“แจ่วบอง” (อาจ) ครองโลก

นายน้ำพริกกล้าท้าเลย นอกจากน้ำพริกกะปิแล้ว ชื่อ “แจ่วบอง”คืออีกหนึ่งชื่อน้ำพริกที่แทบทุกคนรู้จัก!

แจ่วบอง

ด้วยเป็นคนอีสานแต่กำเนิด แจ่วบองจึงเป็นเพื่อนร่วมสำรับมาตั้งแต่เด็กถึงโต แต่ต้องสารภาพว่าสมัยก่อนนายน้ำพริกไม่ได้ชื่นชอบน้ำพริกนี้เท่าใด ด้วยกลิ่นเฉพาะตัวและคำว่า “ปลาร้า” ที่ผสมลงไป ทำให้เด็กน้อยลาวกบฏคนนี้เลือกเมิน แต่อย่างว่าเราไม่สามารถลบล้างกำพืดเราได้ฉันใด ต่อให้ไม่ชอบแค่ไหน นายน้ำพริกก็หนีน้ำพริกแจ่วบองนี้ไม่พ้นสักหน อย่างน้อยที่สุดเวลากลับบ้าน ถ้วยแจ่วบองก็มักวางหราโชยอโรมามาเตะจมูกเยาะเย้ยกันอยู่เสมอ

มากินแจ่วบองเป็นเอาก็ตอนโต เพราะมีเหตุจำใจให้ต้องปรุงน้ำพริกชนิดนี้ จึงได้สืบเสาะวิธีทำจากคุณยาย จนได้รู้ว่า อ้อ ที่แท้น้ำพริกนี้ก็แค่พริกแห้ง หอม กระเทียม ใบมะกรูด ข่า นำไปคั่วโขลกละเอียด แล้วสับปลาร้าใส่ลงโขลกปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำปลาร้า น้ำปลาถ้าชอบเปรี้ยวก็เติมมะขามเปียกหรือมะเขือเทศเผาก็ได้ ยายยังขยายความอีกว่า คำว่า “แจ่วบอง” หมายถึง แจ่วทรงเครื่อง เพราะแจ่วอีสานทั่วไปเขาปรุงง่าย ๆ ใส่แค่พริก หอม กระเทียมเผาโขลก ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้าหรือน้ำปลาแค่นั้นแต่พอเป็นแจ่วบองต้องเติมใบมะกรูด เติมข่า และเครื่องทุกอย่างก็ต้องนำไปคั่วก่อนเติมเนื้อปลาร้าสับลงไป เรียกได้ว่าทำแบบประณีตขึ้น แจ่วบองจึงเป็นของดีคู่พาข้าว (สำรับ) ของชาวอีสาน

แจ่งบอง

เมื่อได้รู้ส่วนผสมและกรรมวิธีทำ ครานี้นายน้ำพริกก็เลยสะดวกใจที่จะลองบริโภคสักหน ซึ่งหากจะกินแบบอีสานโบราณก็ไม่ต้องปรุงให้สุก แต่เพื่อสุขอนามัยเดี๋ยวนี้ชาวอีสานเขาปรุงแจ่วบองให้สุกก่อนกิน โดยนำไปผัดกับน้ำมันเล็กน้อย เพื่อปลอดภัยต่อพยาธิใบไม้ในตับที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีและมะเร็งตับตามมา

ตอนเป็นเด็กจะเห็นพวกพี่เลี้ยงและพี่สาวชอบกินแจ่วบองกับยอดขนุนอ่อนกันส่วนพ่อจะกินกับผักสดพื้นบ้านอีสานต่าง ๆ และยังกินกับไก่ย่าง เนื้อย่างอีกด้วย แต่ถ้าสูตรเด็ดของแม่จะใส่แจ่วบองลงในท้องปลาแล้วนำไปนึ่ง

พอกินแจ่วบองเป็น เหมือนได้เปิดประตูสู่โลกกว้างอีกบาน เพราะอาหารชนิดนี้กลายเป็นประเด็นให้พูดคุยกับผองเพื่อนนักชิมทั้งหลาย และได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่าร้อยละ 90 ล้วนชื่นชอบแจ่วถ้วยนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้นที่สำคัญ เมื่อรถเข็นอาหารของชาวอีสานบุกตลาดเมืองกรุง นอกจากลาบ ต้มน้ำตก ซกเล็ก ตำบักหุ่ง จะเป็นที่ถูกปากถูกใจแล้ว แจ่วบองอัดกระปุกพลาสติกก็ผันตัวจากอีนางน้อยกลางวงข้าวมาเป็นขวัญใจมหาชนคนเดินดิน ให้หนุ่มสาวชาวอีสานที่คิดถึงบ้านหรือนักกินต่างถิ่นที่หลงรสติดใจได้ซื้อมาลองลิ้มว่าไปแล้วแจ่วบองก็เป็นเสมือนหนึ่งเครื่องยืนยันว่า วิธียุทธศาสตร์ป่าล้อมเมืองนั้นได้ผลดีเพียงใด เพราะกว่าจะรู้สึกตัวอีกหน แจ่วบองก็ครองเมืองไปเสียแล้ว

แถมทุกวันนี้แจ่วบองยังมาอยู่ตามรถเข็นหมูปิ้งหรือของย่างจำพวกไส้หมู คอหมู ฯลฯ เรียกได้ว่ามองไปทางไหนก็เห็นแต่แจ่วบอง แถมพลเมืองคนกินแจ่วบองก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งน้ำพริกเลือดอีสานนี้มีคนพัฒนาทำเป็นแบบผงชงน้ำส่งนอกโกอินเตอร์ไปแล้ว ถึงขั้นนี้ใครจะรู้ล่ะ ไม่แน่วันหนึ่งแจ่วบองอาจครองโลกก็ได้

แจ่วบอง

ส่วนผสม (สำหรับ 1 ถ้วย) เตรียม 30 นาที ปรุง 30 นาที

  • ปลาร้าปลากระดี่สับละเอียดทั้งก้าง 2 ช้อนโต๊ะ
  • ปลาร้าปลาช่อนแกะเอาแต่เนื้อสับ 2 ช้อนโต๊ะ
  • พริกชี้ฟ้าแห้งตัดเป็นท่อนคั่วกรอบ 7 เม็ด
  • พริกขี้หนูแห้งตัดเป็นท่อนคั่วกรอบ 7 เม็ด
  • ใบมะกรูดคั่วกรอบ 5 ใบ
  • หอมเล็กซอยคั่ว 10 หัว
  • กระเทียมกลีบเล็กปอกเปลือกคั่ว 30 กลีบ
  • ข่าซอยคั่วพอเหลือง 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำปลาร้าสำหรับปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำปลาสำหรับปรุงรส 1/2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลทราย 2 ช้อนชา
  • ใบมะกรูดซอยตามชอบ
  • และน้ำมันสำหรับผัดแจ่วบองเล็กน้อย

 

พลังงานต่อหนึ่งถ้วย 293.92 กิโลแคลอรี
โปรตีน 14.28 กรัม ไขมัน 4.95 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 46.68 กรัม ไฟเบอร์ 3.22 กรัม

เรื่อง : นายน้ำพริก ภาพ : พีระพัฒน์ พุ่มลำเจียก สไตล์ : จารุนันท์ ศรีทองนาก

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.