ผักชีลาว

ผักชีลาว ผักสมุนไพร ที่นิยมใช้ทั่วโลก! กับประโยชน์และสรรพคุณ ที่คุณต้องรู้! – A Cuisine

ผักชีลาว

Dill

ผักชีลาว (Dill) ผักที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว นิยมนำมาเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารทั่วโลก ใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้ดี และเข้ากันได้ดีมากกับอาหารทะเล ในครัวยุโรปมักจะใช้ผักชีลาวดับกลิ่นอาหารทะเล จะพบเห็นได้หลากหลายเมนู อาทิ เมนูปลาแซลมอนต่าง เมนูหอยเซลล์ หรือ ทำเป็นส่วนผสมในซอสขาว ที่ใช้รับประทานคู่กับอาหารซีฟู้ด แต่ประโยชน์ของผักชนิดนี้ ไม่ได้มีไว้แค่ประกอบอาหาร แต่กลับมีสรรพคุณแฝงอยู่อีกมากมาย ที่หลายๆคนอาจไม่เคยรู้ มาดูกันเลยค่ะ

 

มาทำความรู้จักกับผักชนิดนี้เสียก่อน!

ชื่อพื้นเมือง : เทียนข้าวเปลือก ,เทียนตาตั๊กแตน (ภาคกลาง), ผักชี (ขอนแก่น,เลย) ผักชีตั๊กแตน, ผักชีเทียน (พิจิตร), ผักชีเมือง (น่าน), ผักจี (แพร่)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ผักชีลาวเป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับผักชี ลำต้นมีสีเขียวเข้มขนาดเล็ก ลักษณะใบเป็นใบประกอบแบบขนนกมีสีเขียวสดออกเรียงสลับกัน ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกมีลักษณะคล้ายกับซี่ร่ม ผลแก่เป็นรูปไข่แบนมีสีน้ำตาลอมเหลือง ถ้านำไปใช้เป็นเครื่องเทศจะเก้บได้ก้ต่อเมื่อดอกเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แต่ส่วนใหญ่จะพบในรูปของการทานสดเป็นผักมากกว่า ซึ่งควรเก็บก่อนที่จะออกดอก ผักชีลาวมีสองชนิด คือ ชนิดที่มาจากยุโรป (Dill) และชนิดที่มี

ถิ่นกำเนิด

กำเนิดในเอเชียเขตร้อน (Indian Dill) ในประเทศไทยมีการปลูกเพื่อใช้ทานเป็นผักมากกว่าปลูกเพื่อใช้ผลมาทำเครื่องเทศเพราะมีคุณภาพน้อยกว่าประเทศอินเดีย

  • การขยายพันธุ์ : ใช้เมล็ดในการขยายพันธุ์
  • ระยะเวลาปลูก : มีระยะเวลาในการปลูกประมาณ 60 วัน ก็สามารถนำมาประกอบอาหารหรือกินสด ๆ ก็ได้

ประโยชน์และสรรพคุณของ ผักชีลาว

หยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค

สรรพคุณเด็ดอย่างแรกของผักชีลาวก็คือหยุดยั้งการเติบโตของเชื้อโรคต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ได้พูดเล่นนะ เพราะผลการศึกษาในปี 2006 ซึ่งถูกตีพิมพ์ใน Journal of Food Science ได้แสดงให้เห็นว่า น้ำมันหอมระเหยในผักชีลาวมีประสิทธิภาพต่อต้านเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ เช่น ยับยั้งการเติบโตของเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียอันตรายต่าง ๆ อาทิ เชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) อันเป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษอีกด้วย

 

ไม่เพียงเท่านั้น การศึกษาจากมหาวิทยาลัยในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ก็ยังได้พบอีกว่า สารสกัดจากเมล็ดผักชีลาวสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 35 ปี และสามารถฆ่าเชื้อราชนิดต่าง ๆ เช่น แอสเปอร์กิลลัส ไนเจอร์ (Aspergillus niger), เชื้อแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) หรือแม้แต่เชื้อยีสต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารได้

 

ลดคอเลสเตอรอล

การศึกษาในสถาบันวิจัยเคมีชีวภาพและชีวกายภาพของอิหร่าน ได้ทำการทดลองกับหนูโดยให้สารสกัดจากใบผักชีลาวกับหนู ติดต่อกันเป็นเวลา 15 วัน พบว่าสารกัดดังกล่าวช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดของหนูได้ถึง 50 % และลดคอเลสเตอรอลโดยรวมได้อีก 20 % จึงสรุปได้ว่าการรับประทานผักชีลาว สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไขมันชนิดที่ไม่ดีต่อร่างกายได้ อันเป็นผลดีต่อสุขภาพหัวใจค่ะ

 

ลดกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคที่ทรมานใครหลายคน บางคนก็อาการกำเริบจนทำอะไรแทบไม่ได้เลยก็มี แต่ขอบอกว่าเจ้าผักชีลาวนี้ช่วยได้ค่ะ เพราะผักชีลาวนั้นสามารถเข้าไปช่วยกระตุ้นการทำงานในลำไส้ ทำให้อาหารที่รับประทานเข้าไปย่อยได้ดีขึ้น และไม่พบกับปัญหาน้ำย่อยหลั่งออกมามากเกินไปจนทำให้ไหลย้อนขึ้นไปให้แสบร้อนที่กลางอกแล้วล่ะค่ะ

 

ลดอาการนอนไม่หลับ

ผักชีลาวเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่สามารถบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้ เพราะสารฟลาโวนอยด์และวิตามินบีในผักชีลาวจะช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์และฮอร์โมนบางชนิดส่งผลให้เกิดภาวะสงบและนอนหลับได้ในที่สุดค่ะ

 

บำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง

แคลเซียมในผักชีลาว อย่าคิดว่าน้อยนะ ผักชนิดนี้มีแคลเซียมสูงเลยเชียว ซึ่งสามารถช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง หากใครไม่สามารถดื่มนมได้ ผักชีลาวก็ถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งเพื่อบำรุงกระดูกที่น่าสนใจนะคะ

 

รักษาไข้หวัด

ไข้หวัด ใครเป็นก็คงจะรู้สึกเซ็งไม่น้อย แต่ขอบอกเลยว่าไม่ต้องห่วง เพราะผักชีลาวสามารถช่วยลดอาการไข้หวัดได้ เช่น คัดจมูก และไอ แถมเจ้าสารสกัดจากผักชีลาวนี้ก็ยังมีในส่วนผสมของอาหารเสริมที่ช่วยบรรเทาอาการหวัดอีกด้วย รู้แบบนี้อยากรีบไปหามากินเลยใช่ไหมล่ะ

 

ช่วยให้ลมหายใจสดชื่น

สารประกอบในผักชีลาวนั้นมีการพบว่าสามารถลดกลิ่นปากอันไม่พึงประสงค์ได้อย่างรวดเร็ว แถมเมล็ดผักชีลาวยังสามารถเคี้ยวได้สบาย ๆ ใช้เป็นประจำก็สามารถทำให้กลิ่นปากหอมสดชื่นโดยไม่ต้องกลัวว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพฟันค่ะ

 

ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง

เราอาจจะเคยได้ยินกันมามากว่าสมุนไพรหลากหลายชนิดสามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ ได้ ผักชีลาวก็เช่นกันค่ะ เพราะผักชีลาวนั้นมีสารโมโนเทอร์ปีน (monoterpenes) อันมีคุณสมบัติในการต่อสู้กับการโจมตีของเซลล์มะเร็งและช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ในการใช้สมุนไพรชนิดนี้ด้วยค่ะ

 

บำรุงสุขภาพผู้หญิง

การศึกษาในปี 2006 ของนักวิจัยชาวอิหร่านพบว่า สารสกัดจากผักชีลาวนั้นหากรับประทานเข้าไปสามารถทำให้ระยะตกไข่ยาวนานขึ้น และช่วยให้ฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนทำงานในร่างกายเพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีการศึกษาพบอีกว่าผักชีลาวสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมให้ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ลดปัญหาน้ำนมไม่เพียงพอได้

 

กระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย

ไฟเบอร์มีส่วนช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งมีอยู่ในผักหลาย ๆ ชนิด แม้แต่ผักชีลาวก็ยังมี แถมยังมีอยู่ในปริมาณมากอีกด้วย ดังนั้นขอบอกเลยค่ะว่าการรับประทานผักชีลาวนั้นสามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย นอกจากนี้ใครที่ท้องเสียก็ควรรับประทานผักชีลาว เพราะผักชีลาวมีแร่ธาตุที่สำคัญอย่างแมกนีเซียมช่วยให้อาการท้องเสียดีขึ้นได้

 

 

รักษาระดับน้ำตาลในเลือด

มีการศึกษาหนึ่งพบว่าการรับประทานผักชีลาวช่วยรักษาระดับอินซูลินในเลือดได้ โดยการศึกษานั้นได้ทดลองกับหนูแสดงให้เห็นว่าเมื่อให้หนูกินสารสกัดจากใบผักชีลาวติดต่อกัน 15 วัน ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงและระดับอินซูลินในร่างกายก็จะคงที่เป็นปกติ จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่จะรับประทานเสริมเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล

 

ปกป้องร่างกายจากอนุมูลอิสระ

อนุมูลอิสระคือตัวร้ายที่บางครั้งเราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อสารอนุมูลอิสระเข้าไปแล้วก็จะไปทำลายเซลล์ในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อผิวพรรณให้แก่ก่อนวัย และอาจจะทำให้เกิดโรคมะเร็งได้อีกด้วย แต่สารอนุมูลอิสระเหล่านี้จะถูกทำลายหากรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเช่น ผักชีลาว แถมสารต้านอนุมูลอิสระในผักชีลาวยังมีส่วนช่วยในการลดโอกาสการออกซิเดชั่นในระดับเซลล์ได้อีกด้วยค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก

Summary
ผักชีลาว
Article Name
ผักชีลาว
Description
ผักชีลาว (Dill) ผักที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว นิยมนำมาเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารทั่วโลก ใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้ดี และเข้ากันได้ดีมากกับอาหารทะเล ในครัวยุโรปมักจะใช้ผักชีลาวดับกลิ่นอาหารทะเล จะพบเห็นได้หลากหลายเมนู อาทิ เมนูปลาแซลมอนต่าง เมนูหอยเซลล์ หรือ ทำเป็นส่วนผสมในซอสขาว ที่ใช้รับประทานคู่กับอาหารซีฟู้ด แต่ประโยชน์ของผักชนิดนี้ ไม่ได้มีไว้แค่ประกอบอาหาร แต่กลับมีสรรพคุณแฝงอยู่อีกมากมาย ที่หลายๆคนอาจไม่เคยรู้ มาดูกันเลยค่ะ
Author

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.