เราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ดูแลสูงวัยที่ป่วยเรื้อรัง กำลังจะหมดไฟ!

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ดูแลสูงวัยที่ป่วยเรื้อรัง กำลังจะหมดไฟ!

ปัจจุบัน ความเจริญด้านการแพทย์ และเทคโนโลยี ทำให้คนเรามีอายุยืนมากขึ้น มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น อัตราการป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นนำมาซึ่งจำนวนผู้ป่วยสูงอายุที่ทุพพลภาพและต้องการการดูแลมากขึ้น หน้าที่ของการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ ส่วนใหญ่มักตกหนักที่สมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยเอง ซึ่งมักจะเป็นบทบาททางสังคมของผู้หญิง คนสูงอายุ หรือคนโสด ที่สมาชิกคนอื่นมักจะมอบหมายภาระนี้ให้

ภาระการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องพึ่งพาผู้ดูแลตลอดเวลานั้น เป็นงานที่เหน็ดเหนื่อย ใช้เวลามาก และก่อให้เกิดความตึงเครียดสูง อีกทั้งตัวผู้ดูแลเองก็อาจมีปัญหาของตนเองในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ ฐานะการเงิน และชีวิตส่วนตัวของตนเอง เมื่อเวลาผ่านไป ถ้าผู้ดูแลปราศจากความช่วยเหลือจากสมาชิกคนอื่นๆแล้ว ก็จะเกิดความเหนื่อยล้า (Caregiver burden) หรือถึงกับ หมดไฟในการดูแลไปเลย (Caregiver burnout)

เมื่อเกิดภาวะดังกล่าว ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการถูกทำร้าย หรือทอดทิ้งได้โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งถ้าบุคคลากรทางการแพทย์ไม่เข้าใจเรื่องราวโดยตลอด ก็มักจะกล่าวโทษผู้ดูแลว่า ‘ดูแลไม่ดี ไม่กตัญญู ใจร้าย ทำคนป่วยได้ลงคอ’ ซึ่งก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมความรู้สึกผิด และความรู้สึกเป็นภาระให้กับผู้ดูแลมากขึ้นไปอีก

ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเหนื่อยล้าของผู้ดูแล  ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้  

  • ระดับความรุนแรงของภาวะทุพพลภาพ และความสามารถในการช่วยเหลือตนเองของผู้ป่วย
  • ปัญหาสุขภาพของตัวผู้ดูแลเอง
  • แหล่งให้ความช่วยเหลืออื่นๆ
  • บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบด้านอื่นๆของผู้ดูแล

 

 รู้ได้อย่างไรว่าผู้ดูแลกำลังจะหมดไฟ

เป็นธรรมดาของผู้ดูแลหลักสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้สูงอายุทุพพลภาพ ที่อาจจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่ายได้ในบางเวลา แต่ถ้ามีความรู้สึกดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลานานหรือตลอดเวลา อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ผู้ดูแลคนนั้นกำลังต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งได้แก่สัญญาณต่อไปนี้

  • อยากจะหนีไปให้พ้นความรับผิดชอบที่ดูเหมือนทับถมกันมากขึ้นทุกที
  • รู้สึกเหมือนกำลังรับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่างอยู่เพียงคนเดียว
  • กิจวัตรประจำวันดูช่างยุ่งเหยิง และวุ่นวายสับสนไปหมด
  • ไม่มีเวลาได้ออกไปข้างนอก เข้าสังคม หรือทำธุระส่วนตัว
  • การกิน อยู่ หลับนอน ของผู้ดูแลเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
  • น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เบื่อหน่ายไปหมด
  • หงุดหงิด โกรธง่ายแม้กับสาเหตุเพียงเล็กน้อย
  • ไม่มีสมาธิจดจำสิ่งต่างๆ หลงลืมแม้แต่สิ่งสำคัญ
  • ใช้ยาหรือสารเสพติดมากกว่าเดิม เช่น ยานอนหลับ เหล้า บุหรี่

 แนวทางสำหรับผู้ดูแลที่กำลังจะเหนื่อยล้า

1.วางแผนการดูแลให้ดี อย่าให้เป็นภาระตกหนักที่ใครเพียงคนเดียวตลอดเวลา

2.ถ้าเป็นไปได้ อาจจ้างผู้อื่นให้มาทำหน้าที่ดูแลชั่วคราวเป็นครั้งๆ เพื่อให้ผู้ดูแลหลักมีเวลาพักผ่อนหรือทำธุระส่วนตัวบ้าง

3.แบ่งหน้าที่ด้านต่างๆให้ญาติพี่น้องคนอื่นได้มีส่วนรับผิดชอบร่วมกันบ้าง เช่นภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน การทำความสะอาดบ้าน หรือหน้าที่พาผู้ป่วยมาโรงพยาบาล

4.หาเวลาพักผ่อนไปทำกิจกรรมที่ตนเองชอบบ้างเพื่อผ่อนคลายความเครียด

5.พูดคุยพบปะสังสรรค์ เข้าสังคมบ้าง นอกจากบรรเทาความเครียดแล้วอาจได้รับคำแนะนำในการแก้ปัญหาของตนเองได้

6.ดูแลรักษาสุขภาพกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ

7.รู้จักปล่อยวางเสียบ้าง อย่าคาดหวังกับสิ่งรอบตัวสูงจนเกินไป เช่น อยากให้ผู้ป่วยหายขาดจนลุกมาเดินได้ กินเองได้ อยากให้ญาติทุกคนมาช่วยดูแลกันพร้อมหน้าตลอดเวลา

8.แบ่งเวลาให้กับบุคคลอันเป็นที่รักและบุคคลในครอบครัวของตนเองบ้าง แทนที่จะทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้ผู้ป่วยคนเดียว

9.สำหรับบางกรณี อาจจำเป็นต้องไปฝากผู้ป่วยไว้ในสถานพยาบาลบ้าง หากผู้ดูแลติดธุระหรือรู้สึกเกินกำลังแล้ว

 กำลังใจสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงวัย คือสิ่งสำคัญ

จริงอยู่ที่งานดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นงานที่ทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อยทั้งกายใจ และเป็นงานที่ยากที่สุดสำหรับสมาชิกในครอบครัว แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียเท่านั้น จริงๆแล้วความสุขใจจากหน้าที่นี้ก็มีอยู่ การที่สมาชิกในครอบครัวได้ดูแลบุคคลในครอบครัว นอกจากจะเป็นการแสดงความรักและความกตัญญูต่อกัน เมื่อบุคคลอันเป็นที่รักจากไป ผู้ดูแลเองจะได้ไม่จมอยู่กับความรู้สึกผิด เพราะได้ใช้เวลาอยู่กับผู้ป่วยอย่างคุ้มค่าและทำดีที่สุดแล้วในขณะที่ผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่

ในกรณีที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลไม่ได้มีความรัก ความผูกพันกันมาก่อน อาจถือว่าเป็นช่วงเวลาที่จะอโหสิกรรมและให้อภัยต่อกันในความผิดบาปในอดีต ความโกรธขึ้งจะได้ไม่ติดตัวผู้ดูแลต่อไปเมื่อผู้ป่วยจากไปแล้ว การให้โอกาสได้ดูแลกันในช่วงสุดท้ายของชีวิตถือเป็นบุญที่เขามอบให้เราก่อนจากกัน และการทำบุญใหญ่ก็ย่อมจะเหนื่อยเป็นธรรมดา

ที่มา: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

HOW TO SUPPORT รับมืออย่างไรเมื่อคู่ชีวิตป่วยหนัก

การดูแลผู้สูงวัย มีอะไรบ้างคือสิ่งที่ผู้ดูแลควรต้องรู้!

การดูแลผู้สูงวัย ความเข้าใจและความร่วมมือคือสิ่งสำคัญ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.