หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

“ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน” หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล อาจารย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล วัดดอนธาตุ จังหวัดอุบลราชธานี

หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หรือพระครูวิเวกพุทธกิจ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2402 ณ บ้านข่าโคม จังหวัดอุบลราชธานี บรรพชาเป็นสามเณรในปี พ.ศ. 2417 เมื่ออายุ 15 ปี อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกายในปี พ.ศ. 2442 แล้วแปรญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกายในปี พ.ศ. 2432 ท่านเป็นลูกศิษย์ของท่านเทวธัมมี (ม้าว)

ท่านเป็นพระนักปฏิบัติ อ่อนน้อม สุขุม พูดน้อย เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ได้ธุดงค์ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานไปตามป่าดงพงเขาทั้งในประเทศไทยและประเทศลาว ท่านเป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่นและพระกรรมฐานสายวัดป่าจำนวนมาก ได้รับยกย่องเป็น “ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน”

หลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่น

หลวงปู่เสาร์เป็นอาจารย์ที่หลวงปู่มั่นเคารพมากและเทิดทูนด้วยชีวิต ถ้าหลวงปู่เสาร์สั่งสอนสิ่งใด หลวงปู่มั่นก็น้อมรับมาปฏิบัติ หลวงปู่มั่นเคยเล่าถึงปาฏิหาริย์ทางจิตของหลวงปู่เสาร์ให้ศิษย์ฟังว่า

“นิสัยของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบ ๆ แต่ท่านก็มีสิ่งที่น่าอัศจรรย์อยู่ไม่น้อย เรื่องมีอยู่ว่า หลายครั้งที่ท่านนั่งสมาธิ ตัวของท่านจะลอยสูงขึ้นเหนือพื้น ทีแรกท่านก็ไม่ค่อยเชื่อตัวเองเท่าไร เพียงแต่ท่านรู้สึกว่าตัวของท่านลอยขึ้นมาในขณะนั่งภาวนา ต่อมาท่านจึงนั่งภาวนาอีก แล้วตัวมันก็ลอยขึ้นมาอีก เมื่อท่านรู้สึกว่าตัวของท่านลอยได้ ท่านจึงรีบลืมตาขึ้นดูเพื่อให้เห็นความจริงกันจะจะ ผลปรากฏว่า ก้นของท่านกระแทกลงกับพื้นอย่างจัง ต้องเจ็บปวดอยู่หลายวัน แต่กระนั้นท่านก็ยังเป็นนักพิสูจน์อยู่นั่นเอง ท่านเริ่มทดลองใหม่โดยการนั่งภาวนาอีก ทีนีี้พอตัวลอยขึ้น ท่านกำหนดจิตสู่สมาธิ ประคองความสงบเย็นเอาไว้แล้วค่อย ๆ ลืมตาขึ้นมามอง ปรากฏว่าท่านเห็นว่าตัวท่านลอยขึ้นมาได้จริง ๆ โดยท่านลอยขึ้นมาจากพื้นดินประมาณหนึ่งเมตร แต่กระนั้นท่านก็ยังไม่ปักใจเชื่อง่าย ๆ ต่อมาท่านทดลองด้วยการนำวัตถุชิ้นเล็ก ๆ เอาไปเหน็บไว้บนหลังคากุฏิ ขณะที่ภาวนา ท่านก็ทำอย่างเดิม คือทรงสมาธิเอาไว้ มีสติประคอง แล้วท่านก็ลืมตา เมื่อเห็นว่าตัวลอยขึ้น ท่านก็ค่อย ๆ ใช้มือหยิบวัตถุชิ้นนั้นออกมาจากหลังคา แล้วค่อย ๆ กำหนดให้ตัวเองลงสู่พื้นดินในท่านั่งขัดสมาธิตามเดิม เมื่อได้ทดลองจนเป็นที่แน่ใจแล้ว ท่านจึงเชื่อตัวเองว่าตัวท่านลอยขึ้นได้จริงในเวลาเข้าสมาธิ การลอยตัวของท่านไม่ได้เป็นไปทุกครั้ง แต่จะเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น”

 

หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

 

นี่คือลักษณะจิตที่เต็มไปด้วยปาฏิหาริย์ของหลวงปู่เสาร์ที่หลวงตามหาบัวเล่าว่า “แม้จะเป็นจิตที่มีปาฏิหาริย์ แต่ในแง่ของอุบายธรรมการเอาชนะกิเลสกลับเป็นไปด้วยความราบเรียบ นับแต่ขั้นเริ่มแรกจนถึงสุดท้ายปลายแดนแห่งปฏิปทาของท่าน ไม่ค่อยมีอะไรที่เป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้พ่ายแพ้ต่อกิเลส ท่านจึงไม่ค่อยมีอุบายต่าง ๆ และความรู้แปลก ๆ เหมือนจิตของท่านพระอาจารย์มั่น”

ความสัมพันธ์ของหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นนั้นเป็นความสัมพันธ์ของศิษย์และอาจารย์ที่ยากจะบอกกล่าว แม้กาลต่อมาหลวงปู่มั่นท่านบรรลุธรรมเป็นอนาคามีแล้ว แต่ท่านก็ยังปรนนิบัติหลวงปู่เสาร์อยู่เช่นเดิม ยังคงคอยบีบนวดรับใช้สม่ำเสมอ ดังคำกล่าวที่ว่า “แม้เป็นอรหันต์แล้ว เมื่อเจอครูอาจารย์ที่เคยสั่งสอน การแสดงความเคารพก็เป็นสิ่งสมควรทำ”

เรื่องเล่าหลวงปู่เสาร์

หลวงปู่เสาร์มีอุปนิสัยพูดน้อย ไม่นิยมการเทศนายาว ๆ แต่จะปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่างมากกว่า ท่านว่า “ทำให้มันดู มันยังไม่ดู ปฏิบัติให้ดูอยู่ทุกวัน มันยังไม่ปฏิบัติตาม เทศน์ให้ฟัง มันจะฟังหรือพวกท่าน” เวลาจำเป็นต้องเทศน์ ท่านก็เทศน์เพียงหนึ่งหรือสองประโยคเท่านั้นแล้วก็เลิก

ครั้งหนึ่งเจ้ามารดาทับทิมนำผ้าป่ามาทอดถวายและนิมนต์ท่านขึ้นแสดงธรรม ท่านขึ้นธรรมาสน์ ตั้งนะโม 3 จบ เสร็จแล้วท่านก็ว่า “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เอวังมีด้วยประการฉะนี้” จบแล้ว ท่านก็ลงจากธรรมาสน์ ท่านเคยพูดเป็นคติว่า “เขาจะเชื่อในความดีที่เราทำมากกว่าในคำพูดที่เราสอน”

 

หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

 

หลวงปู่เสาร์มีวัตรปฏิบัติที่ท่านมักทำอยู่เสมอ นั่นคือการออกธุดงค์ ท่านท่องเที่ยวไปทั่ว ทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว แม้ว่าอายุถึง 82 ปีแล้ว ท่านก็ยังออกธุดงค์อยู่ มีคราวหนึ่งท่านได้พาลูกศิษย์ไปธุดงค์ที่เมืองปากเซ นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว เหมือนที่ผ่านมา ทว่าในปีนั้นท่านมีอาการป่วยเนื่องจากพิษของผึ้ง อาการนี้เป็นมาตั้งแต่ก่อนออกพรรษา เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังภาวนาอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ จู่ ๆ ก็มีนกเหยี่ยวบินมาโฉบรังผึ้งซึ่งอยู่บนต้นไม้ที่ท่านใช้เป็นร่มเงา ท่านจึงถูกผึ้งรุมต่อย นับแต่นั้นท่านก็อาพาธมาตลอด ในวาระสุดท้าย เมื่อท่านได้ออกธุดงค์ในประเทศลาวสักพัก ท่านก็ป่วยหนักอีก จนลูกศิษย์ต้องพาท่านกลับมายังแขวงจำปาศักดิ์ ระหว่างนั้นท่านนั่งภาวนามาตลอด เมื่อถึงที่หมายท่านลืมตาขึ้นแล้วพูดว่า “ถึงแล้วใช่ไหม ให้นำเราไปยังอุโบสถเลย เพราะเราจะไปตายที่นั่น” หลังจากที่ลูกศิษย์ได้ประคองท่านเข้าไปในอุโบสถแล้ว ท่านก็สั่งให้เอาผ้าสังฆาฏิมาพาดและนั่งสมาธิไปพักใหญ่ เสร็จแล้วท่านก็ก้มกราบพระ พอกราบครั้งที่สามท่านกลับนิ่งงัน ไม่ขยับเขยื้อน ลูกศิษย์เห็นท่านกราบนานผิดสังเกต จึงเอามือแตะที่จมูกของท่าน ปรากฏว่าท่านได้ละสังขารในอิริยาบถขณะกราบนั่นเอง

สถานที่ที่ท่านละสังขารคืออุโบสถวัดอำมาตยาราม อำเภอวรรณไวทยากร นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง สิริอายุ 82 ปี 3 เดือน 1 วัน ต่อมาจึงเชิญศพมาไว้ ณ วัดบูรพาราม อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุบลราชธานี และทำพิธีถวายเพลิงในเดือนเมษายน พ.ศ. 2486 เมื่อหลวงปู่มั่นทราบข่าวก็ได้เดินทางมาร่วมในงานพิธีถวายเพลิงสรีรสังขาร หลวงตามหาบัวเล่าว่า งานในครั้งนั้นเป็นงานที่มีความยิ่งใหญ่ เป็นงานที่พระปฏิบัติมาร่วมกันโดยมิได้นัดหมาย เป็นที่น่าเคารพยิ่งนัก

 

หลวงปู่เสาร์กันตสีโล

 

“เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์
อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ”– หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

 

ที่มา  :  100 พระสงฆ์ 100 เรื่องเล่า 100 คำสอน – สันติ วุฒิรัตน์ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

หลวงปู่มั่นจอมทัพธรรม – พศิน อินทรวงค์ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

ภาพ : dhammajak.net, luangpumun.org, kammatan.com

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

“ธรรมชอบ โลกชัง” เรื่องเล่าของ หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท พระกรรมฐาน

อยากหมดทุกข์ต้องปฏิบัติทุกขณะ ธรรมะจากพระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรังสี)

สมาธิวิธี โดย พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม)

อานิสงส์ของการมีครู ธรรมะจาก หลวงปู่หลุย จันทสาโร

“รับความจริงได้ย่อมไร้ทุกข์” ธรรมะจาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปัญโญ


 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.