เคลือบกระเพาะด้วยว่านหางจระเข้

ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่เร่งรัดทำให้บางคนกินอาหารไม่ตรงเวลา บ้างก็อดหลับอดนอน พอตื่นมาแล้วรู้สึกไม่สดชื่นก็หันไปดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนบางรายหันไปพึ่งเครื่องดื่มชูกำลังวันละหลายขวดหรือกินยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้ช่วยให้ร่างกายคุณดีขึ้นจริง แต่กลับเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด “โรคกระเพาะ”

ใครที่เคยเป็นโรคกระเพาะจะรู้ว่าเป็นอาการที่ไม่สนุกเลยสักนิด เพราะชื่อเต็ม ๆของโรคนี้คือ “โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer)” ที่เกิดจากการที่กรดไฮโดรคลอริกและน้ำย่อยโปรตีนเปปซินในกระเพาะเยอะเกินไป

ในกรณีของการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เยื่อบุผนังกระเพาะจะขาดกลไกในการหลั่งเมือกออกมาปกป้องผนังกระเพาะไม่ให้ถูกน้ำย่อยและกรดในกระเพาะกัดกร่อนซึ่งเป็นผลมาจากการที่ยาไปยับยั้งการทำงานของไซโคลออกซีเจเนส 1 ซึ่งมีฤทธิ์เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรสตาแกลนดิน สารการอักเสบ เพื่อลดอาการอักเสบและปวดบวมต่างๆ ขณะเดียวกันพอการสังเคราะห์โปรสตาแกลนดินลดลงก็จะทำให้การสร้างเมือกป้องกันผนังกระเพาะลดลงไปด้วย อีกกลุ่มที่พบบ่อยคือการติดเชื้อแบคทีเรีย H.Pyroli ผ่านทางอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผนังกระเพาะอักเสบเรื้อรัง

ผลทั้งหมดของเหตุที่กล่าวมาก็คือ ทำให้เกิดการบาดเจ็บเป็นแผลในกระเพาะอาหารขึ้นก่อนแสดงอาการหลัก ๆ ที่รู้สึกได้คือปวดแสบ ๆ ที่บริเวณลิ้นปี่เวลาหิว แต่พอกินอาหารลงไปแล้ว ผนังกระเพาะจะบีบตัวคลุกเคล้าอาหารก็ทำให้มีอาการปวดจุก ๆ ขึ้นมาอีก เพราะแผลในกระเพาะอาหารกระทบกระเทือนหรือที่เรียกว่า“หิวก็ปวด อิ่มก็ปวด”ถ้าปล่อยไว้ไม่ดูแล นาน ๆ เข้ากระเพาะอาจทะลุได้ และต้องถึงขั้นผ่าตัดฉุกเฉินกันก็มี

การรักษาโรคกระเพาะเบื้องต้น อันดับแรกก็คือ งดสิ่งกระตุ้นกรดต่างๆ ในกระเพาะ เช่น ลดละเลิกจากความเครียด งดดื่มเครื่องดื่มกาเฟอีน เช่น พวกชากาแฟ เลิกกินยาแก้ปวดที่กล่าวไว้ข้างต้นเพราะเป็นอันตรายมาก และงดรับประทานอาหารรสเผ็ดร้อนต่าง ๆ เพื่อให้ผนังกระเพาะได้มีเวลาพักฟื้นตัว ประมาณ 2 – 3 เดือนจึงจะเห็นผลอาหารที่เลือกกินในช่วงเป็นโรคกระเพาะจึงควรเป็นอาหารย่อยง่าย ลดปริมาณโปรตีนลง เพราะยิ่งกินโปรตีนมากเท่าไรกระเพาะก็จำเป็นจะต้องสร้างกรดในกระเพาะออกมามากเท่านั้น และใครชอบกินยาแก้ปวดพวก NSAIDs ก็ควรที่จะงดเสียด้วย

ส่วนอาหารที่ช่วยให้แผลในกระเพาะดีขึ้นเร็วนั้น ฉบับนี้หมอขอแนะให้หยิบสมุนไพรอย่างว่านหางจระเข้ (Aloe Vera) มาใช้ เพราะว่านหางจระเข้เป็นพืชอวบน้ำอยู่ในสาแหรกเดียวกันกับพวกหัวหอมกระเทียม และหน่อไม้ฝรั่ง ตรงนี้หมอไม่ได้เขียนผิดหรอกนะคะ เพราะพืชเหล่านี้เป็นญาติห่าง ๆ กัน เพียงแต่ว่านหางจระเข้ได้ปรับสภาพตัวเองให้สามารถอยู่รอดได้ในสภาวะแห้งแล้งและแดดที่แผดเผาอย่างพื้นที่ทะเลทราย

นอกจากนี้ในว่านหางจระเข้จะมีสารจำพวกอโลอิน ซึ่งเป็นอนุพันธุ์ของสารกลุ่มแอนทราควิโนนซึ่งมี “รสขม” บ่งบอกถึงคุณสมบัติในการลดการอักเสบและควบคุมการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะไม่ให้เยอะเกินไป (Stomachic effect)

เราจะเข้าใจคุณสมบัตินี้ได้ดีมากขึ้นจาก Doctrine of Signature (แปลว่าการบำบัดรักษาโรคด้วยส่วนของพืชที่มีลักษณะพ้องจองกับอวัยวะหรืออาการนั้น ๆ) ที่ว่าแทนที่จะเลือกผลิดอกบานแบบหอม กระเทียมว่านหางจระเข้กลับเลือกเก็บส่วนประกอบของน้ำไว้จนบวมเป่งที่ใบอันอูมหนาของมันเพราะถ้าว่านหางจระเข้ออกดอกเมื่อไรมันจะตายอย่างรวดเร็ว เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่ว่านหางจระเข้ยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์สารอาหารไว้ที่กลุ่มของน้ำตาลที่มีลักษณะเป็นเจลาติน แทนที่จะเก็บสารอาหารไว้ในรูปคาร์โบไฮเดรต และเจ้าเมือกในใบว่านหางจระเข้นี้เองที่เข้าไปเคลือบผนังกระเพาะเสริมเพิ่มเติมให้กับเมือกของกระเพาะเองช่วยให้การสมานแผลในกระเพาะทำได้เร็วยิ่งขึ้น

***เมนูอาหารแนะนำคือ วุ้นว่านหางจระเข้ ดูสูตรได้ที่นี่***

โดย : แพทย์หญิงกอบกาญจน์ ไพบูลย์ศิลป แพทย์ธรรมชาติบำบัด Healthy Flavor Clinic Restaurant

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.