เบอร์บีคิวลดความดัน

เบอร์บีคิวลดความดัน สูตรอร่อย เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง กับเมนู เบอร์บีคิวลดความดัน มาพร้อมกับการแนะนำวิธีปฏิบัติตัวและเลือกรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยที่ประสบกับโรคความดันโลหิตสูงมาฝากกันบ้างค่ะ

ผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง มี 3 ประเภท

1.ผู้ที่เส้นเลือดตีบตันจากไขมัน มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย เนื่องจากบริโภคอาหารผิดส่วน

2.การเสื่อมของผนังหลอดเลือด เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มักพบในผู้สูงอายุ หรืออาจเป็นผลจากพันธุกรรม ทำให้ผนังหลอดเลือดหนายืดหยุ่นไม่ดีหัวใจจึงต้องทำงานหนัก เพื่อให้โลหิตไหลเวียนได้สม่ำเสมอ หากมีไขมันที่พอกตามผนังหลอดเลือดร่วมด้วยจะยิ่งอันตราย เสี่ยงต่อภาวะเส้นเลือดตีบและแตก อันเป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์หรืออัมพาต

3.ผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ป่วยโรคไตผู้ป่วยเบาหวานจะมีความเข้มข้นของระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ไตจึงต้องขับน้ำตาลออกทางปัสสาวะและทำงานอย่างหนัก ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงไต ผู้ป่วยโรคไตก็เช่นเดียวกัน จึงต้องควบคุมโรคประจำตัวดังกล่าวให้ปกติเสมอ

กินอย่างไรไม่กระทบสุขภาพผู้ป่วยความดันโลหิตสูง

1.ควบคุมระดับเกลือโซเดียมผู้ที่ควบคุมระดับปานกลางบริโภคไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนผู้ที่ควบคุมความดันโลหิตอย่างเข้มงวด ควรบริโภคไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อวัน (เกลือ 1 ช้อนชามีโซเดียมประมาณ 2,400 มิลลิกรัม)

2.งดอาหารที่อาจมีเกลือโซเดียมแฝง เช่น กุ้งแห้ง ปลาเค็ม เนยเค็ม ของแห้งรมควันไส้กรอกแฮมมันฝรั่งทอดหรืออบกรอบผักดองหรือผักบางชนิดที่มีโซเดียมสูง เช่น สาหร่ายหรือใบชะคราม (ส่วนใหญ่เป็นพืชผักที่เกิดบริเวณริมทะเล) และควรเลือกใช้ซอสปรุงรสที่ระบุบนฉลากว่ามีปริมาณโซเดียมต่ำ

3.งดอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูงเพื่อลดภาวะไขมันในเลือดสูงแล้วพอกตามผนังหลอดเลือด

4.สมุนไพรช่วยได้ เช่น ตะไคร้ช่วยขับเกลือส่วนเกินออกทางปัสสาวะ ขึน้ ฉ่ายหรือเซเลอรี่ช่วยลดความดัน ชาคำฝอย ชากระเจี๊ยบ ชาปัญจขันธ์ ชาใบหม่อน ป้องกันไขมันในเลือดสูงความดันโลหิตสูงและป้องกันน้ำตาลในเลือดร่วมด้วยได้โดยใช้สมุนไพรชนิดหนึ่งปริมาณ 4 กรัมต่อน้ำร้อน 1 แก้ว ชงแล้วพักไว้ 5 นาที ดื่มขณะอุ่น 2 แก้วต่อวัน

5.รับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง เพื่อช่วยขจัดไขมันและของเสียในลำไส้นอกจากนี้ควรลดน้ำหนักตัวลง 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวปัจจุบันขยันออกกำลังกาย งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด บอกลาบุหรี่ ควบคุมระดับไขมันในร่างกายให้ปกติ และปรับจิตใจเพื่อจัดการความเครียดให้เหมาะสม และหมั่นปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นประจำเท่านี้โรคความดันโลหิตสูงก็เอาอยู่แล้วค่ะ

เบอร์บีคิวลดความดัน

ก่อนจากกันในฉบับนี้ดิฉันมีเมนูอร่อยลดความดันอย่าง เบอร์บีคิว ที่ผสมผสานทั้งแฮมเบอร์เกอร์และบาร์บีคิวไว้ด้วยกันปรุงแต่งด้วยวัตถุดิบธรรมชาติที่ล้วนดีต่อผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง อาทิ ขนมปังโฮลวีต ที่มีเส้นใยอาหารสูง ปลาทูน่า มีไขมันดี (HDL) มะเขือเทศ ใบออริกาโนผักกาดแก้ว และ สับปะรด ช่วยขับน้ำสุดท้าย ขึ้นฉ่าย ที่มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตลงได้โดยตรง ให้คุณปรุงรับประทานอย่างอร่อยโดยไม่ต้องกังวลเรื่องความดันกันไปเลย

เบอร์บีคิวลดความดัน สูตรอร่อย เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง

เบอร์บีคิวลดความดัน

เบอร์บีคิวลดความดัน

ส่วนผสม (สำหรับ 1 ที่) เตรียม 30 นาที ปรุง 20 นาที

  • ขนมปังโฮลวีตหรือจะเป็นขนมปังแซนด์วิชหรือจะเป็นครัวซองต์ก็ได้ 2 ชิ้น
  • ปลาทูน่ากระป๋องในน้ำมัน 4 ช้อนโต๊ะ
  • หอมหัวใหญ่สับ 2 ช้อนโต๊ะ
  • มะเขือเทศเนื้อสับ 1 ช้อนโต๊ะ
  • เห็ดฟางสับ 4 ดอก
  • แครอตสับ 1 ช้อนโต๊ะ
  • ต้นหอมซอย 1 ช้อนโต๊ะ
  • ก้านขึ้นฉ่ายสับ 1 ช้อนโต๊ะ
  • ข้าวโพดต้มสุกแกะเป็นเม็ด 1 ช้อนโต๊ะ
  •  แป้งอเนกประสงค์ 1 ช้อนโต๊ะ
  • เนยจืด 2 ช้อนโต๊ะ
  •  ใบออริกาโนสด 1/2 ช้อนชา
  • เกลือและพริกไทยดำป่นอย่างละเล็กน้อย
  • ใบผักกาดแก้ว สับปะรดหั่นเป็นแผ่นบางตามชอบ

วิธีทำ

1. ผัดหอมหัวใหญ่กับเนย 1 ช้อนโต๊ะด้วยไฟอ่อนจนสุกใส ใส่แครอต เห็ดฟางมะเขือเทศ ข้าวโพดเม็ด ปลาทูน่า ปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทยเล็กน้อย ใบออริกาโนใส่แป้งอเนกประสงค์และผัดให้เข้ากัน ยกลงจากเตา ใส่ต้นหอมและขึ้นฉ่ายลงคลุกให้เข้ากัน แล้วใส่ลงในพิมพ์กดให้เป็นก้อนแน่นหรือจะใช้มือปั้นเป็นก้อนแบนหนาประมาณ 1/2 นิ้ว พักไว้

2. ทาเนยที่เหลือกับขนมปังแล้วนำไปปิ้งบนกระทะให้หอม จากนั้นวางผักกาดแก้วบนขนมปัง ตามด้วยสับปะรดและก้อนทูน่าที่เตรียมไว้ รับประทานได้ทันที

หมายเหตุ : ผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูงอาจรับประทานกับซอสมะเขือเทศซอสพริกซอสบาร์บีคิวได้ส่วนในรายที่เริ่มมีความดันโลหิตสูงอาจรับประทานกับน้ำสลัดไขมันต่ำหรือโยเกิร์ตไขมันต่ำผสมผลไม้รสเปรี้ยวก็ได้เช่นกัน

อาหารสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงอันเนื่องมาจากโรคไต นอกจากต้องจำกัดปริมาณเกลือโซเดียมต่อวัน ยังต้องใส่ใจเรื่องโพแทสเซียมด้วย เพราะโพแทสเซียมถูกขับออกทางไต หากไตเสื่อมสภาพจะขับสารเคมีดังกล่าวได้ไม่ดีเท่าที่ควร จะเกิดการคั่งค้างและเป็นผลให้หัวใจหยุดเต้น จึงควรศึกษาประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติม

เมื่อใดที่เรียกว่าความดันโลหิตสูง

• ค่าความดันโลหิต
ตัวบน 110 – 120 มิลลิเมตรปรอท
ค่าตัวล่าง 70 – 80 มิลลิเมตรปรอท = ปกติ

• ค่าความดันโลหิต
ตัวบน 130 – 139 มิลลิเมตรปรอท
ค่าตัวล่าง 85 – 89 มิลลิเมตรปรอท

เริ่มมีภาวะความดันโลหิตสูงแต่สามารถใช้วิธีควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดออกกำลังกาย และหมั่นตรวจวัดความดันเป็นประจำอย่างน้อยทุก 6 เดือน

• ค่าความดันโลหิต
ตัวบนสูงเกินกว่า 140 – 159 มิลลิเมตรปรอท
และค่าตัวล่าง 90 – 99 มิลลิเมตรปรอท

ความดันโลหิตสูง

หากเป็นเช่นนี้ติดต่อกัน 5 ปี ถือว่าป่วยเรื้อรังและเป็นโรคประจำตัว ต้องพบแพทย์และรับประทานยาเพื่อควบคุมความดันโรคความดันโลหิตสูง เมื่อป่วยเรื้อรังแล้วจะรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่สามารถดูแลควบคุมให้ความดันปกติได้

พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 561.06 กิโลแคลอรี
โปรตีน 27.39 กรัม ไขมัน 55.15 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 25.48 กรัม ไฟเบอร์ 6.95 กรัม

เรื่องและสูตร : อาจารย์วันทนี ธัญญา เจตนธรรมจักร เรียบเรียง : สิทธิโชค ศรีโช
ภาพ : จิรวัฒน์ มหาทรัพย์ถาวร สไตล์ : พิมฝัน ใจสงเคราะห์

สูตรอาหารแนะนำอื่นๆ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.