ชาจีน

ความลับในถ้วย ชาจีน กับความนิยมที่มีมาอย่างยาวนาน

Alternative Textaccount_circle
event
ชาจีน
ชาจีน

ชาจีน กับความนิยมที่มีมาอย่างยาวนาน จนเป็นวัฒนธรรมของคนจีน วันนี้เราจะพาทุกคนมาเผยความลับในถ้วยชาจีน ว่าแท้จริงแล้วมีที่มาที่ไปอย่างไรกันค่ะ

ชาผู่เอ๋อร์, ชาผู่เอ๋อ, ชา, วัฒนธรรมชา

ชาจีน

กษัตริย์เสินหนงค้นพบชาโดยบังเอิญ ระบุว่ากษัตริย์ผู้นี้ไม่ดื่มน้ำดิบ และวันหนึ่งขณะพระองค์เสวยน้ำร้อนอยู่ใต้ต้นชา ใบชาได้ร่วงลงในถ้วย เมื่อดื่มแล้วมีรสชาติดี นับจากนั้นวัฒนธรรมชาจึงเริ่มขึ้น

ป้านชาจื่อซา – อี๋ซิง จากมลฑลเจียงซู คือสุดยอดป้านชา เพราะมีแร่ธาตุในดินเฉพาะตัว มีโพรงอากาศในเนื้อดิน ทำให้ชงชาได้กลิ่นหอม รสเลิศ สีสวย ไม่ทำให้ชาบูดง่าย กักความร้อนได้ดี แต่ก็ระบายอากาศได้ดี จึงไม่ลวกมือ ผู้ชงหากชงชาในฤดูร้อน ถือเป็นป้านชาชั้นเลิศบนแผ่นดิน

เคาะนิ้วสามครั้งเมื่อมีคนรินชาให้ ครั้งหนึ่งกษัตริย์เฉียนหลงผู้หลงใหลชาปลอมตัวเป็นสามัญชนเสด็จประพาสเมืองซูโจว ระหว่างพักที่ร้านน้ำชาทรงสั่งชามากาหนึ่ง แต่ด้วยทอดพระเนตรเห็นว่าบริกรกำลังยุ่ง จึงยกกาน้ำชารินให้ข้าราชบริพาร ซึ่งทำให้ทุกคนบนโต๊ะตกใจด้วยเกรงจะได้รับผิดที่ไม่สามารถคุกเข่าเคารพได้ ข้าราชบริพารผู้หนึ่งจึงงอนิ้วชี้และนิ้วกลางเคาะที่โต๊ะสามครั้งเพื่อแทนการคุกเข่าคำนับ ทำให้พระองค์ทรงเบิกบานยิ่งนัก นับจากนั้นการเคาะนิ้วเพื่อขอบคุณผู้รินชาก็เป็นที่นิยม และการรินชาไม่ควรรินปริ่มจอก เพราะถือเป็นการกลั่นแกล้ง ด้วยเหตุว่าน้ำชานั้นร้อน

ร้านน้ำชาในจีนเรียก “ฉาก่วน หรือ ฉาโหล่” ซึ่ง “ฉาก่วน” เน้นบรรยากาศที่ผ่อนคลาย สงบ ไม่เน้นอาหาร แต่พิถีพิถันเรื่องชาเป็นสำคัญ การสั่งน้ำชาในฉาก่วนต้องระบุชนิดใบชา โดยจะมีป้านชาและจอกชาชุดเล็ก น้ำร้อนใส่กระติกหรือกาต้มน้ำขนาดกะทัดรัดไว้บริการ บางแห่งอาจมีขนมขบเคี้ยวเป็นเครื่องเคียง บางแห่งมีแสดงดนตรีสด

ขณะที่ “ฉาโหล่” คือร้านที่เราไปกินขนมจีบ ซาลาเปา แกล้มน้ำชา บรรยากาศค่อนไปทางภัตตาคารจีน แต่ยัง
ให้ความสำคัญกับใบชาอยู่ สันนิษฐานว่าเป็นที่มาของร้านกาแฟที่กินกับติ่มซำ หรืออาหารนึ่งอย่างทางภาคใต้ของไทย

ชาเขียวญี่ปุ่นมาจากจีน ชาวญี่ปุ่นรับเอาวัฒนธรรมการดื่มชาไปจากจีนในยุคราชวงศ์ซ่ง ซึ่งยุคนั้นนิยมบดชาเป็นผงชงกับน้ำ จึงกลายเป็นวิธีชงชาเขียวของญี่ปุ่นในปัจจุบัน ประโยชน์ของชาเขียวมีการวิจัยรู้ผลมากมาย ทั้งต้านมะเร็ง ชะลอความชรา ลดความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจ เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง รวมไปถึงยังสามารถควบคุมความดันโลหิต ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แต่อีกหนึ่งความจริงจากชาเขียวก็คือ เด็กที่ดื่มชาเขียววันละ 1 ถ้วย ช่วยป้องกันฟันผุ

เทคนิคชิมและชงชาจีนแบบรวบรัด เมื่อใส่ใบชาในป้านชาแล้วให้รินน้ำร้อนลงในกาทิ้งไว้สักอึดใจ รินน้ำออก ลวกถ้วยชาที่จะใช้ดื่มเพื่อล้างและปลุกใบชาพร้อมทำความสะอาดถ้วยชาไปในตัว แล้วรินน้ำร้อนลงไปใหม่ ปิดฝาป้านชาก่อนรินน้ำร้อนรดลงบนป้าน รอจนน้ำที่ผิวป้านแห้งหมด จึงรินน้ำชาออกจากป้านจนหมดเพื่อดื่ม และทำเช่นเดิมเมื่อต้องการจิบชา น้ำถัดไปจนน้ำชาจืด ทั้งนี้หากชงชาเขียวและชาขาวไม่จำเป็นต้องเทน้ำแรกทิ้ง เพราะชาค่อนข้างสะอาดไม่ผ่านกระบวนการหมักมากนัก และมีกลิ่นอ่อน เวลาจิบชาให้ใช้วิธีการซดเพื่อสูดอากาศเข้าปากช่วยป้องกันชาลวกปาก และช่วยให้กลิ่นชาฟุ้งในปากได้ดี เมื่อซดแล้วอมชาในปากสักครู่จึงกลืน จะได้กลิ่นหอมของชาชัดเจน

เลือกน้ำให้เป็น ต้มน้ำให้ถูก จึงจะชงชาอร่อย น้ำที่ใช้ต้องสะอาด หากมาจากแหล่งธรรมชาติจะให้ชารสดี และควรต้ม
น้ำด้วยไฟแรงให้น้ำเดือดรวดเร็ว โดยระดับการเดือดนั้นให้ดูว่า เมื่อฟองน้ำเดือดมีพรายผุดขนาดดวงตาปูแล้วให้ต้มต่อจนน้ำเดือดขนาดดวงตาปลาจึงจะเหมาะที่จะชงชา อย่างไรก็ดี ต้องคุมอุณหภูมิให้พอเหมาะด้วยคือ หากเป็นชาขาว อุณภูมิน้ำไม่ควรเกิน 60 องศาเซลเซียส เพราะชามีกลิ่นอ่อน กลุ่มชาเขียวอุณหภูมิไม่เกิน 80 องศาเซลเซียส เพราะถ้าน้ำเดือดเกินไปจะทำลายคุณค่าและรสของชา ส่วนชาอู่หลงและผู่เอ๋อร์ต้องใช้น้ำเดือดจัดเพื่อดึงสีและกลิ่นออกมา

วิธีปลุกป้านชาใหม่ ป้านชายิ่งเก่ายิ่งชงชาอร่อย ป้านใหม่ซื้อมายังขับสีและกลิ่นชาไม่ดีนัก จึงมีวิธีปลุกป้านชา โดย
ล้างป้านให้สะอาดและลวกด้วยน้ำร้อน จากนั้นนำป้านชาไปต้มโดยให้น้ำค่อย ๆ เดือดราว 1 ชั่วโมง บางรายอาจใส่ใบชาลงไปต้มในน้ำด้วย จากนั้นดับไฟ ยกป้านชาออกแล้วปล่อยให้ป้านชาค่อย ๆ เย็นตามธรรมชาติ จากนั้นทำซ้ำอีก 1 หน จึงค่อยนำไปใช้ วิธีนี้ช่วยให้โพรงอากาศในดินของป้านชาขยายตัวมากขึ้น เมื่อนำไปชงชาจะขับสีกลิ่นรสของชา
ได้ดีขึ้น

ใครไม่ควรดื่มชา ผู้ที่ไตทำงานบกพร่อง ผู้ที่มีปัญหากระเพาะอาหารเย็น เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ สตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิด สตรีระหว่างมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ แม่ลูกอ่อน ผู้เป็นโรคความดันโลหิตและหัวใจ (เพราะหัวใจจะถูกกระตุ้นมากไป) ผู้มีปัญหานอนไม่หลับ ผู้ที่กำลังรับประทานยารักษาโรคอยู่

เก็บชาจีนอย่างไร ใบชาที่ควรเก็บให้ดีคือชาประเภทกึ่งหมัก เช่น กลุ่มชาอู่หลงต่าง ๆ เพราำเป็นชาที่มีกลิ่นหอมเฉพาะ และทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศและแสงได้เร็ว ซึ่งภาชนะเก็บชา (ถ้ำชา) ที่ดีที่สุดคือโถกระเบื้องเคลือบด้านนอกด้านเดียว ขนาดไม่ควรใหญ่มาก เพราะไม่ต้องการให้ชาสัมผัสกับอากาศ ไม่ควรเก็บใบชาไว้ในถ้ำชาโลหะ แม้จะกันอากาศดีและมีฝาปิดสนิท แต่ก็ทำให้ชาดูดเอากลิ่นของโลหะมาไว้ในตัวด้วย ทำให้เสียรส ทั้งนี้ชาที่ซื้อมาแล้วควร
ใช้ให้หมดใน 1 เดือน จึงไม่ควรซื้อชาทีละมาก ๆ

นอกจากนี้ชาชนิดอื่น ๆ อาจใช้ถ้ำชาจากกระบอกไม้ไผ่ กระบอกกระดาษแข็งหรือกล่องไม้ที่มีฝาปิดสนิทก็ได้ ไม่ควรเก็บใบชาไว้ในพลาสติก ขวดแก้วใส และไม่ควรเก็บชาหลาย ๆ ชนิดไว้รวมกัน เพราะจะทำให้กลิ่นปนกัน ไม่ควรเก็บชาไว้กับเครื่องหอมหรือของมีกลิ่นต่าง ๆ จะทำให้ชาเสียรส เมื่อเก็บชาใส่ถ้ำแล้วให้หาถุงผ้าเล็ก ๆ ใส่ถ่านมาวางไว้ข้าง ๆ ถ้ำชาเพื่อดูดความชื้น

7 ชาจีนชื่อดัง

กลุ่มชาอู่หลง (ชากึ่งหมัก)

บู๋อี๋สุ่ยเซียน แปลว่า เทพแห่งน้ำ มีกลิ่นหอมเหมือนดอกไม้ เจือกลิ่นน้ำบริสุทธิ์ รสชุ่มคอ สีน้ำตาลส้ม
ต้าหงเผา แปลว่า เสื้อคลุมแดง มีกลิ่นหอมเข้ม หอมนาน แม้จะดื่มไปนานแล้ว แต่กลิ่นหอมของชายังอวลอยู่ในปาก
ทิกวนอิม หรือกวนอิมเหล็ก ใบชาชนิดนี้มีสีเขียวสดเป็นประกาย บ้างเรียกชาสามสี เพราะมีก้านใบเขียว ท้องใบคราม ขอบใบแดง รสเข้มหวาน สดชื่นปาก น้ำชาออกสีเหลืองทองแกมเขียวอ่อน ๆ มีกลิ่นหอมเนิ่นนาน
ต้งติ่ง เป็นชาอู่หลงของไต้หวัน กลิ่นหอม รสชาติเข้มข้น ชุ่มคอ ปัจจุบันปลูกได้ในเมืองไทย

กลุ่มชาเขียว (ชาไม่หมัก)

หลงจิ่ง เป็นชาที่ปลูกในเขตทะเลสาบซีหู มณฑลเจ้อเจียง มีสีเขียวออกเหลืองเป็นประกาย รสหอมหวาน น้ำชาใส และ
มีประโยชน์ต่อร่างกาย กล่าวกันว่าสามารถใช้บำบัดโรคภัยได้ จึงมีค่าดุจไข่มุกและหายากยิ่ง
ชาหวงซานเหมาเฟิง เป็นชารูปเรียวแบนม้วนตัวให้น้ำชาเหลืองใส มีกลิ่นหอมราวดอกไม้ไป่หลัน มีรสเข้ม ปลูกที่เขาหวงซาน
ชาปิหลอชุน เดิมในยุคพระเจ้าคังซีฮ่องเต้ขานนามชานี้ว่า “เซี่ยนซาเหยินเซียง” หรือแปลว่า “หอมเป็นบ้า” แต่เป็นคำ
ไม่สุภาพ จึงเปลี่ยนเป็นปิหลอชุน ชานี้ส่งกลิ่นหอมเย็น สดชื่น น้ำชาเขียวใสสะอาด ให้กลิ่นสีรสสัมผัสได้ถึงความสดของพืช เอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ มีขนอ่อน ๆ อยู่รอบ ๆ ใบ

กลุ่มชาขาว (ชาไม่หมัก)

ชาไป๋หมู่ตาน แปลว่า โบตั๋นขาว เป็นชาจากมณฑลฝู้เจี้ยน มีกลิ่นหอมอ่อนคล้ายดอกโบตั๋นสีขาว ผสานกลิ่นหอมของผลไม้สุก จิบแล้วชุ่มคอ เชื่อว่ามีสรรพคุณเชิงสุขภาพหลายประการ โดยคุณค่าทางยาของชาชนิดนี้จะเพิ่มขึ้นตามเวลาที่เก็บ จนมีคำกล่าวว่า “ไป๋หมู่ตาน เมื่อปีแรกดื่มเป็นชา สามปีกลายเป็นยา ครบเจ็ดปีกลายเป็นของล้ำค่าเพราะจะมีทั้งคุณภาพทางยาและราคาที่สูงขึ้น”

กลุ่มชาผู่เอ๋อร์ (ชาหมัก)

เป็นชาที่แตกต่างจากชากลุ่มอื่น โดยผลิตจากใบชาป่าที่เกิดในมณฑลยูนนานเท่านั้น และต้องอาศัยกระบวนการหมักจากจุลินทรีย์ประจำท้องถิ่นในยูนนาน ชาชนิดนี้มีผลงานวิจัยระบุชัดว่าสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้อย่างเด่นชัด และด้วยกระบวนการหมักพิเศษของชานี้จะช่วยป้องกันการเกิดเชื้อราในใบชา ยิ่งเก็บนานกลิ่นรสชาจะค่อย ๆ พัฒนาไปเรื่อย ๆ ไม่ได้สูญหายไปเช่นชาชนิดอื่น ดังนั้นชาผู่เอ๋อร์ที่มีอายุต่างกันรสจึงต่างกัน เช่น ชาที่หมักใหม่ ๆ กลิ่น
คล้ายการบูร กลิ่นบัว กลิ่นกล้วยไม้ ส่วนชาที่หมักนานเป็นกลิ่นน้ำตาลไหม้ เป็นต้น

เรื่อง : สิทธิโชค ศรีโช ภาพ : Pixabay

/ / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / / /

#ACuisine #เอควิซีน #CherryKitCook
อยากกิน อยากฟิน อยากทำ อย่าลืมติดตาม A Cuisine (เอควิซีน)

📌Website: https://goodlifeupdate.com/healthy-food
📌Messenger : http://m.me/AcuisineTH
📌Instagram : www.instagram.com/acuisine.th/
📌Pinterest : www.pinterest.com/AcuisineTH/

keyboard_arrow_up