หายป่วย

หายป่วย ด้วยยาสามัญประจําใจ บทความให้แง่คิดโดย นายแพทย์ชวโรจน์ เกียรติกำพล

หายป่วย ด้วยยาสามัญประจำใจ โดย นายแพทย์ชวโรจน์ เกียรติกําพล
1
ไม่นานมานี้หมอรักษาผู้ป่วยรายหนึ่ง เธอเป็นหญิงวัยกลางคนและมีอาชีพเป็นถึงหัวหน้าพยาบาลในโรงพยาบาลที่หมอทํางาน
2
เธอเล่าว่ามีอาการใจสั่น มือสั่น เป็น ๆ หาย ๆ มาหลายอาทิตย์ นอนไม่หลับและรับประทานอาหารได้น้อยลง รู้สึกว่าร่างกายอ่อนเพลียมาก หมอให้เธอนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และตรวจเช็กร่างกายทั้งหมดตั้งแต่คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ทรวงอก รวมไปถึงตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติที่พอเป็นไปได้ในทุก ๆ โรค แต่ก็ไม่พบสาเหตุความผิดปกติใด ๆ จึงได้แต่แจ้งผลการตรวจและให้ยารักษาตามอาการ แล้วให้เธอไปพักผ่อนต่อที่บ้าน
3
หลังจากนั้นไม่กี่วันเธอก็กลับมาหาหมออีกครั้ง คราวนี้เธอปวดศีรษะมาก รู้สึกเพลียและปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและลําตัว รับประทานอาหารไม่ได้ หมอจึงตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และเอกซเรย์ใหม่ทั้งหมดอีกครั้งให้แน่ใจ แต่ผลออกมาก็ไม่พบความผิดปกติอยู่ดี สุดท้ายเธอได้แต่ขอให้เขียนใบรับรองแพทย์ให้เธอหยุดพักงานต่อก่อนสักระยะ หมอยอมตามนั้นเพราะสงสาร แต่ก็ไม่รู้ว่าจะรักษาอย่างไรดี
4
หนึ่งเดือนต่อมา หมอพบเธอที่วอร์ดในโรงพยาบาล ครั้งนี้เธอแตกต่างออกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ดูกระฉับกระเฉงมากขึ้น ทํางานคล่องแคล่วและออกไปทางรีบร้อนด้วยซ้ํา หมอเข้าไปซักถามถึงอาการ เธอตอบว่า อาการของเธอนั้นก็ยังไม่ได้ดีขึ้นมากนัก ถ้านึกถึงเมื่อใดก็มักแย่ลงเมื่อนั้น แต่ตอนนี้มีเรื่องใหญ่ต้องทําคือ แม่ของเธอป่วยเป็นวัณโรคปอดอยู่ระหว่างการรักษา สภาพร่างกายแม่อ่อนเพลียมาก นอนติดเตียงและกินได้น้อยจนน่าสงสาร เธอมองแม่ทีไรก็อดรู้สึกหดหู่ไม่ได้ คอยแต่จะคิดโทษว่าตัวเองเป็นพยาบาลแท้ ๆ ทําไมดูแลแม่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ในครอบครัวก็มีเธอเป็นเสาหลักอยู่คนเดียว เธอจึงจําเป็นต้องเข้มแข็ง รีบทํางานประจําให้เสร็จและกลับบ้านไปดูแลแม่ เธอบอกว่าเธอยังไม่มีเวลาป่วย
5
หมอฟังแล้วก็เห็นใจ แต่ก็รู้สึกดีใจไปกับเธอด้วย เธอน่าจะหายจากโรคที่คอยรบกวนมานานแล้วละครับ หายด้วยยาสามัญประจําใจที่คนทุกคนควรมีเป็นพื้นฐานของจิตใจอยู่เสมอ นั่นก็คือ “ความเมตตากรุณา” นั่นเอง
6
ยาสามัญประจําใจคือความเมตตาและกรุณานั้นอยู่ในหลักพรหมวิหาร 4 ที่ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ความเมตตาเป็นความรู้สึกที่อยากให้ผู้อื่นมีความสุข เป็นคําที่มีความหมายคล้ายคลึงกับคําว่ามิตรไมตรี อันหมายถึงความหวังดีต่อกัน ส่วนความกรุณานั้นเป็นการช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ ธรรมทั้งสองนี้จึงจัดเป็นยาสามัญประจําใจอย่างแท้จริง
7
พระพุทธเจ้าทรงเคยบรรยายสรรพคุณของยานี้ไว้มากมาย คือทําให้จิตใจสดชื่น ผ่องใส มีความสุข ทรงเคยบรรยายอานิสงส์ในเรื่องนี้ไว้ถึง 11 ประการเลยทีเดียว ได้แก่
8
“หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดารักษา ไฟหรือพิษและศัสตราไม่มากล้ํากราย จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้รวดเร็ว สีหน้าผ่องใส ตายก็มีสติไม่หลงฟั่นเฟือน เมื่อยังไม่บรรลุคุณธรรมที่สูงกว่าย่อมเข้าถึงพรหมโลก”
9
ยาสามัญประจําใจนี้ นอกจากจะมีผลดีต่อผู้คนรอบตัวแล้ว ยังเป็นผลดีต่อตัวผู้ใช้เองอีกด้วย เมื่อใดก็ตามที่เรามองออกไปถึงความทุกข์ทรมาน ความลําบากยากเข็ญ หรือความเจ็บป่วยของผู้อื่น เรามักจะลืมความทุกข์ของตัวเราเองจนแทบหมดสิ้น จิตใจของเราจะแผ่กว้างออกไปจนความทุกข์ของเรากลายเป็นเรื่องเล็กน้อย นับได้ว่าเป็นการรักษาจิตใจของเราไปพร้อม ๆ กัน กรณีตัวอย่างของคุณพยาบาลที่เกิดความเมตตาและกรุณาต่อมารดาจนโรคประจําตัวของเธอดีขึ้น
10
ทุกคนสามารถฝึกใช้ยานี้ได้บ่อย ๆ โดยไม่เสียเวลา และไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ยิ่งใช้ยิ่งมีสุขภาพกายและใจดีขึ้นเรื่อย ๆ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ หมอจึงอยากเชิญชวนให้ผู้อ่านลองนํายาสามัญประจําใจนี้ไปใช้ดูบ้าง
11
รับรองว่าผลลัพธ์ที่ได้จะช่วยให้จิตใจผ่องใสและร่างกายแข็งแรงขึ้นอย่างแน่นอน
12
ที่มา : นิตยสาร Secret  ฉบับที่ 229
เรื่อง : นายแพทย์ชวโรจน์ เกียรติกําพล
photo by geralt on pixabay

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.