ภาชนะจากธรรมชาติ

ภาชนะจากธรรมชาติ  ทางเลือกของสายกินผู้รักสิ่งแวดล้อม

ภาชนะจากธรรมชาติ  ทางเลือกของสายกินผู้รักสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันภาชนะใส่อาหารไม่ว่าจะเป็นจาน  ชาม หรือกล่อง ที่เราพบเห็นทั่วไปและหาซื้อได้ง่าย นิยมทำมาจากพลาสติก  พอเราใช้เสร็จ พลาสติกเหล่านี้ก็จะกลายเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก  พลาสติก 1 ชิ้น ต้องใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี หากนำไปเผา ก็จะทำให้เกิดสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ที่เป็นมลภาวะทำให้โลกร้อน ส่งผลต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม

วันนี้ A Cuisine  จะชวนทุกคนมา ลด  ละ  เลิก การใช้พลาสติกใส่อาหาร  โดยหันมาใช้ ภาชนะจากธรรมชาติแทน นอกจากจะสวยเก๋  มีสไตล์ไม่เหมือนใครแล้ว ยังช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ไม่จำเป็น  ทั้งยังส่งเสริมอาชีพเกษตรกรอีกด้วย

ภาชนะที่ผลิตมาจากธรรมชาติ  มีอะไรบ้างวันนี้เราจะเอาข้อมูลมาฝากกันค่ะ

ภาชนะจากใบเล็บครุฑลังกา

เล็บครุฑลังกา
ใบเล็บครุฑลังกา

ใบเล็บครุฑลังกา  เป็นพืชที่มีใบค่อนข้างหนา ลักษณะคล้ายชาม สามารถนำมาเป็นภาชนะใส่อาหารต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นของทอด ของนึ่ง  และของทานเล่น กินเสร็จก็สามารถทิ้งได้เลย ใบเล็บครุฑจะย่อยสลายเองตามธรรมชาติ  แต่สิ่งสำคัญอยู่ตรงที่ความครีเอทและการใส่ใจสิ่งแวดล้อม  จัดว่าเป็นไอเดียที่เก๋มากสำหรับยุคสมัยนี้  ว่าแล้วก็ไปหาปลูกไว้สักต้นดีกว่า ได้ทั้งความสวยงามและประโยชน์อีกด้วย

 

 

ภาชนะจากกล้วย (บานาบ่ามาเช่)

Tk ภาชนะรักษ์โลก
Tk ภาชนะรักษ์โลก

นอกจากใบตองที่เรานำมาทำเป็นภาชนะสำหรับห่อและใส่อาหารต่างๆแล้ว ปัจจุบันยังมีการนำใบตอง และหยวกกล้วยมาผลิตเป็นจาน ชาม โดยใช้เทคนิคการขึ้นรูปคล้าย ๆ กับเปเปอร์มาเช่ โดยที่ไส้ตรงกลางเป็นกระดาษ อัดหยวกกล้วยเป็นผิวหน้าด้วยมือทุกใบ และเคลือบทับด้วยน้ำมันแบบฟู้ดเกรด  สามารถใส่อาหารรับประทานได้คล้ายกับภาชนะทั่วไป แต่จะต้องหลีกเลี่ยงพวกแกง หรือเมนูที่มีน้ำและไม่ควรแช่น้ำไว้นาน  การล้างทำความสะอาดนั้นก็เหมือนภาชนะที่ทำจากไม้ทั่วไป ล้างด้วยน้ำยาล้างจานผึ่งลมให้แห้ง

 

ภาชนะจากใบทองกวาว

ภาชนะจากใบทองกวาว
ภาชนะจากใบทองกวาว

ใบทองกวาวเป็นพืชสารพัดประโยชน์  มีสรรพคุณหลากหลายไม่ว่าจะแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากใบที่มีลักษณะค่อนข้างใหญ่  ภาชนะที่ทำจากใบทองกวาวสามารถใส่อาหารได้ทั้งของคาว หวาน รวมไปถึงเมนูของร้อน เมนูทอด และแกงต่างๆ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่า จะมีการรั่วซึม  ต้องบอกเลยว่าถ้วยจากใบทองกวาวสามารถใส่อาหารทิ้งไว้เป็นเวลา 2-3 วันได้โดยไม่รั่วซึมแถมยังคงรูปทรงเดิม ไม่ย้วย ไม่แหลกสลายไปในระหว่างทางอย่างแน่นอน

 

ภาชนะจากกาบหมาก

Veerasa
Veerasa

กาบหมาก จากสิ่งที่ดูไร้ค่าในสวนหมากของชาวอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ที่แต่เดิมก็ปลูกต้นหมากกันอย่างแพร่หลาย ส่วนของลูกหมากก็เก็บไปขายสร้างรายได้ แต่สิ่งที่หลงเหลือไว้ก็คือกาบหมากที่ร่วงหลุดอยู่  แบรนด์”วีรษา”(Veerasa) เล็งเห็นประโยชน์จึงนำกาบหมากมาแปรรูปให้เป็นจานใส่อาหาร โดยนำกาบหมากมาล้างทำความสะอาด นำไปพึ่งแดดให้แห้งสนิท จากนั้นนำมาตัดด้วยเครื่อง แล้วบรรจุขาย ข้อดีของจาน-ชามกาบหมากคือมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ สามารถนำเข้าไมโครเวฟและเตาอบได้อย่างปลอดภัย ใส่อาหารได้ทุกประเภท

ภาชนะจากผักตบชวา

กลุ่มศูนย์ฝึกมีชีวิต กศน.อำเภอภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา
กลุ่มศูนย์ฝึกมีชีวิต กศน.อำเภอภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา

ปัจจุบันผักตบชวาสามารถนำมาทำเป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันได้หลายอย่าง เช่น การทำกระเป๋า การทำจาน การทำกล่อง การทำเก้าอี้จากผักตบชวา ไปจนถึงการทำเสื้อผ้าจากผักตบชวา เรียกได้ว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้จริงและสามารถเพิ่มอาชีพให้กับผู้ทำได้อีกด้วย หากราคายังค่อนข้างสูง ถ้าผลิตในปริมาณมาก ก็จะประหยัดมาก คุณนาถลดา เข็มทอง รองประธานกลุ่มศูนย์ฝึกมีชีวิต กศน.อำเภอภาชี  จ.พระนครศรีอยุธยา ประสบความสำเร็จในการคิดค้นจานใบผักตบชวาทั้ง 2 แบบ คือแบบจานใบผักตบชวาสด และจานใบผักตบชวาแห้ง นอกจากนี้ยังมีแบบชามสำหรับใส่ก๋วยเตี๋ยวได้ด้วย คุณสมบัติสามารถทนความร้อนได้ ใช้กับของเหลวได้ เหมาะในการนำมาทดแทนบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง ใส่อาหารดูสวยงามน่ารับประทาน นอกจากตอบโจทย์เรื่องการลดขยะพลาสติก ลดโฟมแล้ว ยังช่วยกำจัดพืชต่างถิ่นที่กีดขวางลำน้ำด้วย

 

ภาชนะจากชานอ้อย

http://share-addict.com
http://share-addict.com

ต้นกำเนิดของ “กล่องชานอ้อย” ถูกคิดค้นขึ้นและใช้งานจริงเมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดยประเทศนำร่องที่ใช้กล่องชานอ้อยได้แก่ อังกฤษ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และฝั่งเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น โดยไม่เพียงแต่ทำเป็นกล่องใส่อาหารคล้ายกล่องโฟมเท่านั้น แต่กล่องชานอ้อนยังถูกนำมาขึ้นรูปให้ใช้งานได้หลากหลายแบบ ทั้งจาน ชาม ถ้วย แก้วแบบใช้แล้วทิ้ง รวมไปถึงถาดหลุมที่ใช้กันในโรงอาหารอีกด้วย

นอกจาก “กล่องชานอ้อย” จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว กระบวนการผลิตกล่องชานอ้อนก็เรียกได้ว่าเรียบง่ายไม่ซับซ้อนและถือเป็นตัวอย่างของการรีไซเคิลที่ดีมากๆ เนื่องจากเป็นการใช้เยื่อกระดาษชานอ้อยที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล นอกจากนั้นยังสามารถใช้พลังงานไอน้ำแทนการใช้ไฟฟ้าในการผลิต จึงไม่เกิดของเสียและยังไม่มีการใช้คลอรีนในการฟอกสี หากแต่ใช้แสง UV ธรรมชาติ จึงมั่นใจเรื่องความสะอาดและปลอดภัยได้แน่นอน ‘บรรจุภัณฑ์ชานอ้อย’ ถือว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาก เพราะใช้พลังงานธรรมชาติและเมื่อฝังกลบก็ใช้เวลาในการย่อยสลายเพียง 45 วันเท่านั้น

ที่สำคัญกล่องชานอ้อยไม่ทำให้คุณภาพดินเสื่อมโทรมเหมือนการฝังกลบกล่องโฟม แต่กลับพบว่า “กล่องชานอ้อย” ยังไม่เป็นที่นิยมในการนำมาใช้ตามสถานที่ต่างๆ มากนัก เนื่องจากมีราคาสูงกว่ากล่องโฟมถึงสองเท่าและมีเพียงบริษัท ‘ไบโอ’ ที่เดียวที่ทำการผลิต ทำให้หาซื้อค่อนข้างลำบากและเป็นการเพิ่มต้นทุนของพ่อค้าแม่ขายมากจนเกินไป อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้น่าจะมีการผลักดันให้ภาคธุรกิจหันมาใช้ “กล่องชานอ้อย” ทดแทนการใช้กล่องโฟมกันมากขึ้น

 

ภาชนะจากใยพืช

 

Gracz ภาชนะจากใยพืช
Gracz ภาชนะจากใยพืช

ภาชนะที่ผลิตจากใยพืชภายใต้แบรนด์ Gracz คิดค้นโดย นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ แต่ความนิยมในการใช้ภาชนะจากใยพืชยังมีปริมาณที่ต่ำ อาจเป็นเพราะภาชนะจากใยพืชมีราคาที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโฟม (ในความเป็นจริงมีราคาสูงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น)

และยังมีอีกหนึ่งแนวคิดในการนำเศษอาหารมาผลิตเป็นภาชนะใส่อาหาร สร้างสรรค์โดย Michela Milani และสตูดิโอออกแบบ WhoMade จากประเทศอิตาลี ชิ้นงานถูกออกแบบให้มีรูปทรงเป็นเมล็ดพืชที่เหมาะสำหรับใส่อาหารแห้งและสื่อถึงต้นตอของเมล็ดพืชก่อนโตขึ้นเป็นต้นไม้ ชิ้นงานผ่านกระบวนการอัดแรงดันสูงขึ้นรูปเป็นภาชนะใส่อาหารโดยไม่จำเป็นต้องใช้กาวเป็นตัวประสาน ไม่ใส่สารกันบูด ไม่ต้องย้อมสีหรือใส่สารเคมีใดๆ ในการปรับสภาพ เมื่อใช้งานเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถนำไปละลายน้ำแล้วใช้เป็นปุ๋ยเพื่อเพิ่มคุณภาพดินให้ดีขึ้นได้ ส่วนสีที่ปรากฏบนชิ้นงานเป็นสีตามธรรมชาติของเศษอาหารนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นแครอท ชิ้นงานจะออกสีน้ำตาลแดง ในขณะที่เปลือกถั่วลิสงจะให้สีน้ำตาลอ่อน เป็นต้น

 

 

ภาชนะจากพลาสติกผสมฟางข้าวสาลี

Love eating ภาชนะจากพลาสติกผสมฟางข้าวสาลี
Love eating ภาชนะจากพลาสติกผสมฟางข้าวสาลี

ภาชนะจากพลาสติกผสมฟางข้าวสาลี ถูกคิดค้นโดยนักวิจัยชาวจีน ที่ต้องการหาส่วนผสมจากธรรมชาติ เพื่อมาช่วยลดปริมาณการใช้เมล็ดพลาสติกในการผลิตสินค้าต่างๆ จนพบว่า ฟางข้าวสาลีเหมาะที่จะนำมาใช้มากที่สุด โดยใช้กรรมวิธี คือ นำฟางข้าวสาลีมาอัดเป็นเม็ด แล้วผสมกับเม็ดพลาสติก เพียง 5% จากนั้นจึงนำไปขึ้นรูป ทำให้แก้วน้ำจากฟางข้าวมีความแข็งแรงคงทนเทียบเท่ากับแก้วน้ำพลาสติกทั่วไป ใช้เวลาย่อยสลายด้วยการฝังดินเพียง 3 ปี เร็วกว่าพลาสติกที่ใช้เวลาหลายสิบปี และยังมีความพิเศษตรงที่แก้วจะมีกลิ่นหอมฟางสาลีติดอยู่ไปตลอด โดยที่ไม่มีรสหรือเป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด

 

ภาชนะจากพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic)

ภาชนะจากพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic)
GC ภาชนะจากพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic)

สำหรับใครที่ไม่สะดวกในการเลือกซื้อ ภาชนะจากธรรมชาติ   ก็มีอีก 1 ทางเลือก ที่สะดวก นั่นคือเลือกใช้พลาสติกชีวภาพ ซี่งเป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ เพราะผลิตจากเม็ดพลาสติกชีวภาพซึ่งสลายตัวได้ จะสามารถสลายตัวกลายเป็นสารชีวมวล น้ำและคาร์บอนไดออกไซค์ได้ในสภาพที่เหมาะสม เช่น ในกองปุ๋ยหมักหรือในดิน โดยไม่ทิ้งสารตกค้างต่อสิ่งแวดล้อม ภายในเวลาเพียง​ 6​ เดือน โดยต้องมีสภาวะที่เหมาะสมในการสลายตัว คือ สภาวะที่จุลินทรีย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ในกระบวนการหมัก หรือการฝังกลบในดิน ทั้งนี้การสลายตัวช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณจุลินทรีย์ รวมถึงขนาดและความหนาของผลิตภัณฑ์ด้วย

แต่การแยกให้ออกระหว่างพลาสติกทั่วไปกับพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจยังคงเป็นปัญหาอยู่ ด้วยเหตุนี้เอง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จึงได้ออกฉลาก “GC Compostable” ขึ้น เพื่อการันตีว่า พลาสติกที่คุณใช้อยู่นั้น สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาตินั่นเอง

 

สัญลักษณ์ฉลากผลิตภัณฑ์ GC Compostable

สัญลักษณ์ฉลากผลิตภัณฑ์ GC Compostable
สัญลักษณ์ GC Compostable

ฉลากยืนยันวัตถุดิบ (Material Label) หรือฉลากส่งเสริมสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ที่บ่งบอกว่า สินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของผู้ประกอบการผลิตจากเม็ดพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ(Compostable Plastics) ที่ GC Group ผลิตหรือรับรองและสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของผู้ประกอบการต้องผลิตภายใต้กระบวนการที่ GC Group รับรองเท่านั้น

 

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกที่เคยชิน  หันมาใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างภาชนะจากธรรมชาติ หรือพลาสติกชีวภาพ ที่ย่อยสลายได้ง่ายกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อชีวิตความสุขที่ยั่งยืนกันเถอะคะ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :  https://www.pttgcgroup.com/th/markets-innovations/markets/trusted-mark

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.