ห้วงโอฆสงสาร

วิธีข้ามห้วงโอฆสงสารของพระพุทธเจ้า

วิธีข้าม ห้วงโอฆสงสาร ของพระพุทธเจ้า

ห้วงโอฆสงสาร หมายถึง ห้วงน้ำแห่งการเวียนว่ายตายเกิด หรือหมายถึงกิเลสอันเปรียบเหมือนกระแสน้ำที่ท่วมใจสัตว์โลก มีด้วยกัน 4 ประการ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา ดังนั้นหากข้ามโอฆะ ห้วงน้ำแห่งสังสารวัฏได้ ก็ไม่ต้องย้อนกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในห้วงน้ำนี้อีก เพราะได้ข้ามไปสู่ฝั่ง คือ พระนิพพาน

พระโพธินันทะยกพระสูตรหนึ่งในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย โอฆตรณสูตรที่ 1 ว่าด้วยการข้ามโอฆสงสารของพระพุทธเจ้า เรื่องมีอยู่ว่า

วันหนึ่งมีเทวดาเข้ามาทูลถามพระพุทธองค์ว่า พระพุทธเจ้าทรงข้ามโอฆะ คือข้ามพ้นจากทุกข์ทั้งปวง หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้อย่างไร

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามโอฆะได้แล้ว

เทวดาทูลถามต่อว่า พระองค์ไม่พัก ไม่เพียร ข้ามโอฆะได้อย่างไรเล่า

พระพุทธองค์จึงได้ตรัสคลายข้อสงสัยแก่เทวดานั้นว่า ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดเรายังพักอยู่ เมื่อนั้นเรายังจมอยู่โดยแท้ เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้นเรายังลอยอยู่โดยแท้ ท่านผู้มีอายุ เราไม่พัก เราไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้แลฯ

เมื่อได้ฟังดังนี้ เทวดาจึงกล่าวว่า นานทีเดียวหนอ ข้าพเจ้าจึงจักได้เห็นขีณาสวพราหมณ์ผู้ดับรอบแล้ว ไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามตัณหาเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในโลกฯ

 

ห้วงโอฆสงสาร

 

พระโพธินันทะอธิบายเสริมต่อว่ากรณีที่พระพุทธองค์เล่าประสบการณ์ข้ามโอฆสงสารของพระองค์ให้เทวดาฟัง เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า แม้แต่ความเพียรที่จัดจ้านก็เกิดจากการปรารภความมีอยู่ของตัวเรา ตัณหาจึงบงการให้หน่วงเอาความคาดหวังในผลสำเร็จมาให้ตัวเราโดยเร็ว โดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นไปเองของธรรมชาติตามทฤษฎีของเหตุและปัจจัย อาการของความเพียรที่จัดจ้านจึงเกิดขึ้นด้วยความเห็นผิดดังกล่าว ครั้นไม่สามารถบรรลุถึงผลตามที่ตัณหาบงการแล้ว ก็เกิดความท้อถอย ซึ่งทำให้เกิดอาการที่ตัวเราอยากพัก

ดังนั้น พัก กับ เพียร ก็ล้วนเป็นการเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นคู่ตรงข้ามที่เกิดจากการแตกแขนงขอโมหอวิชชาด้วยเช่นกัน

วิธีการข้ามโอฆสงสารของพระพุทธเจ้า สังเกตจากพระพุทธพจน์พบว่าพระพุทธเจ้าอุปมาการเวียนว่ายตายเกิดเป็นห้วงน้ำ (โอฆะ) ที่ทุกชีวิตกำลังแหวกว่าย หากพักท่านจะจมดิ่งสู่กระแสเห็นความเวียนว่ายตายเกิด แต่ถ้าเพียรมุ่งมั่นว่ายข้ามไปก็จะถึงฝั่ง (พระนิพพาน)

 

ที่มา : มุ่งสู่จิตว่าง โดยโพธินันทะ หนังสือธรรมะของสำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

 

ภาพ : www.pexels.com

บทความน่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.