สวดมนต์อย่างไรให้เป็นกุศล

ว่าด้วยเรื่องสวดมนต์ : สวดมนต์อย่างไรให้เป็นกุศล

สวดมนต์อย่างไรให้เป็นกุศล โดย ดร. สนอง วรอุไร

ทำไมต้องสวดมนต์

การสวดมนต์เป็นกุศโลบายที่จะทำให้จิตมีสติและตั้งมั่นเป็นสมาธิอยู่กับบทมนต์ที่สวด จึงถือได้ว่าเป็นการพัฒนาจิตให้มีสติขั้นต้นในรูปแบบของสมถภาวนา

นอกจากทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว การสวดมนต์ยังมีผลดีต่อสุขภาพด้วย เพราะเจริญสติแล้วสมาธิย่อมเกิด และเมื่อสมาธิเกิดจิตจะตั้งมั่นเป็นสมาธิ ทำให้การปรุงแต่งของจิตเป็นอารมณ์ลดน้อยลง และส่งผลให้พลังงานของร่างกายเพิ่มมากขึ้น ความเจ็บไข้ได้ป่วยจึงลดลงเป็นธรรมดา และมีสุขภาพร่างกายดีเป็นผลในเบื้องสุด

สวดมนต์อย่างไรให้ถูกวิธี

วิธีสวดมนต์ให้ดีที่สุดคือ ต้องสวดด้วยการให้จิตจดจ่ออยู่กับบทสวดมนต์ ระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ด้วยใจที่นอบน้อม อ่อนน้อม ศรัทธา และเชื่อมั่นในคุณธรรมของพระพุทธเจ้า และควรจะสวดออกเสียงเพื่อทำกรรมทั้งสามให้สมบูรณ์ คือ มโนกรรม กายกรรม และวจีกรรม ผลของกุศลจึงจะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์

สำหรับเรื่องภาษาของบทมนต์ที่ใช้นั้น จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ แต่ต้องไม่ผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับ ยิ่งรู้ความหมายของบทสวดมนต์ที่สวดด้วยยิ่งดี เพราะเท่ากับเป็นการเจริญปัญญาให้ถูกตรงได้ในอีกทางหนึ่งด้วย หากบุญเก่าส่งผลถึงพร้อม สามารถทำให้บรรลุธรรมขณะที่กำลังสวดมนต์เลยก็ได้

สวดมนต์บทไหนดี

เบื้องต้นควรสวดบทบูชาคุณพระรัตนตรัย คือ “นะโม ตัสสะฯ” แล้วต่อด้วย “อิติปิโสฯ” “สวากขาโตฯ” และ “สุปะฏิปันโนฯ” ไปจนจบ เพื่อให้จิตจดจ่อมั่นคงในพระรัตนตรับ ส่วนมนต์บทอื่น ๆ เช่น พาหุง พระปริตร ชินบัญชร ฯลฯ นั้นขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ว่าจะสวดเพื่ออะไร เพราะบทสวดแต่ละบทมีความหมายไม่เหมือนกัน และมีวัตถุประสงค์ต่างกัน เช่น ถ้าประสงค์จะรบชนะข้าศึกควรจะสวด พุทธชัยมงคลคาถา หรือที่เรียกว่า บทสวดพาหุง แต่ถ้าจะต้องนอนในป่า ให้สวด เมตตาปริตร และ ขันธปริตร เพื่อปกป้องตนเองจากภูตผีปีศาจ สัตว์ร้าย และสัตว์มีพิษ ถ้าประสบภัยแล้งให้สวด รัตนปริตร ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ให้นำไปสวดตอนที่เกิดภัยแล้งขึ้นที่แคว้นวัชชี หากประสงค์จะไม่ให้ตกจากที่สูงให้สวดบท ธชัคคปริตร หรือหากจะต้องเดินทางไปในที่อันตรายให้สวดบท โมรปริตร

ส่วนมนต์บท ชินบัญชร ที่คนนิยมสวดกันนั้น เป็นการอัญเชิญพระอรหันตสาวกมาล้อมรอบตัวเอง ซึ่งย่อมไม่มีประโยชน์ถ้าผู้สวดยังพร่องในศีลในธรรม เพราะการสวดมนต์จะให้ผลได้ ศีลของผู้สวดจะต้องบริสุทธิ์ เหมือนกับการห้อยวัตถุมงคล ที่ไม่ว่าพระจะดังอย่างไร หากคนห้อยยังประพฤติทุศีลก็ไม่มีประโยชน์ เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะคุ้มครองเฉพาะผู้ที่มีศีลมีธรรมเท่านั้น ผู้มีศีลมีธรรมจึงไม่จำเป็นต้องห้อยวัตถุมงคล เพราะมีเทวดาคุ้มรักษาให้อยู่รอดปลอดภัยอยู่แล้ว

 

ที่มา : เพราะถึงธรรมจึงพ้นโลก – ดร. สนอง วรอุไร สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.