กาย

วาง กาย คลาย วางใจกลาง ๆ โดย หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ

เวลาเราปฏิบัติ ใช้ กาย ใช้ใจใช้วาจา เช่น เรานั่งสร้างจังหวะ เราทำกายทำใจให้รู้สึกตัว อย่าเพียงแต่เป็นรูปแบบ บางทีมันแข็งกระด้าง ทำไม่เป็น เช่น เราจะขี่ช้าง ขี่ม้า ขี่ควาย เวลาเรานั่งหลังม้า หัดม้าให้มันวิ่ง ถ้าเรานั่งไม่เป็น ม้ามันก็วิ่งไม่ดี ไม่สบาย แทนที่จะนั่งม้าให้สบาย มันก็โขยกเขยกไป เพราะเรานั่งหลังมัน เป็นไม่เป็น มันก็เคืองเหมือนกัน บางทีก็สลัดเราตกลงไป ทั้งเจ็บทั้งเหนื่อย ถ้าขี่ม้าไม่เป็น แต่ช้างมันโยกเราให้โคลงไปให้มา เออ มันก็ดี ถ้าขี่ม้าก็เหมือนกัน

การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ถ้าเรายกมือให้ไปง่าย ๆ อย่าไปกด อย่าไปคลึง ไปง่าย ๆ ยกมือพาให้ง่าย ๆ เดินพาให้ง่าย ไม่ใช่เดินเพื่อให้ยุ่งยาก ยกมือเพื่อให้ยุ่งยาก เป้าหมายสวนทางกับการยกมือ สวนทางกับการเดิน การยกมือเคลื่อนไหวอันหนึ่ง จิตใจก็อีกแบบหนึ่ง ฝืน ไม่อยากยกมือ ไม่อยากทำการยกมือ ก็หนักเพราะไม่มีแนวร่วม พลังร่วมก็ไม่มี

การเดินก็เหมือนกัน การเดินก็เดินง่าย ๆ ไปกับความรู้สึกง่าย ๆ …ไปด้วยกันง่าย ๆ …อย่าขัดอย่าแย้งความรู้สึกตัวกับกาย ความรู้สึกตัวกับใจ แต่ว่าไม่ใช่ไปตามใจที่เราไม่สอนมัน ต้องให้มันรู้ ความรู้สึกตัวนี่ ถ้าเข้ากันได้ดีกับกายกับใจแล้ว ไม่มีอะไรที่จะเข้ากันได้ดีเท่ากับความรู้สึกตัวกับกายกับใจ เหมือนน้ำกับนม เหมือนน้ำกับน้ำ น้ำลำปะทาว น้ำชี น้ำพอง น้ำมูล น้ำแม่โขง ไปใส่กันก็อันเดียวกัน ให้มันเป็นการสั่งสอนตัวเอง เวลานั่งก็อย่าไปก้มเกินไป สายตาก็อย่าไปบีบ ไปบีบส่วนไหน อย่าไปบีบ ระมัดระวังไปก็ไม่ต้อง ระวังเกินไปก็ตื่น

กาย

เมื่อวานก็มีพระมาจากบ้านอื่น 3 รูป มาถามเรื่องการปฏิบัติเพราะตื่น  เพราะตกใจง่าย บางทีมันก็ตื่นเหมือนกันถ้าระวังเกินไป เคยเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เห็นพระเห็นเณรเดินไปตีระฆังก็เห็นอยู่ แต่เวลาเขาเคาะระฆัง เป๊ง! เราก็ตื่น มันระวังเกินไป เห็นของอะไร ได้ยินของอะไรตกเป๊งป๊าง เราก็ตื่นแล้ว ตื่นมาได้กลิ่นละทีนี้ ตาก็ไปโน่น ใจก็คิดไปแล้ว ถ้าเราทำไว้ดี ๆ เตรียมไว้ดี ๆ มันไม่ตื่น เห็นแล้วไม่ต้องไปดูก็ได้ คงจะมีอะไรตก ไม่ต้องไปดู บางทีการระวังเกินไปก็ไม่ค่อยดี ให้มันง่าย ๆ เดินไปก็อย่าไปก้มเกินไป พอดี ๆ วาง มันมีฉากกายของเรา ใจของเรามันมีฉาก มันได้ฉาก เช่น เราเดินนี่ ความสูงของการเดิน ความยาวระหว่างวางสายตาไปกับการเดินมันไปด้วยกัน ความสูงของกายเราก็ทอดสายตาไปข้างหน้าเท่ากับความสูงของการนั่งทอดสายตา มันได้ฉากพอดี มันอยู่ได้นาน การนั่งก็อย่าไปก้ม อย่าไปเงยเกินไป มองไปข้างหน้าเท่ากับความสูงของการนั่งทอดสายตา มันได้ฉากพอดี มันอยู่ได้นาน อาจจะไม่ต้องง่วงก็ได้ ถ้าเราก้มเกินไปก็เหมือนกับปิด ไม่พอดี เงยเกินไปก็ฟุ้งซ่าน ก้มเกินไปก็ง่วงเหงาหาวนอน หรือเครียดเกินไป วางพอดี ปล่อย ๆ วาง ๆ

หรือถ้าจะเปรียบ ถ้าจะให้มีแนวร่วม เกิดพลังร่วม มันก็มีได้หลายอย่าง เช่น เราจะฟันขวานขุดดิน ก็ให้กายน้อมไป เวลาเราเหวี่ยงไป กายก็น้อมไปมันแรง แรงเป็น 2 เท่า ถ้าเราขุดลงไป กายเราไม่น้อมช่วย มีเพียงแต่มือ มันก็ไม่มีแรง แรงไม่มาก เห็นเขาเตะตะกร้อ เตะฟุตบอล ต่อยมวยก็ต้องโน้มไป หมัดที่เขาเหวี่ยงไป เตะฟุตบอลโดดไป แรงพุ่งไป เตะตะกร้อก็พอดี ความพอดีมันก็เป็นนักกีฬาได้ การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน หลาย ๆ อย่างที่เราจะมาช่วยให้สติมันงอกงาม แต่เวลาใดที่มันคิด มันหลงไป ก็ทำเกี่ยวกับความคิด เกี่ยวกับความหลงให้ถูกต้อง ไม่ใช่กระทบไม่ใช่กระเทือน ไม่ใช่คิด ความผิดอาจจะเป็นความถูกก็ได้ ถ้าเราดูแลตัวเราดี ๆ อยากผิดกันด้วยซ้ำไป จะได้รู้จัก และมันก็ผิดให้เราเห็นอยู่ เราก็เห็นกันอยู่ เราก็เกี่ยวข้องกับความผิด ความสุข ความทุกข์ ก็นั่นแหละ มันก็มีให้เราเห็นโทนโท่อยู่ ไม่ได้ลับได้ลี้ไปไหน มันเปิดเนื้อเปิดตัวทำให้เราเห็นนะ

 

ที่มา : ทางลัดสู่การบรรลุธรรม – หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

ภาพ : วัดป่าสุคะโต

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

จงปล่อยวาง ทั้งโลกนี้และโลกหน้า ธรรมะสอนใจ จากพระไพศาล วิสาโล

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.