จระเข้เล่นน้ำ

ดับร้อนด้วยเมนู ว่านหางจระเข้ สูตรขนมหวาน จากสมุนไพรไทย

ดับร้อนด้วยเมนู ” ว่านหางจระเข้ ” สูตรขนมหวาน จากสมุนไพรไทย ระยะหลายปีมานี้ช่วงฤดูร้อนอากาศจะร้อนมากกว่าปกติ ในทางแพทย์แผนไทยจะกล่าวถึงฤดูร้อนว่าเป็น “คิมหันตฤดู” ซึ่งเป็นฤดูของธาตุไฟและเป็นช่วงที่พระอาทิตย์อยู่ใกล้เรา และแผ่ความร้อนมายังสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บนโลก เป็นฤดูของปิตตะ (การทำงานของธาตุไฟ) ซึ่งธาตุไฟจะมีอิทธิพลต่อเรา

ดับร้อนด้วย “จระเข้เล่นน้ำ” ลักษณะเช่นนี้อาจทำให้บุคคลธาตุไฟไม่ค่อยชอบ (ลักษณะของคนธาตุไฟคือ มักหงุดหงิดง่าย ผมหงอกเร็ว หิวบ่อย ชอบอยู่ในที่เย็น ไม่ชอบอากาศร้อน ฤดูร้อนมีอิทธิพลทำให้เจ็บป่วยง่าย) เพราะจะทำให้รู้สึกไม่สบาย ร้อนหงุดหงิดง่ายกระหายน้ำบ่อยกว่าปกติ ในบางรายอาจไม่สบาย

ทางแพทย์แผนไทยกล่าวไว้ว่า ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ควรช่วยร่างกายให้ระงับปิตตะหรือไฟธาตุไม่ให้กำเริบ เพราะถ้าไฟธาตุกำเริบก็จะทำให้เกิดอาการหงุดหงิด กระวนกระวาย เหงื่อออกมากกว่าปกติ ตัวร้อนหรือมีไข้ซึ่งการระงับปิตตะเพื่อปรับสมดุลนั้นทำได้หลายวิธี เช่น การดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารอาหารที่มีฤทธิ์เย็นหรือรสเย็นจะช่วยให้ระงับความร้อนได้ดี หรืออาจรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานเล็กน้อย เช่น น้ำผลไม้ น้ำดื่มสมุนไพรต่าง ๆ หรืออาหารและเครื่องดื่มรสขมเล็กน้อยและรสจืดเพื่อช่วยดับร้อน สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีดับร้อนคลายร้อนที่ดี และควรเป็นเครื่องดื่มที่ไม่หวานมาก เพราะถ้าหวานมากก็ทำให้คอแห้งกระหายน้ำมากตามมา

ถ้ายังนึกไม่ออกว่าผักผลไม้ฤทธิ์เย็นต่าง ๆ ซึ่งมีสรรพคุณในการระงับความร้อน นั้นมีอะไรบ้าง ให้คุณสังเกตจากรสชาติของพืชผักเหล่านั้นเป็นหลักว่าควรมีรสจืด รสขมรสจืดเย็น รสสุขุม รสหวานเย็นหรือหอมเย็นก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น เหง้าบัวหลวง แห้ว สายบัว บัวบก ว่านหางจระเข้ ใบเตย ใบไผ่ป่า ว่านกาบหอย ดอกเก๊ก (เบญจมาศหนู) เมล็ดในฝักเพกา ชะเอมเทศ ชมพู่ สาลี่ แตงโม แคนตาลูปหรือแตงต่าง ๆ ตำลึง ฟัก ผักกาดหอม ไช้เท้า ฯลฯ

นอกจากนี้ยังไม่ควรรับประทานอาหารที่เป็นของที่ทอดหรือเผ็ดร้อนมาก หรือเปรี้ยวมาก เพราะจะส่งผลให้ธาตุไฟกำเริบและมีอาการร้อนในกระหายน้ำมาก คอแห้ง เจ็บคอและเป็นไข้ได้ หรือถ้าต้องอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนก็ควรดื่มน้ำให้มาก เพื่อลดการเสียเหงื่อหรือช่วยปรับสมดุลไฟธาตุในร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติ

ว่าแล้วในฤดูร้อนปีนี้ขอนำเสนอเมนูอาหารว่างคลายร้อนเพื่อช่วยให้สดชื่นคลายร้อนในช่วงฤดูร้อนที่เป็นฤดูของธาตุไฟ และช่วยปรับสมดุลของปิตตะธาตุไฟในร่างกายช่วงฤดูร้อน เมนูนี้ชื่อว่า “จระเข้เล่นน้ำ” ค่ะ

ว่านหางจระเข้
สูตรขนมหวาน จระเข้เล่นน้ำ

สรรพคุณวัตถุดิบ

  • วุ้นว่านหางจระเข้ มีฤทธิ์เย็น แก้ร้อนในช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร ใช้ภายนอกช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
  • รากบัว รสจืดเย็น แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำบำรุงกำลัง
  • แห้ว รสมันเย็น แก้ร้อนใน บำรุงกำลัง
  • ใบเตย หอมเย็น แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะอย่างอ่อน บำรุงหัวใจ
  • ชะเอมเทศ รสหวาน ทำให้ชุ่มคอ แก้ร้อนในกระหายน้ำ

เมนู จระเข้เล่นน้ำ

ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่) เตรียม 30 นาที ปรุง 20 นาที

  • ว่านหางจระเข้ กาบใหญ่ติดโคนต้น 1 กาบ
  • แห้วปอกเปลือกหั่นสี่ส่วน 10 หัว
  • รากบัวหลวง (หรือรากบัวจีน)
  • ปอกเปลือกหั่นเป็นแผ่นบาง 100 กรัม
  • ใบเตยหอม 3 ใบ
  • ชะเอมเทศ 10 กรัม
  • น้ำตาลกรวด 30 กรัม
  • น้ำสะอาด 1 1/2 ลิตร

วิธีทำ

1. ปอกเปลือกว่านหางจระเข้ออกให้เกลี้ยงเหลือเฉพาะส่วนที่เป็นวุ้นใส ล้างด้วยน้ำเกลือ 1 ครั้ง แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดนำมาหั่นเป็นเต๋า พักไว้
2. ใส่น้ำลงหม้อตั้งไฟ ใส่ชะเอมเทศลงไปต้ม ตามด้วยใบเตยใส่รากบัวลงต้มประมาณ 20 นาที ตามด้วย แห้ว ชิมให้มีรสหวานเล็กน้อยและมีกลิ่นหอมของใบเตย แห้วและรากบัว
3. ใส่ว่านหางจระเข้ที่เตรียมไว้ลงต้ม 5 นาทีแล้วยกลงจากเตา เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ตักใส่ถ้วยรับประทานอุ่น ๆ หรือจะใส่น้ำแข็งรับประทานก็ได้ตามความชอบ

Tips : การล้างว่านหางจระเข้ด้วยน้ำเกลือก่อนแล้วจึงล้างด้วยน้ำสะอาดจะช่วยลดเมือกของว่านหางจระเข้และช่วยลดกลิ่นเหม็นเขียว

พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 60.60 กิโลแคลอรี
โปรตีน 0.93 กรัม ไขมัน 0.18 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 14.15 กรัม ไฟเบอร์ 1.27 กรัม

เรื่องและสูตร : อาจารย์วันทนี ธัญญา เจตนธรรมจักร เรียบเรียงและภาพประกอบ : สิทธิโชค ศรีโช ภาพ : พีระพัฒน์ พุ่มลำเจียก สไตล์ : จารุนันท์ ศรีทองนาก

สูตรขนมไทย แนะนำ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.