วัดสำคัญ

ชม 2 วัดสำคัญ ของพระนครศรีอยุธยา ในมุมที่คนส่วนใหญ่ไปไม่ถึง

ชม 2 วัดสำคัญ ของพระนครศรีอยุธยา ในมุมที่คนส่วนใหญ่ไปไม่ถึง

กระแสละครย้อนยุคปลุกผู้คนให้มาเยือนจังหวัดพระนครศรีอยุธยากันคับคั่ง เห็นออเจ้าเดินอยู่ทั่วพระนคร (ศรีอยุธยา) แต่ใน วัดสำคัญ ของพระนครศรีอยุธยาหลายแห่ง แม้มีผู้คนไปผ่านมา แต่มีบางแห่งที่คนทั่วไปไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก ซีเคร็ต จึงอยากแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จัก

อุโบสถ วิหารเขียน วัดพนัญเชิงวรวิหาร

วัดพนัญเชิงวรวิหาร วัดเก่าแก่ของพระนครศรีอยุธยา สร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาที่ทั้งชาวไทยและชาวจีนต่างเคารพนับถือมาช้านาน คนส่วนใหญ่มักเดินมุ่งตรงไปยัง วิหารหลวง เพื่อกราบนมัสการ พระพุทธไตรรัตนนายก พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองตอนปลาย ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อโต (ชาวจีนนิยมเรียกว่าซำปอกง) แต่เดิมมีพิธีห่มผ้าหลวงพ่อโต ปัจจุบันยกเลิกไปตามกฎการจัดระเบียบวัด แต่ผู้คนยังเนืองแน่นเช่นเดิม

วัดสำคัญ

***พระพุทธไตรรัตนนายก***

วัดสำคัญ

***พระพุทธรูปทองและพระพุทธรูปนาค แต่เดิมหุ้มปูนลงรักปิดทองไว้ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2310 ต่อมา พ.ศ. 2499 ทางวัดทำความสะอาดจึงพบรอยปูนที่หลุดล่อน และเห็นว่าภายในเป็นทองและนาค จึงได้กะเทาะปูนออกปรากฏเป็นพระพุทธรูปดังทุกวันนี้***

วัดสำคัญ

***วิหารเขียนแตกต่างจากวิหารเก่าแก่หลายแห่ง คือ ภาพเขียนลวดลายกระถางต้นไม้ต่าง ๆ รวมถึงเครื่องใช้ เครื่องบูชา เป็นไปตามคตินิยมของชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย***

ด้านหน้าประตูวิหารหลวงทั้งสองฝั่งมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่น่าสนใจ แต่คนทั่วไปอาจไม่รู้จัก เนื่องจากผู้คนมักเดินเลยประตูทางเข้าไปแล้วออกทางประตูด้านข้างวิหารหลวงโดยไม่ย้อนกลับมาอีก ได้แก่ อุโบสถ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งซ้าย ภายในมีภาพจิตรกรรมมารผจญ รอบข้างเป็นภาพเทพชุมนุมและภาพพุทธประวัติชาดก ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูป 3 องค์ คือ พระพุทธรูปทองสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยา และพระพุทธรูปนาคสมัยสุโขทัย ส่วนฝั่งขวามีวิหารตั้งคู่กับพระอุโบสถ คือ วิหารเขียน ตามตำนานการสร้างโบสถ์กล่าวไว้ว่า บุตรเขยพระยารามัญเป็นผู้สร้าง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาปางมารวิชัย

ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธศวรรย์

วัดพุทไธศวรรย์ เป็นพระอารามหลวง คู่บ้านคู่เมืองพระนครศรีอยุธยามากว่า 600 ปี มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี สืบเนื่องถึงสมัยรัตนโกสินทร์มีบันทึกถึงวัดแห่งนี้ในโอกาสสำคัญหลายครั้ง

วัดสำคัญ

ส่วนที่โดดเด่นที่สุดภายในวัดพุทไธศวรรย์ คือ พระปรางค์ประธาน สถาปัตยกรรมแบบปราสาทขอม ล้อมรอบด้วยระเบียงคด มีพระพุทธรูปสีทองอร่ามศิลปะแบบสุโขทัยเรียงรายอยู่อย่างสวยงาม นอกจากนั้นยังมีอาคารรายล้อมอื่น ๆ ที่บ่งบอกร่องรอยทางประวัติศาสตร์ เช่น วิหารทรงเครื่อง วิหารพระพุทธไสยาสน์ และวิหารอื่น ๆ ซึ่งมีลักษณะอาคารทรงท้องสำเภา เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนิยมในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย บางส่วนยังพบลวดลายปูนปั้นอันวิจิตร โดยเฉพาะ ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ มีภาพจิตรกรรมสำคัญที่คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้เข้าไปชม ซึ่งอาจเป็นเพราะประตูทางเข้าวกวน บันไดทางขึ้นเป็นไม้ทรุดโทรม

วัดสำคัญ

***ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์เป็นอาคารสองชั้น นักวิชาการสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นศาลาการเปรียญของวัด ภายในชั้น 2 มีภาพจิตรกรรมฝาผนังในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ทิศเหนือเขียนเรื่องไตรภูมิ ทิศใต้เขียนภาพมารผจญ ทิศตะวันออกเขียนภาพพระพุทธบาทที่สำคัญ 5 แห่ง และทิศตะวันตกเขียนภาพทศชาติ***

วัดสำคัญ

ภาพเขียนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ณ ประเทศลังกา บนผนังด้านทิศตะวันออกในตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ กรมศิลปากรระบุว่า เป็นงานจิตรกรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ทรงคุณค่ายิ่ง เพราะเป็นการเขียนภาพที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศาสนา สังคม และวัฒนธรรม เป็นงานจิตรกรรมในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเพทราชา ราวปี พ.ศ. 2231 ถึงปี พ.ศ. 2245

คราวหน้า ถ้าใครได้ไปเยือนพระนครศรีอยุธยา อย่าลืมใช้เวลาเยี่ยมชมสถานที่ที่อาจมองข้ามไปเหล่านี้นะคะ

 

ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 234

เรื่องและภาพ : urara

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

ชมพระประธานยิ้มรับฟ้า กราบสมเด็จฯ สวดคาถาชินบัญชร  วัดระฆังโฆษิตาราม

ชวนไปส่องภาพจิตรกรรมโบราณสมัยอยุธยาตอนปลายที่ วัดไชยทิศ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.