ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาว จริงหรือ?

โดยส่วนใหญ่โรคนี้ไม่ได้อันตรายร้ายแรงอันใดกับคนทั่วๆไป แต่ในผู้ป่วยบางกลุ่มเช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจวาย เบาหวาน โรคไตวาย ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น อาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนได้มาก เช่น เกิดปอดอักเสบติดเชื้อทั้งจากไวรัสไข้หวัดใหญ่เองหรือจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมา ในประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 20,000-50,000 รายทุกปี แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ถึง 10 รายต่อปี โดยส่วนใหญ่ผู้ที่เสียชีวิตมักเป็นผู้ป่วยสูงอายุ

วัณโรค

วัณโรคเป็นอีกโรคหนึ่งที่มักเกิดขึ้นเมื่ออายุมาก ซึ่งเชื้อวัณโรคจะเป็นเชื้อที่เคยได้รับมาก่อนแต่อาจนานหลายสิบปีแล้ว และซ่อนตัวอยู่อย่างสงบ เมื่อภูมิคุ้มกันลดลงจากอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะถ้ามีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น มีโรคเบาหวาน ขาดสารอาหาร โรคไต โรคมะเร็ง เป็นต้น จะยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอ และเชื้อโรคก็จะเอาชนะภูมิคุ้มกันและทำให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้น ส่วนใหญ่วัณโรคในผู้สูงอายุจะเกิดที่ปอด แต่อาจเกิดที่อวัยวะอื่นก็ได้ เช่น ที่ข้อสะโพก กระดูกสันหลัง เยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น

ผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นวัณโรคปอดอาจไม่ค่อยไอและไม่ค่อยมีเสมหะปนเลือด แต่มีอาการไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไอเล็กๆ น้อยๆ ถ้าเป็นที่ข้อ ก็จะมีอาการปวดบริเวณข้อเหล่านั้นด้วย ส่วนวัณโรคเยื่อหุ้มสมองจะมีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะและซึม การวินิจฉัยวัณโรคปอดด้วยภาพเอ็กซเรย์ โอกาสจะพบโพรงในปอดเหมือนคนหนุ่ม ๆ สาวๆ ไม่มากนัก ตำแหน่งของฝ้าในปอดอาจไม่เหมือนผู้ป่วยทั่วไป คือ อาจพบฝ้าที่ส่วนล่างของปอดก็ได้ การเก็บเสมหะตรวจแล้วพบเชื้อวัณโรคจะช่วยการวินิจฉัย แต่ส่วนใหญ่ทำได้ยากในผู้สูงอายุ เนื่องจากไอขับเสมหะออกมาไม่ได้ หรือซึมไม่รู้ตัวไม่สามารถไอเอาเสมหะออกมาได้ ในบางรายก็ต้องส่องกล้องไปในปอดเพื่อเอาเสมหะออกมาตรวจ การรักษาวัณโรคในผู้สูงอายุ อาจต้องระวังการเกิดตับอักเสบ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของยาที่รักษา โดยปกติจะมีการตรวจเลือดดูการทำงานของตับเป็นระยะ การรักษาโดยทั่วไปนาน 6 เดือนและผู้ป่วยอาจได้รับวิตะมินบี 6 เสริมด้วยเพื่อป้องกันเส้นประสาทอักเสบจากยา ซึ่งมักเกิดในผู้สูงอายุที่มีโรคเบาหวาน ดื่มเหล้าหรือมีการขาดสารอาหารด้วย

การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

ผู้สูงอายุมีโอกาสติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้สูงและจัดเป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุดและเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดของการเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดในผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุชายมีโอกาสเกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะสูงขึ้นมากซึ่งต่างจากคนอายุน้อยที่ผู้ชายแทบจะไม่เกิดการติดเชื้อนี้เลย นอกจากนั้นเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อก็มีโอกาสเกิดจากเชื้อโรคหลากหลายมากขึ้น

อาการของโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะขึ้นกับว่าติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะระดับไหน ถ้าติดเชื้อแค่ในกระเพาะปัสสาวะ อาจมีอาการปัสสาวะแสบขัด ขุ่น ปัสสาวะบ่อยขึ้น แต่ถ้าติดเชื้อที่กรวยไต จะมีไข้ ปวดหลังร่วมด้วย ซึ่งต้องรับการรักษาด้วยยาฉีดปฏิชีวนะในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสูงอายุจำนวนมาก อาจมีอาการที่ไม่จำเพาะกับการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เช่น ซึม สับสน เบื่ออาหาร กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หกล้ม เป็นต้น

วิธีการง่ายๆ ในการดูแลตัวเองสำหรับผู้สูงอายุ คือพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดหรือเริ่มมีอาการไข้หวัด ควรล้างมือสม่ำเสมอเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย การดูแลตัวเองให้แข็งแรง โดยทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังเป็นประจำ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคติดเชื้อต่างๆ ได้อีกทางหนึ่งค่ะ

ที่มา: ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

“สังคมผู้สูงวัย” เข้าใกล้มาทุกที แล้วแบบนี้เราควรตั้งมือรับอย่างไร?

HOW TO SUPPORT รับมืออย่างไรเมื่อคู่ชีวิตป่วยหนัก

เรียนรู้เรื่อง “มะเร็ง” ในผู้สูงวัยพร้อมสาเหตุและอาการที่เราควรรู้

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.