ไข่ตุ๋นมะพร้าวอ่อน

ไข่ตุ๋นมะพร้าวอ่อน หอมอร่อยได้คุณค่า Chawan Mushi (มีคลิป) – A Cuisine

มะพร้าว 

วิธีเลือกมะพร้าวอ่อน แก่แค่ไหน ใช้อย่างไร อาหารไทย กับ มะพร้าว ดูเหมือนจะแยกกันไม่ออก เพราะทั้งอาหารคาวและหวานนั้น ล้วนมีส่วนประกอบของมะพร้าวเข้ามาเอี่ยวด้วยทั้งสิ้น และด้วยความเก่งกาจของพ่อครัวแม่ครัวไทยแต่โบราณนานมา เขาจึงรู้กันว่า มะพร้าวแก่อ่อนแค่ไหน เหมาะจะหยิบฉวยไปปรุงเป็นอะไรจึงจะอร่อยเลิศรส ว่าแล้วอย่ารอช้า ไปเติมความรู้กันเพิ่มสักหน่อยเถิดว่า มะพร้าวแต่ละระดับมีความแตกต่างกันอย่างไร และ เหมาะจะนำไปใช้ปรุงเป็นอาหารประเภทไหน

มะพร้าวอ่อน

แบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1.แบบอ่อนจริงๆ ชนิดนี้มีเนื้อเป็นวุ้นใสเพียงอย่างเดียว น้ำมีรสเปรี้ยวซ่า และ 2. มะพร้าวอ่อนเนื้อกุ้ง คือมะพร้าวอ่อนที่แก่ขึ้นกว่าชนิดแรก เนื้อด้านในแบ่งเป็นสองสี  มีทั้งขุ่นและใส เนื้อมะพร้าวมีความอ่อนนุ่ม เปรียบเปรยว่าเนื้อมะพร้าวชนิดนี้คล้าย “เนื้อกุ้ง” หมายถึงมีลักษณะคล้ายเนื้อกุ้งดิบ นั่นเอง เนื้อและน้ำของมะพร้าวประเภทนี้ มีรสหวาน หากเป็นมะพร้าวน้ำหอมก็จะมีความหอมพิเศษ นิยมขูดรับประทานไปพร้อมกับน้ำมะพร้าว และยังนำเนื้อมะพร้าวอ่อนนี้ ไปใส่ในขนมไทยเพื่อเพิ่มความหอมอร่อย เช่น วุ้นมะพร้าวอ่อน บัวลอยมะพร้าวอ่อน ไข่หวานต้มมะพร้าวอ่อน เป็นต้น

น้ำมะพร้าวอ่อน ยังนำไปปรุงลงเป็นส่วนผสมของขนมและเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมได้ เช่น ผสมผงวุ้นทำเป็นวุ้นมะพร้าวอ่อน ผสมกับน้ำอัญชันทำน้ำอัญชันมะพร้าวอ่อน ทำไอศกรีมเกล็ดน้ำแข็งมะพร้าวอ่อน ใส่ลงในเปียกสาคู แต่มีข้อแม้ว่า ควรใส่น้ำมะพร้าวอ่อนเป็นลำดับสุดท้ายและอย่าต้มนาน เพราะหากต้มนานจะทำให้เม็ดสาคูกลายเป็นสีแดงไม่ใสสวน

เคล็ดลับการขูดเนื้อมะพร้าวอ่อน ให้ได้แผ่นสวย ก็คือ การใช้ช้อนอะลูมิเนียม (ไม่ใช่สเตนเลส) ซึ่งมีความบาง เมื่อนำไปขูดเนื้อมะพร้าวออกจากกะลาจะขูดได้ง่ายและเป็นแผ่นสวย นอกจากนี้ผลมะพร้าวอ่อนแบบที่ 2 ยังเหมาะกับการนำไปใช้เป็นภาชนะปรุงอาหาร เช่น ห่อหมกในลูกมะพร้าวอ่อน สังขยาในผลมะพร้าวอ่อน เป็นต้น

ในตำราแม่ครัวหัวป่าก์ เล่ม 4 โดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ได้กล่าวถึงมะพร้าวอ่อนไว้อย่างน่าสนใจ โดยสรุปความว่า มะพร้าวอ่อนนั้นมีหลายประเภท ทั้งมะพร้าวหมูสี มะพร้าวหมูสีกลาย มะพร้าวนาฬิเก มะพร้าวโหงสสี่บาท (คำว่า โหงสสี่บาท นั้น น่าจะหมายถึง หงสบาท ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์ อธิบายสีแบบไทย หมายถึง สีแดงเหมือนเท้าหงส์ คือ สีแดงปนเหลือง สีแดงเรื่อง หรือสีแสดก็ว่า )

นอกจากนี้ ในตำรายังระบุถึงการนำไปใช้ว่า มะพร้าวอ่อนนี้ นิยมกินปาดหัวผลกินน้ำกับเนื้อ (ในตำราเรียกว่า เยื่อ) และใช้ในพิธีกรรมสมโภช ตลอดจน ทำขวัญ หรือจะนำเอาน้ำมะพร้าวมาแช่เมล็ดมะขามคั่วจนเมล็ดมะขามเปื่อย จึงกรองเอาน้ำนันมาดื่มจะมีกลิ่นหอมของเมล็ดมะขามเจือในน้ำมะพร้าวด้วย ส่วนเนื้อก็นำไปขูดและนำไปต้มกับถั่วเขียวกระเทาะเปลือกกินคู่กับน้ำ เนื้อมะพร้าวส่วนที่แก่ (เนื้อมะพร้าวจะแก่อ่อนไม่เสมอกันทั้งผล) ก็จะขูดมาทำมะพร้าวแก้ว หรือนำมาทำสังขยาในผลมะพร้าวอ่อน หรือเผารับประทานก็ได้ และยังระบุว่า ในยุคของท่านผู้หญิง เริ่มมีเครื่องแช่เย็นแล้ว ก็จะนำมะพร้าวอ่อนไปแช่เย็นจนน้ำมะพร้าวกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง ท่านเรียกว่า มะพร้าวหิมาลัย

 

มะพร้าว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน

เนื้อมะพร้าวแก่ นำไปทำกะทิได้ โดยการขูดเนื้อในเป็นเศษเล็ก ๆ แล้วบีบเอาน้ำกะทิออก

กากมะพร้าว ที่เหลือจากการคั้นกะทิ ยังสามารถนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ได้

ยอดอ่อนของมะพร้าว หรือเรียกอีกชื่อว่า หัวใจมะพร้าว (coconut’s heart) สามารถนำไปใช้ทำอาหารได้ ซึ่งยอดอ่อนมีราคาแพงมาก เพราะการเก็บยอดอ่อนทำให้ต้นมะพร้าวตาย ด้วยเหตุนี้จึงมักเรียกยำยอดอ่อนมะพร้าวว่า “สลัดเจ้าสัว“ (millionaire’s salad)

ใยมะพร้าว นำไปใช้ยัดฟูก ทำเสื่อ หรือนำไปใช้ในการเกษตร

น้ำมันมะพร้าว ได้จากการบีบหรือต้มกากมะพร้าวบด นำไปใช้ในการปรุงอาหารหรือนำไปทำเครื่องสำอางก็ได้ และในปัจจุบันยังมีการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันมะพร้าวอีกด้วย

กะลามะพร้าว นำไปใช้ทำสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น กระบวย โคมไฟ กระดุม ซออู้ ฯลฯ

ก้านใบ หรือ ทางมะพร้าว ใช้ทำไม้กวาดทางมะพร้าว

จั่นมะพร้าว (ช่อดอกมะพร้าว) ให้น้ำตาล

จาวมะพร้าว ใช้นำมาเป็นอาหารได้ ในจาวมะพร้าวมีฮอร์โมนออกซิน และฮอร์โมนอื่นๆแต่ มี ฮอร์โมนออกซินปริมาณมากที่สุด ซึ่งเมื่อนำไปคั้น และนำน้ำที่ได้จากจาวมะพร้าว ไปรดต้นพืช จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชได้

 

ประโยชน์ของ น้ำมันมะพร้าว

น้ำมะพร้าว ใช้เป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ได้ เนื่องจากอุดมไปด้วยโพแทสเซียม นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติปลอดเชื้อโรค และเป็นสารละลายไอโซโทนิก ซึ่งด้วยเหตุนี้จึงสามารถนำน้ำมะพร้าวไปใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดเวน ในผู้ป่วยที่มีอาการขาดน้ำหรือปริมาณเลือดลดผิดปกติได้ น้ำมะพร้าวสามารถนำไปทำ วุ้นมะพร้าว ได้ โดยการเจือกรดอ่อนเล็กน้อยลงในน้ำมะพร้าว

ในน้ำมันมะพร้าวมีน้ำตาล “กลูโคส“ และ “ฟรักโทส“ อยู่มาก เวลากินจึงรู้สึกสดชื่นกระชุ่มกระชวย และทำให้ชุ่มคอ เพราะร่างกายสามารถดูดซึมน้ำตาลทั้งสองชนิดไปใช้เป็นพลังงานได้ทันที

ยิ่งไปกว่านั้น ในน้ำมันมะพร้าวยังอุดมไปด้วยสารอาหารนานาชนิด ที่มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ และบำรุงโลหิต ตำราแพทย์แผนโบราณของไทย ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ และบำรุงเลือด ในเนื้อมะพร้าวด้วยเช่นกัน ที่นิยมมาเคี่ยวเป็นน้ำมันเพื่อเก็บไว้กิน

 

คุณค่าทางสมุนไพร

เนื้อมะพร้าว : นำมาเคี่ยวเป็นน้ำมัน มีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ใช้กินกำจัดพยาธิ และเป็นยาขับปัสสาวะ

น้ำมันมะพร้าว : ใช้ทาผิวเพื่อบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใสไม่แห้งกร้าน ช่วยทำให้รับประทานอาหารมื้อต่อไปได้น้อยลง ช่วยยืดและชะลอความหิวออกไปให้นานขึ้น ช่วยลดอัตราความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง

เปลือกผล : น้ำเปลือกมะพร้าวสดมาเผาไฟ ใช้ทาผิวหนังแก้โรคกลากเกลื้อน แก้โรคหิด แก้อาการผดผื่นคัน

นอกจากนี้มะพร้าวจัดเป็นพรรณไม้มงคลชนิดหนึ่ง ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง ได้กำหนดให้ปลูกมะพร้าวไว้ทางทิศตะวันออกของบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วยค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.