดของประเทศ โรงพยาบาลจะเก็บค่ารักษาตามกําลังทรัพย์ ผู้ป่วยทั่วไปจ่ายค่ารักษาในอัตราปกติ ส่วนคนยากไร้รักษาฟรี รายได้หลักศูนย์แห่งนี้มาจากการส่งออกเลนส์ตาเทียมไปยังประเทศต่างๆ อีกสิ่งหนึ่งที่หมอรูอิทตั้งใจทํามาตลอดก็คือ การพยายามถ่ายทอดความรู้ออกไปให้มากที่สุดโดยไม่มีการแบ่งแยก ทุกวันนี้หมอรูอิทเองยังคงฝึกสอนแพทย์รุ่นใหม่และออกหน่วยแพทย์เป็นประจํา เพราะเขารู้ดีว่ายิ่งมีหมอที่ผ่าตัดได้มากเท่าไรก็จะมีคนไข้ที่กลับมามองเห็นได้มากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ
หมอเทวดา
สําหรับหมอรูอิท การได้เห็นแววตาที่เต็มไปด้วยคําขอบคุณของคนไข้วันละหลายร้อยหลายพันคน คือของขวัญอันยิ่งใหญ่ที่ทําให้เขาบอกกับตัวเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่า เขาช่างโชคดีเหลือเกินที่มีโอกาสได้ทํางานนี้
13
สําหรับตัวผู้ป่วยเองที่บ้างก็โดยสารรถประจําทาง บ้างก็เดินด้วยเท้าเปล่า บ้างก็ขี่หลังของลูกหลานข้ามภูเขาหลายต่อหลายลูกเพื่อมาหาคุณหมอ…การได้มองเห็นอีกครั้งคือความหัศจรรย์ของชีวิต…คือปาฏิหาริย์…คือการได้รู้ว่าพระเจ้าไม่ทรงทอดทิ้งพวกเขา
14
และคือการได้ประจักษ์ว่า…ความรักที่แท้จริงที่เพื่อนมนุษย์จะพึงมีให้กันนั้นเป็นเช่นไร…
15

ที่มา : นิตยสาร Secret

เรียบเรียง : Violet

ภาพ : InHeadLine

Secret Magazine (Thailand)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.