ย่ำบ่อกฐิน ถิ่นนาเกลือแดนอีสาน

ย่ำบ่อกฐิน ถิ่นนาเกลือแดนอีสาน พร้อมตำรับไทยโบราณ “พริกกะเกลือ” – ACuisine

ย่ำบ่อกฐิน ถิ่นนาเกลือแดนอีสาน
ย่ำบ่อกฐิน ถิ่นนาเกลือแดนอีสาน

ฉันรู้จักเมนู “พริกกะเกลือ” ครั้งแรกตอนสมัยที่ทำงานนิตยสารอาหาร ตอนนั้นพี่ที่ทำงานไปสัมภาษณ์บ้านคนไทยที่เป็นตระกูลเก่าแก่ตระกูลหนึ่ง ซึ่งเขากรุณาให้สูตรพริกกะเกลือมาลงตีพิมพ์ในนิตยสาร ยอมรับแต่โดยดีว่าครั้งแรกที่ได้ยินชื่อฉันนึกว่าเป็น “พริกเกลือ” ที่ใช้จิ้มมะม่วง แต่พอมาเห็นหน้าตาก็ชักงงว่า สิ่งเหลวๆมันๆสีน้ำตาลนี้นะหรือคือพริกเกลือ อีกทั้งพอชิมดู ไหงไม่เห็นจะมีรสเผ็ดเลยสักน้อย เลยสงสัยว่ามันเรียกว่า พริกกะเกลือ ได้อย่างไร

ในเวลานั้นเองฉันจึงได้รู้ว่าแท้จริงแล้ว “พริกกะเกลือ” ที่ว่า คืออาหารของคนไทยสมัยก่อน เขาใช้คลุกข้าวสวยร้อนๆกิน ส่วนผสมของพริกกะเกลือนี้ ทำมาจาก มะพร้าวขูดคั่วจนเหลืองกรอบ เกลือ และน้ำตาลตาล วิธีทำก็คือ ให้นำมะพร้าวขูดมาคั่วกับเกลือในกระทะจนเหลืองกรอบดี แล้วจึงนำมาตำในครกจนมะพร้าวละเอียดเนียนคายน้ำมันออกมาเป็นเงา จึงใส่น้ำตาลลงไปคนผสม รสชาติมันจะคล้ายๆอารมณ์เหมือน พีนัทบัตเตอร์ แต่เป็นกลิ่นมะพร้าวแทน

แต่พริกกะเกลือในตอนนั้นก็ยังติดค้างในใจว่า มันไม่มีพริกสักหน่อย ทำไม่ยังเรียก พริกกะเกลือได้ ความสงสัยนี้จึงนำพาไปสู่การค้นหาคำตอบ และไปพบว่ามีคำบอกเล่าจากหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ เล่าถึงพริกกะเกลือไว้ในหนังสือ “กินแบบไทย วิถีการครัวและวัฒนธรรมการกินของไทย” โดยพริกกะเกลือของท่านมีส่วนผสมที่ต่างจากแบบข้างบนที่กล่าวไว้ก่อน ใจความว่า

“มันมีมานานแล้ว ใช้คลุกกินกับข้าว รสชาติเค็ม หวาน มันพอดี แต่ตอนนี้มันหายไปจากสำรับกับข้าวของเราแล้ว คนไม่ค่อยทำกิน เครื่องปรุงหลักๆ ก็มีพริกบางช้างแห้ง มะพร้าวขูด ถั่วทอง เครื่องปรุงเหล่านี้ต้องนำมาคั่วและโขลกให้ละเอียด แล้วจึงนำมาผสมรวมกัน  ปรุงรสด้วยเกลือและน้ำตาลทรายเสริมรสชาตินิดหน่อย”

อันนี้ค่อยจะสบายใจเพราะมีพริกโผล่เข้ามาแล้ว เจ้าหนูจำไมแบบฉันค่อยคลายกังวล นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกว่า เจ้าพริกกะเกลือนั้น สมัยก่อนนับเป็นเสบียงกรังชั้นเลิศของเหล่านักรบที่จะบรรจุใส่กลักไม้ไผ่ติดตัวไปด้วย เวลารบไม่มีอะไรกินก็ตักเอาเจ้าพริกกะเกลือมาคลุกข้าวสวยกิน (ถึงจะสืบหาความจริงไม่ได้ว่าพริกกะเกลือมีมาตั้งแต่เมื่อไร แต่ถ้าลองได้บอกว่านักรบสมัยก่อนนำติดตัวไปด้วย ฉันว่าคงเป็นตำรับเก่าแก่จริง ว่าไหม) ในอีกทางหนึ่ง คุณคมสรร จับจุ คนไทยเชื้อสายมอญบ้านโป่ง จ.ราชบุรี ที่รู้จักกันเล่าให้ฉันฟังว่า พริกกะเกลือ ภาษามอญเรียกว่า “อะร่อด กอ เบอ” โดยคำว่า “อะร่อด” ในภาษามอญ แปลว่า “พริก” ส่วนคำว่า “กอ” แปลว่า “กะ” คำว่า “เบอ” แปลว่า “เกลือ” สรุปแปลมาแล้วก็เรียก พริกกะเกลือ เหมือนคนไทย แต่พี่คมสรรจัดเป็นเสบียงอาหารของคนมอญ ติดตัวไปเวลาเดินทางไกลเช่นไปกับคาราวานเลี้ยงวัว หรือทำไว้กินในช่วงที่ไม่มีอะไรจะกิน เช่น ช่วงแล้ง หรือ นาล่ม ก็ได้พริกกะเกลือที่ว่านี้ไว้คลุกข้าวกิน

นี้คือข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับพริกกะเกลือ ที่ฉันพอจะเสาะหามาเล่าสู่คุณฟัง ซึ่งหลังจากค้นหาข้อมูลเสร็จสรรพ ฉันเองก็ลองลงมือปรุงพริกกะเกลือกินดูอีกครั้ง โดยใช้สูตรแบบแรกที่มีส่วนผสมเพียง มะพร้าวคั่ว น้ำตาลและ เกลือ ซึ่งแน่นนอนว่าฉันต้องใช้เกลือสินเธาว์จากบ่อกฐินของดีของบ้านฉัน

การลองทำพริกกะเกลือกินเองนั้น ยังทำให้ฉันได้รู้ว่า พริกกะเกลือนั้นควรปรุงรสเค็มให้มากกว่าหวาน เพราะเวลาไปคลุกกับข้าวสวยจะให้รสที่พอดีกัน หากปรุงหวานมากกว่าเค็ม เมื่อนำไปคลุกข้าวซึ่งตามธรรมชาติข้าวจะมีรสหวานในตัวอยู่แล้ว จะทำให้คำข้าวหวานจนเกินไป และต้องโขลกจนมะพร้าวละเอียดเนียนจริงๆ ไม่อย่างนั้นเวลานำพริกกะเกลือไปคลุกกับข้าวกินจะระคายคอได้ อ้อ…เรื่องสุดท้ายที่ฉันค้นพบจากประสบการณ์จริงก็คือ พริกกะเกลือจะอร่อยเมื่อคลุกกับข้าวสวยร้อนๆ เท่านั้น พอข้าวคลายร้อนลง ข้าวที่คลุกกับพริกกะเกลือก็ชักจะเลี่ยนไปสักหน่อย แต่ถึงอย่างนั้นข้าวคลุกพริกกะเกลือของฉันในวันนี้ก็เกลี้ยงจานดีทีเดียว

เรื่องและภาพ : สิทธิโชค ศรีโช

ขอบคุณ

คุณคมสรร จับจุ ประธานกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมมอญนครชุมน์ เอื้อเฟื้อข้อมูลเรื่อง พริกกะเกลือแบบคนมอญ

 

เอกสารอ้างอิง หนังสือ

  • “จานอร่อยจากปู่ย่า สูตรโบราณ ๑๐๐ ปี” โดย สุมล ว่องวงศ์ศรี
  •  “กินแบบไทย วิถีการกครัวและวัฒนธรรมการกินของไทย” โดย สำนักพิมพ์แสงแดด
  •  “ประวัติศาสตร์โลก ผ่าน เกลือ” โดย Mark Kurlansky
Summary
ย่ำบ่อกฐิน ถิ่นนาเกลือแดนอีสาน
Article Name
ย่ำบ่อกฐิน ถิ่นนาเกลือแดนอีสาน
Description
ว่ากันว่าเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนคริสต์กาล ชาวจีนนาม “หลี่ปิง” คือผู้ค้นพบว่ามีน้ำเกลืออยู่ใต้ดินที่ซึมขึ้นมายังผืนดิน เขาจึงสั่งให้คนงานขุดเจาะลงไปเพื่อนำน้ำเกลือนั้นขึ้นมาใช้ประโยชน์ และในที่สุดก็สามารถประดิษฐ์ท่อไม้ไผ่ที่ใช้สูบน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินเพื่อนำมาต้มทำเกลือได้อีกด้วย ว่ากันว่าระบบท่อไม้ไผ่เหล่านั้นต่อมากลายเป็นต้นแบบของระบบท่อส่งน้ำประปาเลยทีเดียว ประเด็นสำคัญคือ ในยุคที่ปราศจากตู้เย็นอย่างทุกวันนี้ เกลือ คือ ผลึกสีขาวที่ทรงอำนาจมากไปกว่าเครื่องปรุงรสเค็มในอาหารเป็นแน่
Author

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.