“ผลไม้อร่อย” เลือกไม่ยาก

ใครเคยประสบปัญหานี้บ้าง เวลาจะเลือกผลไม้ซักชนิดจากตลาดกลับมาฝากคนที่บ้าน ก็ไม่รู้ว่าผลไม้หน้าตาแบบไหนที่อร่อย หวานมาก – น้อย คุ้มกับเงินที่เสียไปหรือไม่

ไม่ต้องห่วงค่ะ ปัญหานี้จะหมดไป เพราะ ป้ายุงคนสวย คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารชีวจิต จะมาบอกเคล็ดลับการเลือกผลไม้ให้ถูกใจคุณๆ มาฝากกัน

…..

เมื่อก่อนยุงมีปัญหาในการเลือกวัตถุดิบมาปรุงอาหารมาก

ยิ่งเป็นผลไม้ลูกโตๆ ที่ต้องใช้ความชำนาญในการเลือกว่าสุก หรือห่าม นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ บางทีจับลูกโน้น วางลูกนี้ เลือกไปงั้นเอง แล้วก็วนกลับมาเอาลูกเดิม ตัดสินแค่ความสวยพอกลับมาถึงบ้าน จะใช้นั่นแหละถึงรู้ว่าเลือกผิดช้ำใจเหลือเกิน

แต่สำหรับผู้อ่านชีวจิตที่กินผลไม้เป็นประจำไม่ต้องกลัวว่าจะพลาดเหมือนกับยุงค่ะ เพราะปักษ์นี้ เรามีเคล็ด(ไม่)ลับในการเลือกผลไม้มาฝากกัน

ชนิดแรกก็คือ“กล้วยหอม” ต้องเลือกที่สีผิวก่อน ผิวสีเหลืองทอง เหมาะสำหรับกินเลย ไม่มีรอยขีดข่วน หรือรอยช้ำ เพราะกล้วยหอมบอบบางมาก หลุดจากขั้วง่าย ถ้าต้องการเก็บไว้ได้หลายวัน ต้องเลือกผิวสีออกกระดังงา คือมีสีเขียวติดอยู่นิดหน่อย เอาแรปพลาสติกหุ้มปิดขั้วไว้ ถ้าอยากให้สุกช้าก็ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ คลุมเอาไว้อีกที เป็นการยืดอายุกล้วยให้นานออกไปอีก ยุงเคยแช่ตู้เย็นเก็บได้เหมือนกันค่ะ แต่ผิวดำ ไม่สวย

หรือถ้าเลือกกล้วยหอมสำหรับเทศกาลต่างๆ เรามักเจอกล้วยอ่อน ต้องเลือกดูที่ผิวไม่มีรอยขีดข่วน สีเขียวออกเหลืองนิดหน่อย ลูกอวบๆเหลี่ยมบนลูกไม่เป็นสันมาก ขั้วไม่เหี่ยว รับรองไม่ใช่กล้วยอ่อนแน่นอน

อีกอย่างก็คือ “สับปะรด” เดี๋ยวนี้มีแบบปอกขายเยอะแยะ แต่ถ้าซื้อเก็บไว้นานหน่อย จะมีกลิ่นเหม็น ไม่น่ากิน บางคนก็เลยต้องยอมซื้อทั้งเปลือก พอกลับมาปอกที่บ้านเจอแบบเปรี้ยวทุกที วิธีเลือกง่ายๆก็คือ สีเปลือกออกเหลืองหน่อย ขั้วไม่แห้ง ตาจะใหญ่ แบนๆ ดมดูจะมีกลิ่นหอม รสจะหวาน เวลาจับมีน้ำหนัก ถ้าลองใช้นิ้วดีดหรือเอาไม้เคาะจะมีเสียงแปะๆ แสดงว่า ขั้นส.ว. แล้ว(สูงวัยค่ะ) ใช้ได้

         “แตงโม”เป็นผลไม้ที่เลือกยากพอสมควร อย่างว่าแหละเหมือนกับ”มองคนแต่เปลือกนอก” เหมือนกันค่ะยากจัง…แต่ก็มีวิธีง่ายๆให้สังเกตยุงถามมาจากพ่อค้าแตงโมแผงใหญ่ในตลาดเผอิญเป็นแฟนตัวจริงของนิตยสารชีวจิตค่ะ เลยอธิบายชัดเจนมาก

เขาบอกว่าให้เลือกผิวสีเขียวเข้ม ลูบผิวแล้วเนียนไม่ขรุขระ ลายเส้นเขียวๆที่ผิวเห็นเด่นชัด มีน้ำหนัก เลือกที่ลูกใหญ่เพราะแสดงถึงความสมบูรณ์ สำคัญที่สุดคือขั้วต้องงอโค้ง ไม่ตรง สุดท้ายคือเอานิ้วดีดมีเสียงดังแปะๆแน่นๆ แสดงว่าไส้ไม่ล้ม ยุงทดลองทำตามใช้ได้เลยค่ะ

ผลไม้ที่ชาวชีวจิตกินเป็นประจำอย่าง“มะละกอ” เวลาจัดคอร์สสุขภาพต่างๆ ยุงจะมีหน้าที่เลือกมะละกอเป็นผลไม้หลักในคอร์ส ก็เลยเอาวิธีสังเกตมาแบ่งปันกัน แนะนำให้เลือกลูกหนักๆ ผิวไม่มีรอยช้ำถ้ากินเลยก็ควรมีสีเหลืองทั้งลูก เนื้อต้องแข็ง ถ้าเก็บไว้กินอีกวันสองวัน ยุงเลือกจะเลือกสีเหลืองปนเขียวลูกรียาวแล้วห่อกระดาษไว้ก่อน ผิวจะได้เนียนสวย เท่านี้ก็ใช้ได้แล้ว

สุดท้าย“ส้มโอ” ยุงชอบกินมาก ก็เลยหาวิธีเลือกที่เอากลับมาปอกที่บ้านแล้วไม่เสียใจ ส้มโอมีหลายพันธุ์ แล้วแต่ใครชอบแบบไหน วิธีการเลือกก็จะคล้ายๆ กันคือเลือกที่ผิวสีนวลออกเหลืองนิดๆ เปลือกบาง ถ้าเอามือกดที่ก้นจะนุ่มๆ ต่อมน้ำมันหรือตาน้ำบนผิวจะห่างๆแปลว่าส้มโอแก่ได้ที่และผ่านการทิ้งให้ลืมต้นจนคลายความเปรี้ยวแล้ว

รวมถึงเลือกลูกที่มีน้ำหนัก หรือถ้าได้รับมาเป็นของฝากเป็นผิวสีเขียวเข้ม อย่าเพิ่งปอกนะคะ ทิ้งไว้สัก2-3วันก่อน แต่ในจำพวกผลไม้ทั้งหมดที่ยุงบอกมา ส้มโอจะเก็บได้นานที่สุด ถึงเปลือกเหี่ยวแล้วก็ยังใช้ได้ค่ะ

ความจริงแล้วยังมีผลไม้อีกหลายชนิด แต่ยุงแนะวิธีเลือกลูกใหญ่ และกินบ่อยๆ เพื่อคุณผู้อ่านจะได้ไม่อารมณ์เสียเวลาซื้อกลับมาที่บ้านแล้วเจอแบบยุง

จะได้รู้ว่าการเลือกผลไม้ถึงจะเห็นแค่เปลือกนอก(หนาๆ) ก็สามารถมองทะลุถึงเนื้อในได้ไม่ยาก หากเลือกเป็นค่ะ

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.