สูงวัยต้องรู้ไว้ กับเรื่องราวของสรีรศาสตร์และสุขภาพทุกแง่มุม!

ความแก่ชราเป็นสิ่งที่ค่อยๆ มาทีละนิดๆ จะมาช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับการดูแลร่างกายของเรา แต่ยังไงความแก่ชราก็ต้องมาถึงสักวันเพราะสภาพร่างกายของคนเรานานวันเข้าก็ย่อมเสื่อมถอย อะไรๆ ก็คงไม่ดีเหมือนสมัยยังหนุ่มสาว ฉะนั้นการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงและเตรียมความพร้อมรับความชราแต่เนิ่นๆ ย่อมเป็นหนทางที่ดีสำหรับเราทุกคน เพื่อที่ถึงวันที่แก่ตัวไปจริงๆ จะได้ไม่ต้องลำบาก เพราะกระบวนการชราภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย

แต่อย่างไรเสียแน่นอนว่าก็คงไม่มีใครที่จะอยากทำตัวเองให้แก่ไปตามอายุ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากที่จะมีร่างกายที่กระฉับกระเฉง แข็งแรงเหมือนตอนยังหนุ่มสาว และสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงได้นั่นแน่นอนว่าก็คือ การออกกำลังกายที่ถูกต้องและเหมาะสมนั่นเองค่ะ แต่ทว่าหลายคนยังติดอุปสรรคนั่นนี่ต่างๆ นานา โดยเฉพาะความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการออกกำลังกายสำหรับคนวัยนี้

วันนี้เพื่อเป็นการแถลงไข บอกเหตุผลเรื่องสรีรศาสตร์และสุขภาพทุกแง่มุมชีวจิต ขอนำเสนอเรื่องราวนี้เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบอวัยวะในร่างกายกันค่ะ แล้วไปดูกันว่าทำอย่างไรเราจะยังฟิตได้เหมือนตอนวัยหนุ่มสาว

กระดูกยิ่งแน่นยิ่งดี

คุณหมอวอนด้า ไรท์ ผู้เขียนหนังสือ Fitness After 40 เล่าว่า อดีตนักกีฬาโอลิมปิกสามารถคงความหนาแน่นของกระดูกเอาไว้ได้ ขณะที่มีคนอเมริกันถึง 2 ล้านคน มีภาวะกระดูกพรุน ซึ่งทำให้เปราะแตกง่าย ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้

เมื่อเราอายุเพิ่มขึ้น หลังอายุ 40 ปี ผู้หญิงจะสูญเสียความหนาแน่นของกระดูกเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ชาย และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3 หลังจากหมดประจำเดือน ซึ่งจากผลการวิจัย หากกระดูกได้รับแรงกดหรือน้ำหนักบ้างมันจะแข็งแรงขึ้น นักกีฬาเคยใช้แรงหนักๆ เช่น วิ่ง กระโดด จะรักษาความหนาแน่นของกระดูกได้ดีกว่าเมื่ออายุเพิ่มขึ้น

หัวใจลำเลียงออกซิเจนดีแค่ไหน

หัวใจมีหน้าที่คือ ปรับระดับความดันโลหิต ช่วยการไหลเวียนโลหิต และส่งเลือดพร้อมทั้งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เมื่ออายุเพิ่มขึ้น หัวใจจะลดประสิทธิภาพการทำงานลง ถึงแม้ไม่ป่วยด้วยโรคหัวใจเลยก็ตาม เพราะหลอดเลือดด้านซ้ายของหัวใจจะหนาขึ้น ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นขณะปั๊มเลือดออกจากหัวใจ ทำให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะมีความดันโลหิตสูงขึ้นตามธรรมชาติ

นอกจากนี้เพราระวัยที่สูงขึ้น หัวใจจะตอบสนองต่อการสั่งงานของสมองช้าลง ทำให้ร่างกายออกกำลังกายได้น้อยกว่าที่เคยทำได้สมัยที่อายุยังน้อย เห็นได้ชัดจากการที่คุณหายใจสั้นลง ซึ่งหมายความว่าออกซิเจนในเลือดถูกส่งไปเลี้ยงร่างกายได้ช้าลงนั่นเอง

งานวิจัยพบว่า หัวใจของผู้สูงอายุ วัย 70 ปี ที่สุขภาพแข็งแรงจะมีเซลล์หัวใจน้อยกว่าคนอายุ 20 ปี ร้อยละ 20 และเพื่อให้การทำงานยังดำเนินไปได้ เซลล์ที่เหลืออยู่จึงขยายใหญ่ขึ้นร้อยละ 40

อย่างไรก็ตาม คุณหมอวอนด้ากล่าวว่า การรักษาประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจด้วยการควบคุมความดันโลหิต อารมณ์ อาหาร และออกกำลังกาย คือวิธีที่ดีที่สุด แม้ว่าจะเริ่มต้นหลังจากอายุ 40 ไปแล้วก็ตาม ซึ่งพบในงานวิจัยว่า การฝึกฝนร่างกายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนและสูบฉีดโลหิตนั้น ช่วยสุขภาพหัวใจได้ดีที่สุด แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอ ความอึด และอัตราการลำเลียงออกซิเจน โดยพบว่า การออกกำลังกายที่ช่วยให้มีคุณสมบัติดังกล่าวคือ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก

กล้ามเนื้อยิ่งมากยิ่งดี

เมื่ออายุมากขึ้น เราจะสูญเสียเซลล์กล้ามเนื้อไป ขนาดกล้ามเนื้อจึงเล็กลงและหดลง โดยคนเราจะสูญเสียกล้ามเนื้อลีนเมื่อเข้าสู่วัย 50 ปี และสูญเสียถึงร้อยละ 50 เมื่ออายุ 80 ปี คนที่นั่งๆ นอนๆ จะสูญเสียกล้ามเนื้อลีนปีละร้อยละ 10 ตั้งแต่อายุ 50 ปี และปีละ ร้อยละ 30 หลังจากอายุ 70 ปี

>>อ่านต่อหน้าถัดไป<< 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.