Pisang Molen กล้วยแขกเมืองอินโด

Pisang Molen กล้วยแขกเมืองอินโด เชื่อว่าหลายคนสงสัยว่าทำไมเราถึงเรียก “กล้วยทอด” ว่า “กล้วยแขก” เมื่อลองค้นดูก็พบว่า วัฒนธรรมการปรุงแบบนี้น่าจะมาจากอินเดีย คล้ายการทอดถั่ว บ้างก็ว่าเริ่มจากชาวโปรตุเกสเป็นผู้นำกล้วยมาชุบแป้งทอดกินเป็นอาหารเช้า จนกลายเป็นต้นกำเนิดของกล้วยแขก ซึ่งในประเทศอินโดนีเซียเพื่อนบ้านเรานี้มีกล้วยแขกเหมือนกับบ้านเราราวกับฝาแฝด ชื่อว่า “ปิซังโกเรน” (Pisand Goreng) แต่ที่น่าสนใจคือ เขามีกล้วยแขกอีกชนิดหนึ่ง ทำจากแป้งห่อกล้วยเหมือนกัน นามว่า “ปิซังโมเลน” (Pisang Molen)

คำว่า Piseng ภาษาอินโดนีเซีย แปลว่า กล้วย และ Molen แปลว่า โม่ในภาษาดัตช์หมายถึงแป้งโดที่ห่อไว้ด้านนอกทำจากแป้งสาลี ไข่ น้ำตาลทราย มาร์การีนและน้ำเย็น นวดจนส่วนผสมเข้ากัน รีดแป้งให้เป็นแผ่นบาง ๆ ตัดเป็นเส้น แล้วนำแป้งมาพันหุ้มกล้วยให้มิด ส่วนกล้วยที่ใช้ต้องเป็นกล้วยน้ำว้าห่าม หั่นตามยาวแบ่งเป็นสี่ส่วนเท่า ๆ กัน เพราะถ้าใช้กล้วยที่สุกเกินไปจะห่อยากและนิ่มเละ ไม่อร่อยจากนั้นนำลงทอดจนสุก ก็จะได้ขนมแป้งนอกกรอบเนื้อในนุ่มมีรสหวานจากกล้วย

อาหารชนิดนี้เป็นหนึ่งใน “โกเร็งกัน” (Gorengan) หรือของทอดกินเล่นยอดฮิตของชาวอินโดฯ เพราะมีราคาถูก หาซื้อได้ง่ายจากร้านรถเข็นริมถนนที่ขายรวมกับโกเร็งกันอย่างอื่น (คล้ายกับร้านขายเต้าหู้ทอดเผือกทอดของบ้านเรา) คนอินโดฯ นิยมกินคู่กับกาแฟร้อนหรือชาร้อนไม่ใส่นมในมื้อเช้าและมื้อว่างยามบ่าย ปัจจุบันมีปิซังโมเลนสไตล์ตะวันตกรูปแบบใหม่ที่ประยุกต์ใช้แป้งเดนิชมาห่อกล้วย แล้วใส่ซอสช็อก-โกแลตหรือชีสลงในไส้ ก่อนนำไปอบแทนวิธีการทอด ซึ่งวางขายเฉพาะในร้านเบเกอรี่เมื่อเราลองถามถึงรสชาติและความแตกต่างสหายชาวอินโดฯบอกว่ารสอร่อยไม่ต่างกันเพียงแต่ปิซังโมเลนแบบดั้งเดิมหาซื้อง่ายและมีราคาถูกกว่าก็เท่านั้นเอง

หากใครที่ยังไม่มีโอกาสไปเที่ยวอินโดนีเซีย แต่อยากสัมผัสรสชาติของ “ปิซังโมเลน” ก็ไม่ต้องบินไปไกล เพราะใน
กรุงเทพฯบ้านเราก็มีขายแล้ว ลองแวะไปแถวปากซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 3 (สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรี) ร้านโมเลนกล้วยทอดอินโด เปิดเวลา 10.00 น. – 17.30 น.โทร. 08-9580-7275

เรื่อง : แอ๊วแอ๊ว ภาพ : nailandra.blogspot.com, wikimedia.org

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.