“สังคมผู้สูงวัย” เข้าใกล้มาทุกที แล้วแบบนี้เราควรตั้งมือรับอย่างไร?

“สังคมผู้สูงวัย” เข้าใกล้มาทุกที แล้วแบบนี้เราควรตั้งมือรับอย่างไร?

จากแนวโน้มประชากรโลกในอนาคตอันใกล้ จะมีจำนวนผู้สูงอายุ มากกว่าช่วงวัยอื่นๆ ที่สำคัญ ประเทศพัฒนาแล้วหลายๆประเทศก็ก้าวสู่สังคมสูงวัยกันแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สวีเดน อิตาลี และเยอรมัน ส่วนประเทศไทยก็ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วตั้งเเต่ปี พ.ศ. 2548 และกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2564

จึงเป็นสิ่งที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามช่วยกันอย่างแข็งขันทั้งการสร้างสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆ สวัสดิการที่รองรับทุกความต้องการ และที่สำคัญคือความเข้าใจของทุกคน ที่พร้อมใจกันก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุไปพร้อมๆ กัน

“สังคมสูงอายุ” หรือ (Aged Society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด ปัจจุบันมีจำนวนประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วประมาณ 52 ประเทศทั่วโลก โดยจำนวนประเทศดังกล่าวอาจจะยังเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบไม่สมบูรณ์ ซึ่งตัวเลขประเทศที่เข้าคือจำนวนประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์จริงๆ อยู่ที่ประมาณ 45 ประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนีเนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์สหรัฐอเมริกา สวีเดน อิตาลี และสหราชอาณาจักร

“สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” (Completed aged Society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ20 ของประชากรทั้งหมดจำนวนประชากรผู้สูงอายุ ทั่วโลกที่มีอายุ 65 ขึ้นไปจากการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2593 และจำนวนผู้สูงอายุจะมากถึง 1 ใน 5 ของประชากรโลกที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ภายในปีพ.ศ. 2593 จากการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ

โดยสัดส่วนของประชากรสูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่ประชากรในประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยมากที่สุดถึง 33.1เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ อายุ 82 ปี ยังเป็นอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวมากที่สุดในโลก ซึ่งมาจากประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

ปี 2583 คือปีที่ทุกประเทศในอาเซียนจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์จากการคาดการณ์ของสหประชาชาติ และมีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป 17 ล้านคนภายในปี พ.ศ.2583 อีกด้วยเช่นกัน

การเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงวัย จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมใน ๔ ด้าน คือ

คณะอนุกรรมาธิการกิจการผู้สูงอายุ ในคณะกรรมาธิการการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้แนะนำการเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงวัย จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมใน 4 ด้าน ดังนี้ คือ

 ด้านสังคม

ประชาชนภายในประเทศควรเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยตนเอง โดยการเรียนรู้เพื่อให้ตนเองมีการทำงานที่ดี เพื่อสังคม เพื่อความสุข โดยเฉพาะการเรียนรู้และนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งประกอบด้วย ๓ ห่วง คือ ความพอเพียง ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกัน และ ๒ เงื่อนไข คือ ความรอบรู้ รอบคอบ และการมีคุณธรรม นอกจากนี้ รัฐบาลควรสร้างระบบที่รองรับผู้สูงอายุได้จากทุกภาคส่วน

 ด้านเศรษฐกิจ

มีความรู้และมีอาชีพที่ดี มีการบริหารการใช้จ่าย เศรษฐกิจพอเพียงใช้เงินอย่างคุ้มค่า แบ่งเป็นเงินออม 10-20 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ นำเงินไปลงทุน ใช้เงินทำงานแทนอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านสุขภาพ

สมรรถภาพร่างกายจะเสื่อมลงตามอายุ การเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากโรคไม่ติดต่อหรือโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต โดยมีสาเหตุใหญ่ ๆ 4 กลุ่ม คือ โรคหลอดเลือดสมอง/โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง โรคปอดและโรคเบาหวาน ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อหรือโรคเรื้อรังเป็นอันดับที่ 1  และมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ประชาชนจึงควรหันมาดูแลสุขภาพของตนเอง ทั้งในด้านของการรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์

พร้อมทั้งออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยเพื่อลดการเกิดโรคให้แก่ตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องควบคุมร่างกายไม่ให้มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน เนื่องจากความอ้วนจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน เบาหวาน ตับอักเสบจากไขมันในตับ

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังควรดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง ด้วยการไปตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี ควรตรวจสุขภาพดวงตาทุกปีตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ในเพศหญิงควรไปตรวจภายในเป็นระยะเมื่อเริ่มมีเพศสัมพันธ์ ตรวจเต้านมตัวเองทุกเดือน พบแพทย์ทุกปี ในเพศชายควรตรวจต่อมลูกหมากเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป ที่สำคัญทั้งชายและหญิงเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองหามะเร็งลำไส้ใหญ่ และควรฉีดวัคซีนป้องกันทุกโรคและฉีดเป็นระยะตามแพทย์แนะนำ

ด้านสภาพแวดล้อมและการบริการสาธารณะ

ควรมีระบบรองรับผู้สูงอายุ โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม อาทิ มีสถานที่พักสำหรับผู้ติดสังคม ผู้ติดบ้าน ผู้ติดเตียง มีแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ

ผู้เขียนคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความที่นำเสนอนี้จะก่อให้เกิดความรู้และเสริมสร้างให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเกิดแรงบันดาลใจในการเตรียมความพร้อมก่อนจะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ รวมทั้งสามารถดูแลตนเองได้เป็นอย่างดี มีคุณภาพและมีความสุข

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

เรียนรู้การอยู่กับโรคชรา อยู่อย่างมีคุณค่าและมีความสุขในบั้นปลายชีวิต!

เคล็ดลับสูงวัย! ทำอย่างไรไม่ให้ร่างกายนำหน้าอายุจริงของเรา

แชร์เทคนิค “แก่” แบบมีคุณภาพ ด้วยการทำให้สุขภาพกาย ใจ และเงิน ดี!

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.