น้ำเต้าปูปลา เมนูอร่อยต้านโรคกระเพาะ

น้ำเต้าปูปลา เมนูอร่อยต้านโรคกระเพาะ

โดย อ.วันทนี ธัญญา เจตนธรรมจักร ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์

หลายคนคงเคยมีอาการปวดท้อง  อาหารไม่ย่อย  ท้องอืด  ท้องเฟ้อ  ในบางคนมีอาการดังกล่าวข้างต้นมาเป็นเวลาระยะหนึ่งแล้ว  และอาการค่อยๆเป็นมากขึ้น  บางครั้งพอรับประทานผักหรือผลไม้มากๆหรือทดแทนอาหารหนึ่งมื้อ  เพื่อที่จะลดน้ำหนักกลับกลายเป็นว่ายิ่งทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง  แน่นท้อง  อาหารไม่ย่อยจนทำให้อึดอัดท้อง  ปวดท้อง  นอนไม่หลับ

ความไม่สบายเหล่านี้เป็นทุกข์มาก  หลายคนหาสาเหตุไม่พบ  นานวันระบบการย่อย  การขับถ่ายแปรปรวน  อาการดังกล่าวเป็นอาการของธาตุไม่ปกติ  และก่อให้เกิดอาการของโรคกระเพาะในภายหลัง  หรือรับประทานอาหารรสเผ็ดร้อนแล้วรู้สึกแสบร้อนท้องและคอหรือหน้าอกหรือเรอเหม็นเปรี้ยว  เหล่านี้คือ อาการของไฟธาตุกำเริบ  เป็นนานเข้าก็ส่งผลให้น้ำย่อย(น้ำที่มีไฟธาตุ)ไปย่อยเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารและลำไส้(ธาตุดิน)ทำให้เกิดเป็นแผลอักเสบในภายหลัง

หรือการที่รับประทานแต่อาหารที่มีฤทธิ์เย็นนานเข้าก็ทำให้ไปรบกวนระบบของไฟธาตุในการย่อยอาหารทำให้อาหารย่อยได้ไม่ดี  ส่งผลให้มีอาการท้องอืด  แน่นท้อง  นาน ๆ ก็ทำให้เกิดอาการลมแน่นหรือลมดันขึ้น  จนแน่นจุกอก  ปวดเสียดท้อง  ท้องอืด  ไม่สบายท้อง  อาการดังกล่าวเกิดจากไฟธาตุในการย่อยนั้นอ่อนแอหรือเรียกว่าไฟธาตุอ่อน  เป็นนานวันเข้าทำให้ระบบการย่อย  การขับถ่ายผิดปกติหรือเรียกว่าไฟย่อยอาหารแปรปรวนนั่นเอง  บางรายส่งผลต่อระบบธาตุอื่นเช่น  ธาตุลมกำเริบคือจุกแน่น  หน้ามืด  ตาลาย  หรือธาตุลมหย่อน(อ่อนหรือทำงานน้อยลง)ทำให้เกิดอาการคั่งของการไหลเวียนต่างๆ  ส่งผลให้เกิดลมแน่นในท้อง  มือเท้าเย็นหรือชา  หรือในผู้ที่มีไฟธาตุกำเริบก็จะมีลมดันขึ้น  แสบร้อนอก  จุกแน่นเพราะลมดัน  มึนหรือปวดศีรษะ  อาการนี้เป็นอาการเริ่มต้นของโรคกระเพาะอาหารและแผนไทยเอง เปรียบเทียบไว้กับอาการของธาตุไม่ปกติกำเริบหรืออาการใกล้เคียงกับอาการของ “กษัยปู” ในพระคัมภีร์กษัย (กษัยปู เกิดเพื่อโลหิต คุมกันเป็นก้อนดังตัวปูทะเล ตั้งอยู่ในกระเพาะข้าว ปวดขบท้องน้อย กินอาหารทับลงไปก็สงบ สิ้นอาหารก็ให้ขัดในลำไส้ แน่นไปทั้งท้อง เจ็บดังจะขาดใจ) เป็นต้น

อาหารและยาที่เหมาะสมกับคนที่มีไฟธาตุในการย่อยกำเริบจนทำให้ระบบธาตุลมในท้องผิดปกติ(ตามแบบแผนไทย)นั้น  ควรเลือกยาหรืออาหาร ที่มีรสฝาด หรือฝาดติดร้อนเล็กน้อย เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้น้ำย่อย(น้ำไฟธาตุ)ไปกัดกร่อนทางเดินอาหาร  รสร้อน ที่ได้จากเครื่องเทศหรือยาแต่ไม่เผ็ดร้อนจัด เพื่อช่วยคุมระบบการย่อยและรักษาสมดุลของไฟธาตุอื่นๆที่มีผลต่อระบบการไหลเวียนต่างๆ(ลม) ทำให้เกิดการขับเคลื่อนได้ดี   และอาจมีรสอื่นเช่น รสจืด เพื่อช่วยคุมรสอื่นๆไม่ให้มีฤทธิ์แรงเกินไปและอาจส่งผลถึงอาการไม่พึงประสงค์ได้  เช่น แสบร้อนท้องหรือทำให้ท้องผูกเป็นต้น เติมรสขมเล็กน้อยเพื่อช่วยเสริมการหลั่งน้ำย่อยหรือน้ำดี  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยอาหารหรือสารอาหารอื่นๆ  และต้องรักษาสมดุลธาตุอื่นๆของร่างกายไม่ให้ถูกกระทบจนเสียสมดุลธาตุ

น้ำเต้าปูปลา
น้ำเต้าปูปลา

น้ำเต้าปูปลา

ส่วนผสม (สำหรับ 1 ที่)

เตรียม 30 นาที ปรุง 10 นาที

เนื้อปลาทับทิมแล่เป็นชิ้นบางลวกสุก              100         กรัม

เนื้อปูนึ่งสุก                                            2          ช้อนโต๊ะ

ผลน้ำเต้าอ่อนหั่นเต๋าต้มสุก                           4           ช้อนโต๊ะ

กล้วยตากหั่นเต๋า                                      2          ช้อนโต๊ะ

มะเขือเทศราชินีผ่าครึ่ง                                8          ผล

ต้นหอมซอย                                           1           ช้อนชา

ขมิ้นขาวซอย                                          ¼          ถ้วย

ส่วนผสมเครื่องคั่ว

ขิงสับ                                                   1         ช้อนโต๊ะ

ขมิ้นขาวซอย                                           1          ช้อนโต๊ะ

ขมิ้นชันตำหยาบ                                       3           ช้อนโต๊ะ

กระเทียมตำหยาบ                                     1          ช้อนโต๊ะ

น้ำมันมะกอก                                           1          ช้อนโต๊ะ

ส่วนผสมน้ำราด  ซีอิ้วขาว 1 ช้อนโต๊ะ  น้ำมันมะกอก 1 ช้อนชา  น้ำมะนาว ½ ช้อนโต๊ะ  ใบต้นหอมซอย

วิธีทำ

  1. คั่วส่วนผสมเครื่องคั่วในน้ำมันมะกอกด้วยไฟอ่อน ๆ จนกรอบ ตักขึ้นพักไว้ คนผสมส่วนผสมน้ำราดรวมกันเตรียมไว้
  2. จัดส่วนผสมอาหารทุกอย่างใส่ลงในจาน เมื่อจะรับประทาน ราดน้ำราด และโรยเครื่องคั่ว พร้อมเสิร์ฟ

ล้อมกรอบ

  • เนื้อปลา  เนื้อปู เป็นโปรตีน ที่ย่อยง่ายไขมันต่ำ  มีโปรตีนสูง  ธาตุอาหารเป็นกลาง
  • น้ำเต้า รสจืด  มีกากใยที่ดีช่วยปรับธาตุในอาหารไม่ให้เผ็ดร้อนหรือเปรี้ยวจัด เพราะจะทำให้ธาตุไฟมากเกินไป
  • ขมิ้นชัน ขมิ้นขาว  รสเผ็ดปร่าฝาดเล็กน้อย  ช่วยในการขับลม  ช่วยเจริญไฟธาตุและช่วยแก้อาการจุกแน่นอาหารไม่ย่อย  รักษาอาการของกระเพาะอาหาร
  • กล้วยตากมีรสหวาน ช่วยปรับรสชาติของอาหารให้อร่อยและช่วยในการป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร
  • ขิง รสร้อน  ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้  ช่วยขับลมแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง  อาหารไม่ย่อยท้องอืดเฟ้อ  เพิ่มไฟธาตุในการย่อย

พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 425.00 กิโลแคลอรี

โปรตีน 28.40 กรัม 

ไขมัน 19.50 กรัม

คาร์โบไฮเดรต 34.80 กรัม 

ไฟเบอร์3.00 กรัม

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.