เคล็ดลับสูงวัย! ทำอย่างไรไม่ให้ร่างกายนำหน้าอายุจริงของเรา

วันคืนที่ล่วงเลยผ่านไปแต่ละวัน แต่ละเดือน ไปจนพ้นไปแต่ละปี ตอกย้ำให้เรารู้สึกว่าวันเวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว และหลายคนอาจคิดว่าอายุที่มากขึ้นฟ้องว่าตัวเองกำลังแก่ชราลงไปทุกขณะ และคนส่วนใหญ่ก็มักจะหนีสิ่งหนึ่งไม่พ้น ที่รวมแล้วเรียกว่า “โรคชรา” นั่นก็คือโรคต่างๆ ที่คนซึ่งเข้าสู่ช่วงสูงวัยมักจะเป็นกัน ไม่ค่อยจะหนีพ้นโรคเหล่านี้ไปได้ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมแห่งวัย

มีผลการวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐฯ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine กลับชี้ว่า ความชราของมนุษย์ไม่ได้เป็นกระบวนการที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวันอย่างที่เคยเข้าใจกัน แต่ร่างกายจะมีวาระที่เกิดการทรุดโทรมเสื่อมถอยในระดับเซลล์ครั้งใหญ่รวม 3 ครั้งด้วยกันในชีวิต

ทีมนักชีววิทยาที่ศึกษาเจาะลึกเรื่องความชราภาพของ ม.สแตนฟอร์ดพบว่า ระดับปริมาณของโปรตีนหลายพันชนิดในเลือด หรือที่เรียกว่าโปรทีโอม (proteome) สามารถจะใช้ทำนายอายุที่แท้จริง และระดับความแก่ชราที่เกิดขึ้นจริงกับอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของคนเราได้ ซึ่งทำให้พบว่าความชรานั้นไม่ได้เกิดขึ้นในอัตราเร็วเดียวกันตลอดทั้งชีวิต

การวิเคราะห์ผลตรวจน้ำเลือดหรือพลาสมาจากกลุ่มตัวอย่าง 4,263 คน ซึ่งอยู่ในวัย 18-95 ปี โดยดูถึงระดับปริมาณของโปรตีนกว่า 3,000 ชนิดในน้ำเลือดดังกล่าว และพบว่ามีโปรตีนในจำนวนนี้ 1,379 ชนิด หรือราว 1 ใน 3 ที่ปริมาณเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามวัย

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เกิดความเปลี่ยนแปลงของโปรตีนครั้งใหญ่นี้ ขณะถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นเมื่อมีอายุได้ 34 ปี และเกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกสองครั้งเมื่อถึงวัยกลางคนตอนปลายคือ 60 ปี และในวัยชราเมื่อมีอายุ 78 ปี

ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้ร่างกายเกิดความชราอย่างไม่ต่อเนื่องเช่นนี้ แต่สิ่งที่พวกเขาค้นพบอาจนำไปประยุกต์ใช้ได้ทางการแพทย์ โดยช่วยให้เข้าใจถึงกลไกการเกิดโรคที่เกี่ยวกับความชรา เช่นโรคอัลไซเมอร์รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและรักษา

นอกจากนี้ การตรวจโปรตีนในเลือดยังทำให้ทราบถึงความแข็งแรงหรืออ่อนแอที่แท้จริงของสุขภาพร่างกายได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และแพทย์ยังสามารถเตือนให้คนไข้ทราบได้ด้วยว่า อวัยวะส่วนใดยังอ่อนเยาว์หรือมีความชราต่างไปจากอายุที่คิดจากปีเกิดบ้าง เช่นปริมาณของไลโปโปรตีน (lipoproteins) หลายชนิด สามารถบ่งบอกถึงสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี

ทีมผู้วิจัยกำลังพัฒนาเครื่องมือสำหรับใช้ตรวจโปรตีนในเลือดราว 373 ชนิด ซึ่งจะบ่งบอกถึงอายุที่แท้จริงของคนเราได้อย่างแม่นยำและสะดวกรวดเร็ว ซึ่งน่าจะทำได้สำเร็จภายใน 3 ปีข้างหน้านี้ และจะพร้อมใช้งานในระดับคลินิกภายในอีก 5-10 ปี

เมื่อรู้แบบนี้แล้ว หลายคนอาจจะเกิดความกังวลว่า แล้วแบบนี้เราจะทำอย่างไร เพราะถึงแม้จะดูแลตัวเองอย่างไรก็ต้องเสื่อมลงอยู่ดี แบบนี้ก็ไม่แฟร์ใช่มั้ยคะ เอาเป็นว่าเราได้รวบรวมเคล็ดลับดูแลสุขภาพเพื่อทวงคืนอายุของร่างกายให้ดูอ่อนวัยหรืออย่างน้อยให้สมกับวัยจริงมาฝากทุกคนค่ะ

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า อายุร่างกายBody Age คือตัวเลขที่บอกอายุของร่างกาย ซึ่งเป็นผลจากสภาวะองค์ประกอบของร่างกายและพฤติกรรมการกินอยู่ โดยค่าที่เหมาะสมควรน้อยกว่าหรือเท่ากับอายุจริง หากอายุร่างกายมากกว่าอายุจริงแสดงว่าระบบเผาผลาญของร่างกายเสื่อมสภาพและเซลล์ต่างๆ แก่เกินวัย อันเป็นผลมาจากองค์ประกอบร่างกายและพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม และอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรคชราต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัลไซเมอร์

ย้อนอายุร่างกายด้วย 3 อ.

มีเคล็ดลับง่ายๆ ที่นักโภชนาการและอายุรแพทย์แนะนำตรงกัน เพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรค และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขสดชื่นตามวัยได้มากที่สุดก็คือ หลัก 3 อ. ที่คุณสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง คือ ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพยายามทำอารมณ์ให้สดใสมีความสุขในทุกๆ วัน

ไม่อยากตายให้ลดอ้วน

ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ อย่าง อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ เคยกล่าวไว้ว่า วิถีชีวิตที่เร่งรีบของผู้คนทุกวันนี้ ทำให้เรามีพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งมีพฤติกรรมบั่นทอนสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ อาหารไขมันสูง เค็มจัด หวานจัด ส่งผลให้ทุกวันนี้ 1 ใน 3 ของชาวไทยวัยผู้ใหญ่มีน้ำหนักเกินและภายในเวลา 4 ปีที่ผ่านมาคือตั้งแต่ปี 2551-2555 พบว่า ในกลุ่มผู้มีอายุ 20-29 ปี มีจำนวนผู้ที่มีน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่จะมุ่งให้ความสนใจใส่ใจกับการออกกำลังกายเป็นหลัก โดยลืมไปว่าเรื่องอาหารการกินเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลสุขภาพที่เราควรให้ความสนใจเป็นอันดับแรก เรากินอะไรก็มักได้อย่างนั้น Your are what you eat นั่นเป็นเรื่องจริงบ่อยครั้งที่เราขุดหลุมฝังตัวเองด้วยปากและอาหารที่เรากินเข้าไปอย่างไม่ยั้งคิด แนวทางการดูแลสุขภาพส่วนมากมักจะเริ่มต้นที่การดูแลโภชนาการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของสุขภาพที่ดีและการป้องกันปัญหาสุขภาพทั่วไปในชีวิตประจำวัน

เมื่อผู้บริโภคได้รับการตรวจเช็กอายุร่างกายเบื้องต้นด้วยตัวเอง ก็คือ ดูที่น้ำหนักและรอบตัวให้มีส่วนสัมพันธ์กัน ด้วยการดูดัชนีมวลกาย คำนวณจากน้ำหนักและส่วนสูง คือ เอาน้ำหนักหารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง ถ้าดัชนีอยู่ที่ระดับ 18.5-22.9 กำลังดี แต่ถ้าเกินกว่านี้จะเริ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ถ้าเกิน 25 จะเริ่มเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง นอกจากนั้น ก็ควรดูรอบเอวหากเป็นผู้หญิงไม่ควรเกิน 32 นิ้ว ผู้ชายไม่ควรเกิน 36 นิ้ว เนื่องจากน้ำหนักตัวและรอบเอวที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคชราต่างๆ เช่น เบาหวาน หลอดเลือดและหัวใจ ถ้าจะให้ละเอียดกว่านั้นต้องไปวัดอัตราเผาผลาญ ความหนาแน่นของมวลกระดูก องค์ประกอบต่างๆ ของร่างกาย พฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ

แล้วหลายคนอาจจะพบว่าร่างกายของตัวเองมีอายุเกินจริงไปมาก จึงหวังว่าทุกคนจะหันมาเริ่มต้นดูแลสุขภาพของตนเองอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นง่ายๆ ที่การใส่ใจในอาหารที่เลือกรับประทานในทุกๆ วัน

เขายังให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่ออายุร่างกาย มี 2 ประการใหญ่ๆ องค์ประกอบของร่างกาย ได้แก่ อัตราการเผาผลาญของร่างกาย น้ำหนักตัว ไขมันในร่างกาย และกล้ามเนื้อโครงร่าง อีกประการ คือพฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ ที่ต้องดูแลไปพร้อมๆ กัน

กินต้านแก่

นอกจากการเลือกกินอาหารให้หลากหลาย กินผักสดและผลไม้ให้มากขึ้น กินอาหารที่ผ่านการแปรรูปให้น้อยที่สุด รวมทั้งนำหลักการการแพทย์เชิงป้องกันมาใช้ในการดำเนินชีวิต ปัจจุบันคนยุคใหม่ที่รักสุขภาพจริงๆ คงคุ้นชินกับหลักการ “การแพทย์เชิงป้องกัน” ซึ่งหนึ่งในหลักการเหล่านั้นยังหมายรวมถึงการแพทย์ที่เรียกกันว่า “อายุรวัฒน์” ที่เน้นเรื่องของการดูแลร่างกายมิให้ก่อโรค หรือเสื่อมก่อนวัยอันควร โดยหลักสำคัญของการแพทย์อายุรวัฒน์นี้คือ เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ป้องกันโรคที่เกิดจากความชราหรือความเสื่อมของร่างกาย เน้นการแพทย์แบบองค์รวม ดูแลผู้ป่วยทั้งร่างกายและจิตใจไม่แยกส่วนเป็นอวัยวะต่างๆ ใช้หลักผสมผสานการรักษาโดยหลักที่ว่าสภาพร่างกายของแต่ละคนมีความจำเพาะต่างกัน

วิธีการรักษาจะต้องปรับให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ เห็นได้ว่าหลักการสำคัญข้อแรกของการแพทย์แขนงนี้ คือ การเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ซึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่องของการกินอาหาร การออกกำลังกาย และการดูแลจิตใจให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอาหารนั้นจำเป็นต้องกินอย่างมีหลักการ เพราะว่าอาหารถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย ซึ่งการกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ ไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วเท่านั้น หากยังช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้อีกด้วย(ข้อมูลจาก: นพ.พรพจน์ เปรมโยธิน แพทย์ด้านอายุรศาสตร์ ศิริราชพยาบาล)

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าความแก่เราจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องรับมือให้ได้ หรือว่าจะทำอย่างไรให้สูงวัยอย่างดูดี สดใสแข็งแรง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมและอาหารที่จะทำให้กินแล้วแก่ง่าย อย่ากินเข้าไปโดยไม่จำเป็นเพื่อให้ความอ่อนวัยอยู่กับเราไปให้นานที่สุด เพราะหากดูแลเรื่องอาหารการกิน และจิตใจให้ดี อายุก็เป็นเพียงตัวเลข แต่ความสดใสดูดียังอยู่กับเราได้ไปอีกนานค่ะ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

เมื่อเวลาผ่านไประบบต่างๆ ย่อมเสื่อมลงตามกาลเวลา!

อาการท้องอืด ท้องเฟ้อของผู้สูงวัย อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็ก!

ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงวัย สิ่งที่ผู้ดูแลต้องรู้ไว้ก่อนสายเกินแก้!

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.