“ข้อเข่าเสื่อม” ในผู้สูงวัย ทำอย่างไรให้เกิดภาวะนี้ช้าลง

 ยิ่งนับวันจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น และไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายเมื่อวัยที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้สูงอายุหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ร่างกายที่เสื่อมลง ทำให้มีโรคมากมายตามมา โดยโรคที่พบบ่อยอีกโรคหนึ่งก็คือ “โรคข้อเข่าเสื่อม” ซึ่งลูกๆ หลานๆ ควรดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อเป็นแล้วสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้สูงอายุที่เรารักมากๆ เลยล่ะค่ะ

ภาวะข้อเข่าเสื่อมเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน ประเทศไทยพบผู้ป่วยมากกว่า 6 ล้านคน ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปพบได้ถึงร้อยละ 50 สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากน้้าหนักตัวที่มากใช้เข่ามาก อาจใช้นานกว่าปกติ หรือผิดท่า ผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมมากๆ จะมีอาการเจ็บหรือปวด ข้อเข่าผิดรูปข้อฝืด หรือข้อติด เดินได้ไม่ปกติ การปฏิบัติภารกิจประจ้าวันต่างๆ ท้าได้ไม่สะดวก ส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

เรามาทำการเรียนรู้และศึกษาเรื่องข้อเข่าเสื่อมไปพร้อมๆ กันดีกว่าค่ะ เพื่อเป็นแนวทางให้เกิดความรู้ ความเข้าใจถึงภาวะและการด้าเนินของโรค การดูแลตนเองเพื่อให้เกิดภาวะนี้ช้าลง

โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ พบมากในวัยกลางคน และผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมมาก ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม โรคนี้ก็จะเป็นมากขึ้นไปเรื่อยๆ อาจทำให้มีความเจ็บปวด ข้อเข่าผิดรูป เดินได้ไม่ปกติ การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันต่างๆ ก็ทำได้ไม่สะดวก มีความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ หากผู้สูงอายุคนไหนเริ่มมีอาการข้อเข่าเสื่อมมีความรู้ สามารถดูแลตนเองเพื่อชะลอความเสื่อม หรือบรรเทาอาการของข้อเข่าเสื่อม ก็จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาวค่ะ

อาการ และอาการแสดงของโรคข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ มักพบบ่อยในผู้ที่อายุเกิน 60 ปี พบมากในผู้หญิงและผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก มักเป็นทั้ง 2 ข้าง พบว่า เมื่อข้อเข่าข้างหนึ่งเริ่มเสื่อมแล้ว จะมีข้อเข่าอีกข้างเสื่อมอีกในอีกไม่กี่ปีต่อมา อาการในระยะแรก จะเริ่มจากปวดเข่าเวลามีการเคลื่อนไหวเช่น เดิน ขึ้นลงบันได หรือนั่งพับเข่า อาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดพักการใช้ข้อ ร่วมกับมีอาการข้อฝืดขัดโดยเฉพาะเมื่อหยุดการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน เมื่อขยับข้อจะรู้สึกถึงการเสียดสีของกระดูกหรือมีเสียงดังในข้อ

เมื่อมีภาวะข้อเสื่อมรุนแรง อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้น บางครั้งปวดเวลากลางคืน อาจคลำส่วนกระดูกงอกได้บริเวณด้านข้างข้อ เมื่อเกร็งกล้ามเนื้อต้นขาเต็มที่จะมีอาการปวดหรือเสียวบริเวณกระดูกสะบ้า หากมีการอักเสบจะมีข้อบวมร้อน และตรวจพบน้ำในช่องข้อ ถ้ามีข้อเสื่อมมานานจะพบว่า เหยียดหรืองอข้อเข่าได้ไม่ค่อยสุด กล้ามเนื้อต้นขาลีบ ข้อเข่าโก่ง หลวม หรือบิดเบี้ยวผิดรูป ทำให้เดินและใช้ชีวิตประจำวันลำบาก และมีอาการปวดเวลาเดินหรือขยับ

จะดูแลตนเองเพื่อถนอมข้อ เมื่อเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้อย่างไร

การปรับเปลี่ยนอิริยาบถและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมในชีวิตประจำวันเพื่อไม่ให้ข้อเสื่อมมากขึ้นและยืดอายุการใช้งานของข้อให้ยาวนานที่สุด การนั่งควรนั่งบนเก้าอี้ ควรมีที่รองแขนเพื่อช่วยในการพยุงตัวลุกขึ้นยืนได้สะดวก ไม่ควรนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ หรือนั่งราบบนพื้น เพราะท่านั่งดังกล่าวจะทำให้ผิวข้อเข่าเสียดสีกันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสื่อมเร็วขึ้น

หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนนิ่งๆ นานๆ เพราะการที่ข้อเข่าอยู่ในท่าเดียวนานๆ จะทำให้กระดูกอ่อนซึ่งโดยปกติจะมีเลือดไปเลี้ยงน้อยมากอยู่แล้ว จะยิ่งขาดสารอาหารและออกซิเจนมากขึ้น จึงควรเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ลุกขึ้นเดินไปมาอย่างน้อยทุก 1-2 ชั่วโมง หรือนั่งเหยียดขา เตะขาเบาๆ บริหารกล้ามเนื้อต้นขาร่วมด้วยเป็นพักๆ เป็นต้น

หลีกเลี่ยงการนั่งพื้นทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เลี้ยงเด็ก เตรียมอาหาร ทำการฝีมือ ทำงานบ้านต่างๆ เช่น การซักผ้า หลีกเลี่ยงการนั่งยองๆ ซัก ควรซักทีจำนวนน้อยชิ้น  นั่งซักบนม้าเตี้ยๆ และเหยียดเข่า 2 ข้าง หรือ นั่งเก้าอี้ หรือยืน หรือใช้เครื่องซักผ้า ส่วนการรีดผ้า หลีกเลี่ยงการนั่งพื้นรีดผ้า ควรใช้การนั่งเก้าอี้ หรือยืนรีด และมีม้าเตี้ยๆ มารองพักขาข้างหนึ่งไว้เพื่อช่วยพักกล้ามเนื้อขาและหลัง หลีกเลี่ยงการนั่งก้มถูพื้นบ้าน ทำความสะอาดห้องน้ำควรใช้ไม้ม็อบถูพื้นแทน

หากต้องไปวัด ฟังเทศน์ นั่งสมาธิ สวดมนต์ที่บ้าน อาจหลีกเลี่ยงโดยนั่งเก้าอี้ หรือขอบบันไดแทนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพข้อเข่า โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของสภาพร่างกายของแต่ละท่าน รวมถึงความรุนแรงของข้อเข่าเสื่อม และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขา จึงจะได้ประโยชน์และไม่เกิดผลเสียจากการออกกำลังกาย

การออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่มีภาวะเข่าเสื่อม

ผู้ที่ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ หรือ การออกกำลังเพื่อฝึกความทนทาน หรือแอโรบิค ด้วยความแรงระดับเบาถึงปานกลาง จะช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย ถ้าร่างกายมีการปรับตัว และฝึกฝนได้ดี ก็สามารถเคลื่อนไหวออกกำลังกายด้วยความแรงที่หนักขึ้น เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ และควรเลือกชนิดการออกก้าลังกายให้เหมาะสม เช่น ผู้ที่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถออกกำลังได้ หรือเคยมีอาการเจ็บปวดขณะออกกำลังกาย ควรเริ่มบริหารร่างกายจากท่าง่ายๆ จากน้อยไปหามาก บริหารท่าที่ไม่ทำให้เกิดอาการปวด ถ้าไม่สามารถออกกำลังวิธีใดๆ ได้ให้ใช้วิธีเดิน และถือว่าการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ เป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง งานที่สามารถทำเองได้ก็ควรทำเอง เป็นต้น

การเดินเร็วในผู้สูงอายุที่กล้ามเนื้อต้นขามีความแข็งแรงพอ แต่หากกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ควรเดินช้าๆ หรือเดินเท่าที่จำเป็น และเมื่อออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงขึ้นถึงระดับที่สามารถกระชับเข่าได้ดีแล้ว จึงค่อยๆ เริ่มเดินให้เร็วขึ้นได้ แม้แต่การปั่นจักรยาน ที่มีความสูงของอานนั่งให้สูงกว่าปกติเล็กน้อยหรือให้พอเหมาะ เพื่อลดการงอเข่าที่มากเกินไป หลีกเลี่ยง การปั่นจักรยานที่ตั้งระดับความสูงไม่เหมาะสม จะเพิ่มความบาดเจ็บให้กับข้อเข่าได้ เพราะมีการเสียดสีกันของข้อเข่า

การออกกำลังกายในน้ำเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่มีภาวะเข่าเสื่อม เพราะน้ำมีแรงพยุงตัวทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักน้อยลง จึงเหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดเข่าและมีน้ำหนักตัวมาก แรงหนืดของน้ำทำให้ต้องออกแรงมากขึ้นซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้ดี ส่วนอุณหภูมิของน้ำที่พอเหมาะประมาณ 25 องศาเซลเซียส จะให้ความสดชื่นแก่ร่างกาย ส่วนอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกับร่างกาย เช่น 35 องศาเซลเซียส จะช่วยลดปวด กล้ามเนื้อคลายตัวได้ดีในผู้ที่มีข้อตึง ยึดควรออกแรง หรือออกกำลังกายเป็นประจำพอประมาณ รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งไม่เกิน 30 นาทีต่อครั้ง ควรหยุดพักเป็นระยะหรือเปลี่ยนรูปแบบการออกกำลัง เพื่อมิให้ข้อต่ออยู่ในท่าทางซ้ำๆ กันนานเกินไป

ในผู้ที่มีปัญหาข้อเข่า ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องใช้การหมุนหรือการลงน้ำหนักในทิศทางต่างๆ มากๆ เช่น การวิ่งจ๊อกกิ้ง เทนนิส แบดมินตัน เวลาที่วิ่งตัวลอย น้ำหนักจะกระแทกลงที่ข้อเข่า ทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อเสียดสีกันรุนแรง ส่งผลให้ผิวกระดูกอ่อนเสียหาย สึกบางลงได้ การกระโดดเชือก หรือเต้นแอโรบิคบางท่าที่มีการกระโดดหรือบิดงอหัวเข่ามาก เพราะจะมีแรงกระทำต่อข้อเข่าสูงมากถึง 7-9 เท่าของน้ำหนักตัว

การออกกำลังกายแบบโยคะ พบว่า ทำให้ข้อเข่าหลวม กระดูกสันหลังหลวมจากการแอ่นอก กระดูกขบกันได้ การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วย และวิธีอื่นๆ ในรายที่ปวดมาก ควรพักข้อ ไม่เดินหรือเคลื่อนไหวข้อมากนัก การใช้อุปกรณ์พยุงข้อ หรือสนับเข่าอาจเลือกใช้ในผู้ที่มีปัญหาข้อเสื่อมที่เป็นมากแล้ว ซึ่งความมั่นคงของข้อลดลง เนื่องจากกล้ามเนื้อรอบข้อลีบลง รวมถึงเอ็นรอบข้อก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วย

อย่างไรก็ตามการใส่สนับเข่าอาจใส่พยุงข้อในระยะที่มีการเคลื่อนไหวหรือเดิน แต่หากใช้ต่อเนื่องยาวนาน กล้ามเนื้อโดยรอบข้อจะยิ่งลีบลงได้ ดังนั้นจ้าเป็นต้องมีการบริหารกล้ามเนื้อรอบข้ออย่างสม่้าเสมอ ต่อเนื่องร่วมด้วย การใช้อุปกรณ์ช่วยเดินหากเดินได้ไม่สะดวก เช่น ไม้เท้าหรือร่มที่มีความแข็งแรงโดยมีจุกยางอุดส่วนปลายร่มเพื่อกันลื่น จะช่วยในการพยุงตัวได้ดี ที่สำคัญช่วยลดแรงกดที่ข้อเข่าได้ถึงร้อยละ 25 โดยถือไม้เท้าด้านตรงข้ามกับเข่าที่ปวด

หากปวดเข่าทั้ง 2 ข้างให้ถือข้างที่ถนัด ประคบเย็น หรือประคบร้อน เพื่อลดความปวด อักเสบ บวมถ้าเข่าอักเสบ ร้อน แดง ช้ำ  หรือ บวมใน 24 ชั่วโมงแรก ควรใช้ความเย็นประคบ อาจใช้แผ่นเจลเย็น หรือน้ำแข็งใส่ถุงพลาสติก ห่อผ้าบางๆ ประคบบริเวณนั้นนาน 15-20 นาที ทำซ้ำวันละ 2-3 ครั้ง ควรระวังหากรู้สึกแสบผิว หรือปวดมาก ให้หยุดประคบทันที ถ้าปวดเข่า เมื่อย ตึงยึด หลังใช้งานข้อเข่า หรือเข่าบวมเกิน 24 ชั่วโมง ให้ประคบด้วยความร้อน เช่น ลูกประคบกระเป๋าน้ำร้อน ขวดใส่น้้าร้อนซึ่งเป็นความร้อนชื้นจะให้ผลในการคลายกล้ามเนื้อ

อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่าโรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทั้งทางด้านรูปร่างโครงสร้าง การทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมและอาจมีความเสื่อมรุนแรงขึ้น ดังนั้นแล้วควรป้องกันเอาไว้เสียตั้งแต่เนิ่นๆ ดีกว่าเป็นแล้วจะมาทำการรักษานะคะ ด้วยความปรารถนาดีกับผู้อ่านทุกท่านค่ะ!

ข้อมูลจาก: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

เทคนิคช่วยกล้ามเนื้อแข็งแรง ป้องกันการหกล้มในผู้สูงวัย!

นอนไม่หลับ ในผู้สูงวัย เกิดจากอะไร รับมืออย่างไรดี

นโยบายรองรับผู้สูงอายุ 4 มิติ เพื่อสุขภาวะที่ดี

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.