จัดบ้านอย่างไรให้ผู้ป่วยพาร์กินสัน อยู่ร่วมกับเราได้อย่างมีความสุข!

ทุกวันนี้ทั้งในไทยและทั่วโลกพบจำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease :PD) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องค่ะ และแม้จะพบว่าผู้ป่วยมีอายุลดลงเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างไรโรคพาร์กินสันเกินร้อยละ 90 ยังคงเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุ และอาการทางกายจากโรคก็รบกวนการใช้ชีวิตไม่น้อยทีเดียว

หลายคนเมื่อป่วยมากขึ้นก็ดูแลตัวเองได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ยังคงต้องการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง วันนี้เราจึงอยากแนะนำวิธีการจัดบ้านเพื่อให้ผู้ป่วยพาร์กินสันซึ่งเป็นพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายายที่เรารักยังคงใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้อย่างปลอดภัยเท่าที่อาการของโรคจะอำนวยกันค่ะ

ILLNESS & CONDITION

ข้อจำกัดทางกายจากโรคพาร์กินสัน

ก่อนจะเริ่มลงมือจัดบ้านให้ปลอดภัยสำหรับคนที่เรารักซึ่งป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันสักหน่อยค่ะ

จากบทความของศาสตราจารย์นายแพทย์นิพนธ์ พวงวรินทร์ จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า โรคนี้เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ภาวะสมองเสื่อมสภาพ หลอดเลือดสมองอุดตัน ภาวะสมองอักเสบ โรคทางพันธุกรรมบางกลุ่ม หรือมีเหตุที่ทำให้สมองขาดออกซิเจน เช่น จมน้ำ สิ่งแปลกปลอมอุดตันทางเดินหายใจ ถูกทำร้าย หรือประสบอุบัติเหตุกระทบกระเทือนสมอง นอกจากนี้อาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิดอย่างต่อเนื่อง หรือได้รับสารพิษที่ทำลายสมอง โดยปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้เซลล์สมองสร้างสารโดปามีนซึ่งมีความสำคัญต่อการสั่งการการเคลื่อนไหวร่างกายได้ลดลง

โรคนี้เมื่อเป็นแล้วมีข้อจำกัดทางร่างกายที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตในหลายระดับ ทั้งจากอายุของผู้ป่วย ระยะเวลาที่ป่วย และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล แต่ส่วนใหญ่มีอาการหลักคล้ายคลึงกันค่ะ

กว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยพาร์กินสันเริ่มต้นจาก อาการสั่น โดยเมื่ออยู่นิ่งจะมีอาการมาก แต่หากเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมอาการสั่นก็จะลดลง หรือหายไป โดยมากพบอาการสั่นที่มือ และเท้า นอกจากนี้ยังพบ อาการเกร็ง โดยผู้ป่วยมักรู้สึกปวดกล้ามเนื้อแขน ขา และลำตัว ทั้งที่ไม่ได้เคลื่อนไหวหรือทำงานหนัก ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวช้า ขาดความกระฉับกระเฉง และมีท่าเดินผิดปกติ

โดยผู้ป่วยจะมีท่าเดินเฉพาะโรค คือ ก้าวเดินสั้นๆ แบบซอยเท้าในช่วงแรก และก้าวยาวขึ้นเรื่อยๆ จนเร็วมาก และหยุดไม่ได้ทันที ทำให้มีโอกาสหกล้มหน้าคว่ำสูง อีกทั้งบางรายมีอาการเดินหลังค่อม แขนไม่แกว่ง เดินแข็งทื่อเป็นหุ่นยนต์

นอกจากนี้ผู้ป่วยมักไม่แสดงอารมณ์ผ่านสีหน้า และเสียงพูด น้ำหนักเสียงเบาและเครือ ฟังไม่ชัด หากพูดต่อเนื่องนานเสียงมักค่อยๆ หายไปในลำคอ และประสบปัญหาในการเขียน เนื่องจากสายตาและมือทำงานไม่สอดคล้องกัน และตัวหนังสือจะค่อยๆ เล็กลงจนอ่านแทบไม่ออก รวมถึงมักมีอาการแทรกซ้อนเช่น ท้องผูก ปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลียง่าย ทำให้การใช้ชีวิตไม่ราบรื่นและท้อแท้ ซึมเศร้าตามมาได้

ทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นคนที่เรารักกลับมามีความสุขได้ คือการทำให้เขาใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้อย่างสะดวกเท่าที่ทำได้ แม้จะไม่ทุกอย่างก็ตาม …ที่สำคัญ ต้องปลอดภัยด้วย

จัดบ้านปลอดภัย ใช้ชีวิตแฮปปี้             

เรามีคำแนะนำในการปรับส่วนต่างๆ ของบ้านเพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตของผู้ป่วยพาร์กินสัน ดังนี้ค่ะ

1.สายด่วนฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์มือถือ ต้องอยู่ในตำแหน่งที่หยิบง่าย เปิดลำโพงและไมโครโฟนได้ง่าย ในกรณีที่ถือหูฟังไม่สะดวก และที่สำคัญ มีปุ่มฉุกเฉินที่ต่อตรงถึงลูกหลานที่ดูแล หรือหน่วยฉุกเฉินต่างๆ

2.ระบบป้องกันไฟไหม้ โดยควรติดตั้งระบบตรวจจับควัน หรือคาร์บอนมอนอกไซด์ในทุกชั้นของบ้าน และควรตรวจตราให้ระบบยังคงทำงานเป็นปกติอยู่เสมอ

>>อ่านต่อหน้าถัดไป<< 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.