กระท้อน A Cuisine

กระท้อน เลือกให้อร่อยถูกใจ…ต้องเลือกอย่างไร? พร้อมสูตร! กระท้อนทรงเครื่อง

ท้

S a n t o l

กระท้อน “ยิ่งทุบยิ่งหวาน” คำคมจากชาวสวนกระท้อน ที่ทำแล้วเห็นผลจริง ให้ความอร่อยยิ่งขึ้นใช่เพียงแค่คำคม… หนึ่งในผลไม้ตามฤดูกาลของไทย ซึ่งได้รับการยกย่องในเรื่องรสชาติที่อร่อยเลิศ สามารถรับประทานสดๆ หรือนำไปรังสรรค์เป็นผลไม้ตามฤดูกาลเมนูอร่อยต่างๆ อย่าง กระท้อนลอยแก้ว กระท้อนทรงเครื่อง หรือ ส้มตำกระท้อน และวันนี้แอดมินก็นำความรู้ดีๆของเจ้ากระท้อน ที่นอกจากความอร่อยแล้ว ก็ยังแฝงไปด้วยประโยชน์มากมายเช่นกัน ถ้าอยากรู้!…มาดูกันเลยครับ^^

มารู้จักกับ “เจ้ากระท้อน” กันเสียก่อน…

กระท้อน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลกระท้อนมีสีสะดุดตา เป็นต้นไม้ที่ทนแล้งได้ดี กระท้อนเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 15 – 30 เมตร อายุขัยเฉลี่ยประมาณ 40 – 50 ปี เปลือกต้นสีเทา เมื่อใบแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงดอกออกเป็นช่อ ที่ซอกใบบริเวณปลายกิ่ง จะมีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกสีเหลืองนวล

ผลอ่อนจะมีสีเขียวมีน้ำยางสีขาว เมื่อผลแก่เปลือกผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและมีน้ำยางน้อยลง รูปกลมแป้น ผิวมีขนแบบกำมะหยี่อ่อนนุ่ม ขนาดประมาณ 5 – 15 เซนติเมตร ภายในผลจะมีเมล็ด 3-5 เมล็ด และมีปุยสีขาวหุ้มอยู่ ปุยที่รับประทานได้นี้พัฒนามาจากเปลือกหุ้มเมล็ด ซึ่งลักษณะ ของปุยและรสชาติจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละพันธุ์ เมล็ดรูปรี มีปลอกเหนียวห่อหุ้ม

กระท้อน A Cuisine

กระท้อน…มีกี่สายพันธุ์ แล้วต่างกันอย่างไร?

พันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงสูดเป็นพันธุ์กระท้อนห่อที่มีรสหวาน ได้แก่ พันธุ์อีล่า ปุยฝ้าย นิ่มนวล อินทรชิต ทับทิม ขันทอง เทพรส อีแดง ส่วนพันธุ์พื้นเมืองจะมีผลดก ผลมีขนาดเล็ก รสเปรี้ยว จึงนิยมนำมาทำเป็น กระท้อนดอง กระท้อนทรงเครื่อง

พันธุ์ปุยฝ้าย

เป็นที่นิยมบริโภคมากที่สุด เพราะมีรสหวาน มีเปลือกที่นิ่มเหมือนกำมะหยี่ จึงเป็นกระท้อนที่จำหน่ายได้สูงสุด ขนาดของผลมีตั้งแต่เล็กไปถึงใหญ่ สีเหลืองนวลสวย ผลกลมแป้น เม็ดกระท้อนจะมีปุยมากกว่าสายพันธุ์อื่น ปุยกระท้อนเมื่อทานไปแล้วจะเหมือนว่า ปุยกระท้อนละลายในปาก ชาวสวนกระท้อนนิยมเรียกว่าปุยฝ้ายแท้ เป็นพันธุ์ที่กลายมาจากพันธุ์ทองหยิบ

พันธุ์อีล่า

พันธุ์อีล่า หรือปุยฝ้ายเกษตร เป็นกระท้อนพันธุ์พื้นเมือง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งชาวบ้าน ต.ตะลุง ได้รับแจกสายพันธุ์มาจากกระทรวงเกษตร เล่ากันว่าชาวปราจีนบุรี เรียกกระท้อนพันธุ์นี้ว่าปุยฝ้ายเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่รสชาติที่กระท้อนอีล่าเมื่อยังไม่แก่จัดจะมีรสอมเปรี้ยว และผลกระท้อนจะมีขนาดใหญ่มากบางผลน้ำหนักถึง 0.9 กิโลกรัม ขนาดของผลมีขนาดใหญ่ ผิวจะไม่เรียบ สีโทนเหลืองสด ผลคล้ายเป็นจุก รสอมเปรี้ยวเมื่อยังไม่แก่จัด หากผลแก่รสชาติจะหวานมีปุยเหมือนปุยฝ้ายกระท้อนพันธุ์อีล่า มักจะสุกช้ากว่ากระท้อนทุกพันธุ์

พันธุ์ทับทิม

เป็นกระท้อนพันธุ์เมืองดั้งเดิม ของ ต.ตะลุง แต่ไม่มีคนรู้จักมากนัก เนื่องจากมีชาวสวนที่ปลูกกระท้อนพันธุ์ทับทิมไม่มาก แต่ด้วยรสชาติที่มีรสหวาน ลักษณะผลกลม มีขนาดไม่ใหญ่มาก สีเหลืองนวล ผิวกระท้อนเรียบเนียนสวย เปลือกนิ่ม ผลกลม

พันธุ์นิ่มนวล

เป็นกระท้อนที่มีลักษณะ เปลือกบาง เนื้อหนานิ่ม ไม่กระด้าง ปุยหุ้มเมล็ดหนาฟู รสหวานจัดเป็นสายพันธุ์ที่นิยมบริโภคกันมาก ทรงผลกลมแป้น มีขั้วสั้น ผิวเปลือกเรียบมีสีเหลืองอมน้ำตาล เปลือกบาง

 

วิธีเลือกกระท้อน…ให้อร่อย ถูกใจ!

รสชาติของกระท้อนแต่ละสายพันธุ์จะมีความแตกต่างกันออกไป แต่วิธีเลือกกระท้อนให้อร่อยนั้น จะไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ วันนี้แอดมินมีวิธีเลือกกระท้อนง่ายๆมาฝากทุกคนกันจ้า^^

  • ผลกระท้อนที่ดีต้องมีลักษณะกลมแป้น
  • ผิวผลมีขนอ่อนนุ่มคล้ายกำมะหยี่
  • เปลือกกระท้อน เมื่อสุก จะมีสีเหลืองนวลเข้มหรือน้ำตาล และต้องมีน้ำยางไหลออกมาน้อย
  • ก้นกระท้อนต้องไม่มีรอยบุ๋ม เนื้อเต็ม นูน หากก้นกระท้อนแตก เนื้อกระท้อนมักจะจืด
  • ขั้วกระท้อนต้องไม่เหี่ยว ไม่หลุด
  • ด้านในผลกระท้อนจะมีเม็ดอยู่ 3-5 เม็ด ส่วนเนื้อกระท้อนจะเป็นปุยๆ สีขาวที่ห่อหุ้มอยู่

Tip หากเก็บจากต้นควรจะปล่อยทิ้งไว้สัก 2-3 วัน ก่อนทานต้องทุบกระท้อน พอให้น่วมทั่วทั้งผลช่วยทำให้รสชาติของกระท้อนหวานขึ้น แต่ถ้าต้องการนำเนื้อกระท้อนไปทำอาหารหรือนำไปแปรรูปเป็นของหวานต่างๆ ก็ควรจะแช่น้ำเกลือทิ้งไว้สุกครู่ จึงนำมาขยำเบาๆ วิธีนี้จะช่วยลดความฝาดของกระท้อนก่อนนำไปประกอบอาหารได้จ้า

 

ประโยชน์ของ…กระท้อน

  1. สร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน

กระท้อน 100 กรัมมีไฟเบอร์ถึง 1.26 กรัม เทียบเป็น 8.4% ของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน ซึ่งไฟเบอร์จะช่วยให้ร่างกายสามารถสร้างโปรไบโอติกส์ได้มากขึ้น และเจ้าแบคทีเรียชนิดนี้มีส่วนสำคัญในการสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน อีกทั้งสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในกระท้อนยังช่วยป้องกันและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

  1. ป้องกันฟันผุ

สรรพคุณอีกอย่างหนึ่งที่เรียกได้ว่าน่าสนใจสุด ๆ ของกระท้อน นั่นก็คือกระท้อนช่วยป้องกันฟันผุได้ เพราะการรับประทานกระท้อนจะช่วยเพิ่มการหลั่งของน้ำลาย ซึ่งเจ้าน้ำลายนี่ล่ะค่ะมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในช่องปาก และขจัดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดฟันผุได้เป็นอย่างดี

 

  1. ลดระดับคอเลสเตอรอล

กระท้อนเป็นแหล่งที่อุดมด้วยไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง เนื่องจากไฟเบอร์ชนิดนี้จะเข้าไปลดระดับไขมันในเส้นเลือด อีกทั้งเพคตินที่อยู่ในกระท้อนก็ยังคอยช่วยดักจับคอเลสเตอรอล ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลง และสามารถป้องกันโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจได้อีกด้วย

 

  1. แก้ท้องเสีย

แม้ว่าการรับประทานไฟเบอร์มากไปจะกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานหนักจนอาจกลายเป็นอาการท้องเสีย แต่สำหรับคนที่ท้องเสียแล้ว กระท้อนช่วยได้ค่ะ โดยเฉพาะรากของกระท้อน หากนำมาต้มน้ำดื่มจะช่วยแก้อาการท้องเสีย และบิด ไม่เพียงเท่านั้นเพราะไฟเบอร์ที่อยู่ในกระท้อน เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วก็ยังสามารถช่วยปรับระบบการทำงานของลำไส้ให้กลับมาเป็นปกติได้อีกด้วย

 

  1. อุดมด้วยวิตามิน

กระท้อนเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินบีและซี ซึ่งจะช่วยรักษาป้องกันอาการเลือดออกตามไรฟันได้ รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในกระท้อนยังช่วยป้องกันโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้วิตามินบีในกระท้อนก็ยังมีส่วนในการกระตุ้นการเผาผลาญของร่างกาย ช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้น และป้องกันความเสี่ยงโรคพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ได้

 

  1. ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน กระท้อนคือผลไม้ยอดคุณที่ไม่ควรพลาด เพราะไฟเบอร์ในกระท้อนยังเข้าไปช่วยชะลอการทำงานของระบบย่อยอาหาร ทำให้น้ำตาลที่มาจากอาหารถูกย่อยเป็นกลูโคสช้าลง และยับยั้งไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น อีกทั้งกระท้อนยังมีน้ำตาลต่ำ กินเข้าไปแล้วไม่กระทบกันระดับน้ำตาลของผู้ป่วยแน่นอน

 

  1. ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้

ด้วยปริมาณไฟเบอร์ที่สูงของกระท้อน จึงทำให้กระท้อนกลายเป็นอาหารอีกหนึ่งชนิดที่สามารถช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ เพราะไฟเบอร์ในกระท้อนนั้นจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย ทำให้ลำไส้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องห่วงว่าจะท้องผูก หรือเกิดภาวะลำไส้แปรปรวนจนเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้เลยล่ะ

 

  1. ตัวช่วยลดน้ำหนัก

หวานน้อยและไฟเบอร์มาก เป็นคุณสมบัติที่ดีของอาหารที่ควรรับประทานในช่วงลดน้ำหนัก และกระท้อนก็คือหนึ่งในนั้นค่ะ การรับประทานกระท้อนจะช่วยให้ได้รับไฟเบอร์มากขึ้น ทำให้อิ่มนาน และไม่หิวบ่อย ส่วนน้ำตาลที่อยู่ในกระท้อนก็ยังเป็นน้ำตาลจากธรรมชาติที่ร่างกายนำไปใช้ได้ทันทีอีกด้วย

 

  1. รักษาโรคผิวหนัง

นอกจากเป็นอาหารที่ถูกปากแล้ว กระท้อนก็ยังถือเป็นสมุนไพรอีกด้วย โดยใบของกระท้อนสามารถนำมาบดเพื่อรักษาโรคผิวหนังได้หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นโรคสะเก็ดเงิน ผื่น กลาก

 

สรรพคุณทางยาโบราณ

ผล

  •  กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง
  •  ให้พลังงาน ช่วยบำรุงร่างกาย
  •  เปลือกผลต้านเชื้อจุลินทรีย์ ต้านการอักเสบแผลในปาก
  •  กระตุ้นการหลั่งน้ำลาย ช่วยเจริญอาหาร และช่วยย่อยอาหาร
  •  มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดในเปลือกผลที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ลดการเกิดมะเร็ง ต้านการเสื่อมของเซลล์

ใบ

  •  ใบสดนำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยในการขับเหงื่อ
  •  น้ำต้ม ช่วยในการลดไข้ ลดอาการตัวสั่น
  •  นำใบมาต้มน้ำอาบ ช่วยแก้โรคผิวหนัง

ราก

  •  นำรากมาต้มน้ำดื่ม ช่วยในการดับพิษร้อน
  •  น้ำต้มช่วยในการขับลม
  •  ช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย

เปลือกลำต้น และแก่น

  •  เปลือกลำต้นนำมาต้มดื่ม แก้อาการท้องเสีย
  •  น้ำต้ม ช่วยแก้ปัสสาวะเล็ด
  •  น้ำต้มช่วยรักษาอาการคันตามผิวหนัง ด้วยการนำมาอาบ

 

คุณค่าทางโภชนาการของกระท้อนต่อ 100 กรัม 

  • โปรตีน 0.118 กรัม
  • ไขมัน 0.1 กรัม
  • ใยอาหาร 0.1 กรัม
  • ธาตุแคลเซียม 4.3 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 17.4 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 0.42 มิลลิกรัม
  • แคโรทีน 0.003 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี1 0.045 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี3 0.741 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 86.0 มิลลิกรัม

 

ข้อควรระวัง! ในการรับประทาน…กระท้อน

  • กระท้อน เป็นผลไม้ที่มีธาตุโพแทสเซียมสูง จึงไม่ค่อยเหมาะนักสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคไต เพราะผู้ป่วยบางรายอาจจะมีภาวะโพแทสเซียมสูงอยู่แล้ว จึงต้องควบคุมการรับประทานโพแทสเซียมเป็นพิเศษ และสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรคไตก็ไม่ควรประมาท เนื่องจากมีการตรวจพบว่ากระท้อนก็มีสารฟอกขาว (สารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์) ปนเปื้อนได้เช่นกัน ซึ่งหากได้รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากจะเกิดอาการอักเสบตามอวัยที่สัมผัส เช่น ปากและกระเพาะอาหาร รวมไปถึงมีอาการแน่นหน้าอก ปวดท้อง อาเจียนอีกด้วย
  • ควรรับประทานอย่างระมัดระวัง เนื่องจากกระท้อนเป็นผลไม้ที่มีเมล็ดขนาดใหญ่และลื่น อาจจะไหลติดคอจนทำให้หายใจไม่ออก หรือเมล็ดกระท้อนไหลเข้าสู่กระบวนการย่อยอาหาร เนื้อที่หุ้มเมล็ดกระท้อนหายไปจนเหลือแต่เมล็ดกระท้อนที่มีปลายแหลม ซึ่งอาจเข้าไปขูดลำไส้จนทะลุเป็นแผล และติดเชื้อทางกระแสโลหิต อาจทำให้เสียชีวิตได้

ควรรับประทานผลกระท้อนในปริมาณที่เหมาะสม หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้ท้องเสีย

 

แจกสูตร! กระท้อนทรงเครื่อง คลิก!

Summary
recipe image
Recipe Name
กระท้อนทรงเครื่อง
Author Name
Published On
Preparation Time
Cook Time
Total Time
Average Rating
2.51star1star1stargraygray Based on 20 Review(s)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.