Uniqlo

ชนะ 1 แพ้ 9 บทเรียนจากเจ้าของ Uniqlo ทาดาชิ ยาไน

ขณะกําลังศึกษาชั้นปีที่ 3 ณ มหาวิทยาลัยโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ดิฉันพร้อมเพื่อน ๆ ในชั้นอีก 10 คนมีโอกาสได้พบ คุณทาดาชิ ยาไน (Tadashi Yanai) ประธานบริษัท Uniqlo
1
อาจารย์ประจําวิชาการตลาดให้พวกเรานําเสนอโปรเจ็กต์ “ไอเดียใหม่สําหรับเสื้อผ้าสตรี” จากมุมมองของเด็กมหาวิทยาลัย โดยพวกเราต้องนําเสนอต่อหน้าท่านประธานและผู้จัดการฝ่ายต่าง ๆ อีก 4 คน
2
วันนั้นทุกคนตื่นเต้นมาก ๆ เหตุผลแรกเพราะชื่อเสียงของบริษัทสมัยนั้นแบรนด์ Uniqloมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศญี่ปุ่นแล้ว คนญี่ปุ่นถึงกับพูดเล่นกันว่า ถ้าลองปาก้อนหินสัก 2 – 3 ก้อนไปตรงถนนช็อปปิ้งนี้ ต้องถูกคนใส่เสื้อUniqlo สักคนแน่ ๆ อีกเหตุผลคือ ท่านประธานตั้งใจฟังพวกเราอย่างยิ่ง และแสดงความเห็นอย่างจริงจังมาก ๆ เสมือนพวกเราเป็นพนักงานบริษัท ท่านจ้องเขม็งมาที่สไลด์นําเสนอของพวกเรา เมื่อเรานําเสนอจบ ท่านก็ให้ข้อคิดเห็นว่า โปรเจ็กต์ของพวกเรามีข้อบกพร่องตรงไหนตรงไหนน่าทํา ตรงไหนทําไม่ได้ ตรงไหนต้องแก้
3
เมื่อพวกเรานําเสนอว่า แบรนด์น่าจะทําลวดลายญี่ปุ่นหรือเป็นชุดยูกาตะให้ใส่ง่าย ๆ ท่านก็พูดเลยว่า Uniqloต้องการเป็นแบรนด์ที่ไประดับโลก จะหยุดอยู่แค่ดีไซน์ญี่ปุ่นไม่ได้ ท้ายชั่วโมงเป็นช่วงพูดคุยแลกเปลี่ยนคําถาม พนักงานที่ร่วมฟังการนําเสนอของเราถามดิฉันว่า
4
“ถ้า Uniqloไปเปิดที่ไทยจะประสบความสําเร็จไหม” สมัยนั้น Uniqloยังเป็นแค่แบรนด์เสื้อผ้าเรียบ ๆ ธรรมดา ๆ เท่านั้น ไม่มีเสื้อผ้าที่เป็นนวัตกรรม และยังไม่มีลวดลายต่าง ๆ มากเท่าทุกวันนี้
5
ดิฉันตอบไปว่า “ไม่น่าจะสําเร็จค่ะ เพราะเสื้อผ้าเมืองไทยถูก ๆ ลายสวย ๆ ดี ๆ มีเยอะแยะ ไม่เชื่อไปดูจตุจักรบ้านหนู แล้วคนไทยยังไม่มีกําลังซื้อเสื้อUniqlo หรอก”
6
เป็นคําตอบที่ตรงไปตรงมาและโง่มากในวันนี้ ดิฉันบอกตัวเองเบา ๆ ว่า ใครจะนึกว่า Uniqloจะพัฒนาไปไกลขนาดนี้
Uniqlo
ณ วันนี้ดิฉันเห็นร้าน Uniqlo ตามห้างสรรพสินค้าในเมืองไทยเต็มไปหมด Uniqlo กลายเป็นแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังระดับโลก เคียงข้างแบรนด์ชั้นนําอย่าง Zara และ H&M
8
Uniqlo ออกเสื้อผ้าที่ไม่ใช่แค่ดีไซน์สวยงาม แต่มีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ลูกค้าเสมอ เช่น เสื้อขนเป็ดสุดเบาที่ม้วนเก็บได้ ตอบโจทย์ผู้ที่รู้สึกว่าเสื้อกันหนาวที่ดีนั้นหนัก พกพาไม่สะดวก เสื้อ AIRism ที่ใส่แล้วเย็นระบายเหงื่อดี​ ตอบโจทย์เสื้อผ้าชุ่มเหงื่อในฤดูร้อน หรือเสื้อฮีทเทคที่มีเส้นใยเก็บความร้อนจากร่างกายได้ดี ใส่แล้วอุ่น ก็ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องใส่เสื้อหลาย ๆ ชั้นเพื่อป้องกันความหนาว
9
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดจากการที่ท่านประธานยาไนปรับเปลี่ยนทัศนคติตนเองจากการเป็น “พ่อค้า” ผู้ซื้อสินค้ามาแล้วขายไป ม่าเป็น​ “ผู้บริหาร” ที่สร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้สังคม นั่นทําให้ในปี ค.ศ. 2015 เขาสามารถก้าวขึ้นสู่ตําแหน่งผู้ร่ำรวยที่สุดในประเทศญี่ปุ่น และรวยเป็นอันดับที่ 41 ของโลกตามการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes
10

หลายปีก่อนหน้านี้คงไม่มีใครเชื่อว่า ชายผู้นี้จะสามารถพลิกธุรกิจร้านเสื้อผ้าผู้ชายเล็ก ๆ ของครอบครัวในจังหวัดยะมะงุชิให้กลายเป็นร้านเสื้อผ้าชื่อดังที่มีสาขากว่า 1,300 แห่งใน 15 ประเทศทั่วโลก

11
โดยเฉพาะในย่านแฟชั่นชั้นนําอย่างถนนฟิฟธ์อเวนิวในสหรัฐอเมริกา ออกซฟอร์ดสตรีทในอังกฤษ หรือกลางกรุงปารีสในประเทศฝรั่งเศส
12
แม้จะประสบความสําเร็จเช่นนี้ แต่ยาไนก็ยังบอกคนอื่นเสมอว่า ชีวิตของเขาถ้าเปรียบเทียบกับเกม เขาลงแข่ง 10 ครั้ง แพ้ไป 9 ครั้ง​ และชนะแค่ครั้งเดียวเท่านั้น
13
ยาไนเป็นลูกชายคนเดียวไม่มีพี่น้อง บิดาเป็นเจ้าของร้านสูทเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดยะมะงุชิ หลังจบมัธยมปลายเขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังของญี่ปุ่น ในช่วงเวลานั้นนักศึกษาในกรุงโตเกียวต่างพากันรวมตัวประท้วงนโยบายของรัฐบาล มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จึงหยุดการเรียนการสอน
14
ขณะที่นักศึกษาคนอื่น ๆ กําลังต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ ยาไนไม่สนใจการเมืองหรือการประท้วง กลับเอาเวลาทั้งหมดไปเล่นไพ่นกกระจอกและปาจิงโกะเสียหมด เมื่อเรียนจบก็ไม่อยากเข้าทํางานที่ไหน จึงไม่ยอมหางาน จนพ่อของเขาทนไม่ไหวต้องฝากให้เข้าทํางานที่ห้างสรรพสินค้าจัสโก้ ยาไนทํางานที่จัสโก้เพียง 10 เดือนก็ลาออก เพราะเขายังไม่แน่ใจว่าอยากทํางานอะไร ในที่สุดเขากลับมาช่วยกิจการร้านเสื้อผ้าของครอบครัว
Uniqlo
เมื่อเริ่มทํางานที่ร้านตนเอง ยาไนตกใจกับความไร้ประสิทธิภาพของระบบการทํางาน พนักงานทํางานไปวัน ๆ ไม่กระตือรือร้นเหมือนพนักงานจัสโก้ ยาไนจึงพยายามปฏิวัติร้านทั้งหมด โดยนําความรู้ที่ได้จากการทํางานที่จัสโก้ ทั้งเรื่องการจัดการคลังสินค้าและการวางสินค้าอย่างเป็นระบบมาใช้ที่ร้านตน ลูกน้องคนใดทํางานไม่มีประสิทธิภาพ เขาก็ว่ากล่าวตักเตือนตรง ๆ
16
แม้ยาไนจะทําไปด้วยเจตนาที่ดี ทว่าพนักงานต่างทนการเปลี่ยนแปลงกะทันหันเช่นนี้ไม่ได้ พวกเขาค่อย ๆ ทยอยลาออกไปทีละคนสองคน จนสุดท้ายพนักงานลาออกไปทั้งหมด 7 คน เหลือพนักงานเก่าแก่อยู่เพียงแค่คนเดียว ยาไนจึงต้องทําทุกอย่าง ตั้งแต่ทําความสะอาดร้าน ทําบัญชี สั่งของ ขายสินค้า ในขณะที่มีอายุเพียงแค่ 24 – 25 ปีเท่านั้น
17
เขากล่าวในภายหลังว่า “ตอนนั้นผมลําบากมาก ทํางานแทบไม่มีเวลาหยุด แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เป็นประสบการณ์ที่ดี ทําให้ผมทําเป็นทุกอย่างทุกขั้นตอน”
18
เมื่ออายุประมาณ 30 ปี คุณพ่อมอบหน้าที่บริหารกิจการทั้งหมดให้แก่ยาไน เขาก็ตั้งใจปรับปรุงร้าน และค่อย ๆ ทํายอดขายและกําไรสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ธุรกิจจะมีกําไร แต่ก็ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน วันนี้มีกําไร แต่ก็ไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทําให้ยาไนพยายามอ่านหนังสือเกี่ยวกับการทําธุรกิจเป็นร้อย ๆ เล่ม และดิ้นรนออกไปคุยกับผู้บริหารบริษัทต่าง ๆ เพื่อหาความรู้และแนวคิดใหม่ ๆ เขาถามตนเองเสมอ ๆ ว่า บริษัทที่ดีเป็นอย่างไร และจะสร้างบริษัทที่ดีได้อย่างไร
19
วันหนึ่งเขามีโอกาสได้พบกับ จิมมี่ ไล (Jimmy Lai) เจ้าของแบรนด์ Giordano ที่ฮ่องกง เขาเห็นว่าจิมมี่สั่งซื้อเสื้อลําลองเป็นจํานวนมหาศาล ทําให้เขาเห็นโอกาสอะไรบางอย่าง ประกอบกับระหว่างการเดินทางไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา เขาได้เห็นความสําเร็จของแบรนด์เสื้อผ้าที่สวมใส่ง่าย เช่น GAP, Esprit, United Colors of Benetton แม้แต่ร้านสหกรณ์ในมหาวิทยาลัยก็เนืองแน่นไปด้วยนักศึกษาที่มาหาซื้อเสื้อฮู้ดและเสื้อยืดต่าง ๆ
20

ยาไนเห็นความแตกต่างระหว่างธุรกิจจําหน่ายเสื้อเชิ้ตและชุดสูทของที่บ้านซึ่งต้องคอยดูแลลูกค้า คอยเอาใจใส่ทุกกระบวนการ กับธุรกิจเสื้อผ้าลําลองซึ่งลูกค้าตัดสินใจเอง เลือกซื้อเอง เขาเห็นว่าธุรกิจประเภทหลังขายง่ายกว่า ไม่ยุ่งยาก และสามารถขยายธุรกิจได้เร็วกว่าธุรกิจเดิม จึงตัดสินใจเบนเข็มไปทําธุรกิจเสื้อผ้าลําลองแทน

Uniqlo
เขาตั้งชื่อบริษัทใหม่ว่า “Fast Retailing” ด้วยปณิธานที่ว่า จะนําสินค้าที่ลูกค้าต้องการไปให้ถึงมือลูกค้าได้เร็วที่สุด และตั้งชื่อแบรนด์เสื้อผ้าลําลองใหม่นี้ว่า “Uniqlo” ซึ่งมาจากคําว่า “Unique Clothing Warehouse” หรือคลังเสื้อผ้าที่เป็นเอกลักษณ์นั่นเอง
21
เขาตัดสินใจได้ถูกต้อง สินค้าราคาประหยัดทว่าคุณภาพดีอย่างเสื้อกันหนาวฟลีซได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว Uniqlo กลายเป็นกระแสในญี่ปุ่น เขาจึงขยายกิจการไปเรื่อย ๆ จากจังหวัดยะมะงุชิไปจังหวัดฮิโระชิมะ จังหวัดใหญ่ที่อยู่ติดกัน และกระโดดไปเปิดร้านที่โตเกียว จากนั้น Uniqlo ก็เติบโตอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ และมุ่งสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลก
22
หลายคนอาจมองว่า Uniqlo เป็นแบรนด์ที่่ประสบความสําเร็จมากในระยะเวลาไม่ถึง 20 ปี แต่ยาไนบอกว่าเขาผิดพลาดมามากเช่นกัน
23
“ในการทําธุรกิจ หากเริ่มอะไรใหม่ ๆ สัก 10 อย่าง ก็คงจะล้มเหลวสัก 9 อย่าง นั่นแหละความผิดพลาด ความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติในการทําธุรกิจ”
24
แต่ล้มเร็ว ก็ต้องลุกเร็ว
25
ยาไนเคยลงทุนทําธุรกิจเสื้อผ้ากีฬา โดยตั้งชื่อว่า Sportqlo แต่ก็ล้มเลิกไปในเวลาไม่ถึง 1 ปี เนื่องจากผู้บริโภคแยกความแตกต่างระหว่างแบรนด์ใหม่กับแบรนด์เก่าไม่ออก Uniqlo ไปเปิดร้านที่อังกฤษถึง 21 ร้าน ภายในระยะเวลาแค่ 2 ปี แต่สุดท้ายต้องปิดตัวไปถึง 16 ร้าน เนื่องจากขยายเร็วเกินไปทําให้เกิดปัญหาด้านการขนส่งสินค้าตลอดจนการอบรมพนักงานใหม่ เท่านั้นยังไม่พอ ยาไนและบริษัท Fast Retailing ของเขายังเคยพยายามลองทําธุรกิจขนส่งผักด้วย แต่ยอดขายไม่ถึงเป้า จึงล้มเลิกไปภายใน 2 ปี
Uniqlo
ในหนังสือ ชนะ 1 แพ้ 9 ที่ยาไนเขียนเรื่องเกี่ยวกับ Uniqlo มีอยู่หลายบทที่พูดถึงความผิดพลาดในการทําธุรกิจ แต่ทุกเรื่องที่ผิดพลาด เขาจะบอกด้วยว่าเกิดเหตุการณ์นั้นได้อย่างไร ตัดสินใจผิดพลาดตรงไหน แก้ปัญหาอย่างไร และก้าวเดินต่อไปด้วยวิธีไหน
27
เขาผิดพลาดมาหลายครั้งจริง ๆ แต่เขาก็ยังก้าวเดินต่อ
28
“ก่อนเริ่มทําธุรกิจใหม่ใด ๆ ก็ตาม ผมมองเห็นเป้าหมาย เห็นปลายทางแล้วว่าธุรกิจนี้น่าจะเป็นแบบไหน”
29
ถ้าธุรกิจนั้นดูท่าจะไปไม่ถึงฝั่ง ไม่เป็นไปตามเป้า ก็รีบถอนตัวแต่เนิ่น ๆ นั่นเป็นสาเหตุที่ Uniqlo ลองทําอะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลา และไม่เคยกลัวความล้มเหลว ขอเพียงความผิดพลาดนั้นไม่ถึงกับทําให้บริษัทต้องล้มละลาย เขาก็พร้อมที่จะผิดพลาดและเรียนรู้เสมอ
30
ล้มแล้วก็ลุกขึ้นได้
31
เขาเชื่อว่า ความล้มเหลวเป็นบทเรียนที่ดี ขอเพียงอย่าผิดซ้ํา และถอนตัวให้ไวจากความล้มเหลวในอดีต Uniqlo จึงมีตําราและคลังความรู้ว่า บริษัทต้องเปิดร้านในทําเลเช่นใด จัดวางของประเภทใดในทําเลไหน เรียนรู้ความต้องการของลูกค้าอย่างไร เวลาแตกแบรนด์ใหม่ต้องสร้างความแตกต่างกับแบรนด์เก่าอย่างไร ทั้งหมดได้มาจากความผิดพลาดในอดีตทั้งนั้น
32
วิ่ง ล้ม ลุก เรียนรู้ และก้าวเดินต่อไป
33
อย่ากลัวที่จะล้มเหลว แข่ง 10 ครั้ง แพ้ 9 ครั้งเป็นเรื่องปกติ ขออย่างเดียว ล้มเมื่อไรให้รีบลุกขึ้นมาวิเคราะห์ความผิดพลาดของตัวเองให้ดี แล้วตะลุยวิ่งแข่งในรอบถัดไป ชนะ 1 แพ้ 9 เป็นเรื่องปกติ
34
บทเรียนจากทาดาชิ ยาไน ชายที่ (น่าจะ) ล้มเยอะที่สุดและรวยที่สุดในญี่ปุ่น

ที่มา : นิตยสาร Secret  ฉบับที่ 183

เรื่อง : เกตุวดี Marumura
www.facebook.com/japangossip/
ภาพ : bilanz.ch, Uniqlo, itogi.ru, The Japan Times

 Secret Magazine (Thailand)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.