ดอกผักปลัง ผักริมรั้ว มากประโยชน์

ดอกผักปลัง ผักริมรั้ว พืชท้องถิ่นใกล้บ้าน มากประโยชน์มากสรรพคุณ – ACuisine

ดอกผักปลัง

ดอกผักปลัง สุดยอดพืชผักริมรั้ว!  ยอดวัตถุดิบพื้นบ้าน…เป็นผักพื้นบ้านที่สามารถหารับประทานได้ตลอดทั้งปี มีขายตามตลาดสดจนถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน แต่หลายคนอาจสงสัยแล้วว่า…เจ้าดอกผักปลังมีดีอย่างไร? มาดูต่อกันเลยครับ^^

ลักษณะของ “ผักปลัง”

ผักปลัง ชื่อวิทยาศาสตร์: Basella alba วงศ์ Basellaceae

เป็นไม้เลื้อย ลำต้นอวบน้ำ เกลี้ยง กลม ลำต้นมีสีเขียว ใบเดี่ยว อวบน้ำ เป็นมันหนานุ่มมือ ฉีกขาดง่าย ขยี้จะเป็นเมือกเหนียว ขอบใบเรียบ ดอกช่อเชิงลด ออกตรงซอกใบ ดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดเล็ก ไม่มีก้านชูดอก แต่ละดอกมี 5 กลีบ ดอกสีขาว มีริ้วประดับ ติดที่โคนของกลีบรวม กลีบรวมรูประฆัง โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อ ปลายแยกเป็นห้าแฉกเล็กน้อย เกสรเพศผู้มีจำนวน 5 อัน ติดที่ฐานของกลีบดอก อับเรณูรูปกลม ติดก้านชูเกสรที่ด้านหลัง เกสรเพศเมีย 1 อัน กลม ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 3 แฉก ผลสด กลมแป้น ฉ่ำน้ำ ผิวเรียบ ปลายผลมีร่องแบ่งเป็นลอน ไม่มีก้านผล ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีม่วงอมดำ ภายในผลมีน้ำสีม่วงดำ เมล็ดเดียว

ผักปลังมี 2 ชนิด

สังเกตได้จากสีของลำต้นและดอก ถ้าลำต้นเขียว ดอกขาวเรียกผักปลังขาว หากลำต้นแดง ดอกแดงเรียกผักปลังแดง ทั้งสองชนิดรับประทานได้เช่นเดียวกัน ชาวมอญในไทยเรียกผักปลังทั้งสองชนิดรวมกันว่าผักปลังป่า ในขณะที่ภาษามอญเรียกผักปลังว่าฮะลอน

ดอกผักปลัง ประโยชน์ของ

มีคุณค่าทางอาหารมากมายได้แก่ แคลเซียมและธาตุเหล็กสูง และยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย เมือกของดอกปลังนั้นมีสรรพคุณช่วยในเรื่องการขับถ่ายได้ดีเป็นยาระบายอ่อนๆ บำรุงสายตา ช่วยป้องกันอาการอ่อนเพลีย

ตำรายาไทยโบราณ ใช้ทาแก้กลากเกลื้อน แก้โรคเรื้อน ดับพิษฝีดาษ แก้เกลื้อน คั้นเอาน้ำทาแก้หัวนมแตกเจ็บ “ต้น” แก้อึดอัดแน่นท้อง ระบายท้อง แก้อักเสบบวม ต้มดื่มแก้ไส้ติ่งอักเสบ “ราก” แก้รังแค แก้โรคผิวหนัง แก้ท้องผูก แก้พรรดึก ขับปัสสาวะ ใช้ทาถูนวดให้ร้อน เป็นผักที่มีเมือกมาก กินแล้วช่วยระบาย

การปรุงอาหาร นิยมนำมาลวกหรือต้มให้สุก ใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก เช่น น้ำพริกอ่อง พริกตาแดง น้ำพริกดำ เป็นต้น หรือนำไปประกอบอาหาร เมนูดอกผักปลัง เช่น ใส่แกงจืดหมูสับ แกงแค แกงเลียง แกงส้ม แกงใส่อ่อมหอย แกงปลา ผัดกับแหนม ผัดน้ำมัน ผัดใส่ไข่ ชาวล้านนาจะนิยมนำยอดอ่อนและดอกอ่อนมาใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารประเภท จอ ที่เรียกว่า “จอผักปลัง” หรือ “จอผักปั๋ง”

อ้างอิง

เมนู แกงส้มผักปลัง คลิก!

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.