ลูกประ

ลูกประ คุณเคยกินหรือยัง? อาหารพื้นเมืองมากคุณค่า ปีหนึ่งมีครั้งเดียว!!

 ลูกประ วัตถุดิบมากคุณค่าจากธรรมชาติ

ลูกประ หรือ ลูกกะ หลายๆคนอาจไม่ค่อยคุ้นหูนัก มีลักษณะคล้ายลูกยางพารา  เวลาสุกก็จะแตกตกลงพื้นเช่นเดียวกันกับลูกยางพารา พบได้มากในภาคใต้ ลูกประนิยมนำมารับประทานโดยการ ต้ม ดอง คั่ว ส่วนตัวแอดชอบลูกประต้มมากจ้า รสชาติของลูกประนั้นจะคล้ายคลึงกับถั่วอัลมอนด์เลยล่ะ แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่า มีความมันอร่อยมาก…แต่วันนี้แอดจะมานำสาระดีๆของวัตถุดิบชนิดนี้ให้ทุกๆได้รู้จักกันจ้า มาดูกันเลย….^^

“ประ” เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ สูงประมาณ 20-40 เมตร เปลือกมียางเหนียว ใบเป็นรูปรี ฐานใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย แต่เมื่อแตกใบอ่อนจะมีสีชมพูแดง ออกดอกที่ปลายกิ่งเป็นช่อสีขาวนวล และมีดอกแยกเพศ ดอกตัวผู้มีกลีบเลี้ยง 4-6 กลีบ มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ส่วนดอกตัวเมียรังไข่มีสีชมพูอ่อน

ลักษณะของลูกประ

ผลประมีเปลือกหุ้ม ลักษณะเป็นพู มี 3 พู ภายในมี 3 เมล็ด รูปร่างแบบรีๆ ผลอ่อนเป็นสีเขียว แต่เมื่อแก่จะเป็นสีดำปนน้ำตาล โดยมีเปลือกแข็งหุ้มผิวมัน ขณะที่เนื้อข้างในจะเป็นสีขาวนวล และเมล็ดจะแตกกระเด็นไปได้ไกลเหมือนกับเมล็ดยางพารา ลูกประเมื่อกระเทาะเปลือกออกแล้วมีลักษณะคล้ายเม็ดขนุน

ต้นประ เป็นไม้ยืนต้นซึ่งมีความสำคัญต่อป่าต้นน้ำ

ต้นประนับเป็นไม้พื้นเมืองที่ขึ้นตามธรรมชาติในเขตป่าดงดิบ หรือตามภูเขาที่มีความชื้นสูง สำหรับในภาคใต้ จะพบได้มากตามแนวเขต “เทือกเขาบรรทัด” โดยเฉพาะบริเวณ “บ้านด่าน” หมู่ที่ 5 ต.น้ำผุด อ.เมืองตรัง ซึ่งมี “ต้นประ” ขึ้นอยู่ไปทั่วนับหมื่นๆ ต้น ในพื้นที่ที่กว้างขวางประมาณ 1,000 ไร่ ทำให้เป็นแหล่งหารายได้ที่สำคัญของกลุ่มชาวบ้านจากทั่วทุกสารทิศ 

ลูกประสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่

ทั้งนี้ ชาวบ้านแต่ละคนจะสามารถเก็บได้ตั้งแต่ 10-20 กิโลกรัม หรือสามารถสร้างรายได้ให้คนละ 500-1,000 บาทต่อวัน แต่หากนำมาแปรรูปจะสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นไปอีก เช่น ต้มให้สุกแล้วนำไปดองในน้ำเกลือ ซึ่งสามารถเก็บไว้บริโภคได้นานหลายเดือน โดยมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท

แต่หากนำไปคั่วหรืออบแห้ง ก็จะมีราคาขยับขึ้นไปเป็นกิโลกรัมละ 120 บาท นอกจากนั้น ยังนำไปปรุงอาหารคาวได้หลายอย่าง เช่น แกงพุงปลา แกงส้มกบ แกงกะทิหมู น้ำพริก เนื่องจากมีรสชาติหวานมัน ประกอบกับหามารับประทานได้ยาก แค่ปีละ 1 ครั้ง จึงกลายเป็นผลผลิตพื้นบ้านที่มีทั้งคุณค่าและราคา

อ้างอิงข้อมูลจาก

http://www.77jowo.com

https://www.gotoknow.org/

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.